ปภ. คาดการณ์ปลายเดือนกรกฎาฯ อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลัน

ข่าวทั่วไป Monday July 4, 2005 14:18 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ก.ค.--ปภ.
นายสุนทร ริ้วเหลือง อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แจ้งเตือน ประชาชนที่อาศัยตอนบนของประเทศให้ระวังภาวะฝนทิ้งช่วงในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม และผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้ระวังพายุฝนฟ้าคะนองในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ ซึ่งจากการตรวจสอบสถานการณ์และสภาวะปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อลักษณะอากาศประเทศไทย พบว่า ในเดือนกรกฎาคม อยู่ในช่วงกลาง ฤดูฝน ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณฝนตกทั่วประเทศตลอดทั้งเดือน โดยในระยะครึ่งแรกของเดือน ร่องความกดอากาศต่ำจะเลื่อนจากภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขึ้นไปพาดผ่านประเทศจีนตอนใต้ ประกอบกับลมมรสุมตะวันตก เฉียงใต้ นำความชื้นจากมหาสมุทรอินเดียพัดเข้ามาปกคลุมทะเลอันดามัน อ่าวไทย และในทุกพื้นที่ของประเทศมีกำลังอ่อนลง ทำให้มีปริมาณฝนตกกระจายบริเวณทั่วประเทศไทยลดน้อยลงในระยะหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงขึ้นได้ในพื้นที่ตอนบนของประเทศ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตชลประทาน อาจทำให้เกษตรกรต้องขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในการปลูกข้าวนาปี สวนผลไม้ และพืชผักต่างๆ ส่วนการเกิดฟ้าป่า พบว่า ความชื้นของเชื้อเพลิงลดลง ดัชนีการเกิดไฟป่าจึงอยู่ในระดับต่ำถึงปานกลาง ซึ่งยังคงมีความเสี่ยงที่จะเกิดไฟป่าขึ้นได้ บริเวณพื้นที่ป่าไม้บนภูเขาและยอดดอยในภาคเหนือ และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นายสุนทร กล่าวต่อไปว่า สำหรับในระยะครึ่งหลังของเดือน ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งนำความชื้นจากมหาสมุทรอินเดีย จะพัดเข้ามาปกคลุมทะเลอันดามัน อ่าวไทยและในทุกพื้นที่ของประเทศมีกำลังแรงขึ้น และอาจมีพายุหมุนเขตร้อน (ไต้ฝุ่น โซนร้อน และดีเปรสชั่น) ก่อตัวขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตก ซึ่งจะเคลื่อนตัวผ่านประเทศเวียดนาม เข้าสู่พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคตะวันออก มีอิทธิพลทำให้ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ส่งผลทำให้มีฝนตกหนักมากขึ้น และมีพายุฝนฟ้าคะนองกระจายในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะชายฝั่งภาคตะวันออกและภาคใต้ อาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากขึ้นได้ในพื้นที่ เสี่ยงภัยและพื้นที่ราบลุ่มในทุกพื้นที่ของประเทศไทย และอาจเกิดดินถล่มขึ้นได้ในพื้นที่ใกล้ภูเขาสูงในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี มุกดาหาร นครพนม หนองคาย อุบลราชธานี กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี ตราด ปราจีนบุรี ชุมพร ระนอง ภูเก็ต พังงา สตูล และกระบี่ สำหรับทะเลในอ่าวไทยในช่วงที่มีฝนฟ้าคะนองกระจายจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 — 3 เมตร ซึ่งอาจทำให้เรือประมงและเรือท่องเที่ยวขนาดเล็กเกิดอับปางลงได้--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ