กรุงเทพฯ--27 เม.ย.--กรมการปกครอง
เมื่อเช้าวันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน 2541 อธิบดีกรมการปกครองได้ไปร่วมอภิปรายกับนักวิชาการและผู้ทรงคุณวุฒิในหัวข้อเรื่อง "แนวคิดที่เป็นสาระสำคัญของนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ" ซึ่งสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติจัดขึ้น ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดย ฯพณฯนายกรัฐมนตรีได้มากล่าวปาฐกถานำ "วิสัยทัศน์ด้านความมั่นคงแห่งชาติ" ด้วย
ผู้อภิปรายประกอบด้วย ศ.นพ.ประเวศ วะสี ศ.ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ดร.มารค ตามไท และนายประมวล รุจนเสรี อธิบดีกรมการปกครอง โดยมี นายพิชัย รัตนพล รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย
การอภิปรายในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสัมมนาเพื่อชี้แจงนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ.2541-2545) ซึ่งเชิญผู้แทนกระทรวง กรม รัฐวิสหากิจ ฝ่ายความมั่นคง ภาคเอกชน และนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรเข้าร่วมรับฟังด้วย
นายประมวล รุจนเสรี ได้รับมอบให้อภิปรายในแง่การปรับแนวคิด บทบาท วิธีทำงานของฝ่ายปกครอง ในการสนองความมั่นคงแห่งชาติ ได้กล่าวโดยสรุปว่า วิกฤตการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงครั้งนี้มีทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณธรรมจริยธรรม และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จนคนทั่วไปพากันตื่นตระหนก จึงต้องร่วมกันอดทน มีสติในการแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น
ปัญหาส่วนหนึ่งของสังคมขณะนี้ คือ ระบบราชการยังยึดติดกับกฎหมายระเบียบของหน่วยตนมากจนเกินไป รวมทั้งแต่ละหน่วยงานก็ค่อนข้างเป็นเอกเทศ ยังหันหน้าเข้ามาร่วมกันแก้ปัญหาต่างๆ น้อยจึงอยากให้หันมาร่วมมือร่วมใจกันทำงานเช่นเดียวกับการถวายการรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือโครงการพระราชดำริที่ทุกคน "อาสา" ทำ มีความเต็มใจที่จะร่วมทำถวายพระองค์ท่าน
กรมการปกครองในภาวะปัจจุบัน ได้ปรับเปลี่ยนวิธีคิดวิธีทำงานและบทบาทไปจากเดิมมากได้พยายามสร้าง Good Govemance ให้มีขึ้น ทั้งในระบบบริหารของกรมในการบริการภูมิภาคให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และการเปลี่ยนแปลง และตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ งานด้านท้องถิ่นจะต้องแยกการบริหารออกเป็นหน่วยงานต่างหาก ในส่วนของกรมการปกครองที่เป็นอยู่คงต้องเปลี่ยนสถานภาพไปอีก ต้องปรับบทบาทไปดูแลท้องที่ ชุมชน ประชาคม ชื่อของกรม อาจจะเปลี่ยนไปให้สอดคล้องกับยุคสมัย เช่นอาจจะใช้ว่า "กรมส่งเสริมประชาคม" เป็นต้น รวมทั้งการพยายามให้นายอำเภอ ซึ่งเป็นบุคลากรหลักของกรมการปกครองในภูมิภาค เป็นนักบริหารการจัดการในแนวใหม่ มีลักษณะเป็นทั้งผู้ส่งเสริม (Promotor), ผู้ประสานงานอำนวยความสะดวก (Facilitator) และผู้กระตุ้น (Catalyst) โดยมีแนวทางปฏิบัติดังที่ปรากฎใน "คู่มือนายอำเภอยุคใหม่" ที่แจกจ่ายไปยังทุกจังหวัด/อำเภอ แล้ว และได้แจกในที่ประชุมสัมมนาครั้งนี้ด้วย--จบ--