กรุงเทพฯ--8 ม.ค.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
“การให้บริการทางวิชาการถือเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่งของสถาบันการศึกษา ซึ่งสาขาวิชาการตลาดเองได้เล็งเห็นความสำคัญในส่วนนี้ จึงจัดให้มีการพัฒนาความรู้ด้านบริหารธุรกิจแก่ผู้ประกอบการและชุมชนต่างๆ อยู่เสมอ เช่น การอบรมการเขียนแผนการตลาด ซึ่งนอกจากจะเป็นการให้บริการทางวิชาการแก่สังคมตรงตามภารกิจแล้ว ทางสาขาวิชาเองยังสามารถนำองค์ความรู้ได้ที่จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเราและผู้ประกอบการ มาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่นักศึกษาได้อีกด้วย จัดว่ายังประโยชน์ทั้งสองฝ่ายในลักษณะ win-win” หลักการและแนวความคิดในการบูรณาการการเรียนการสอนของ อาจารย์สลิตตา สาริบุตร อาจารย์ประจำสาขาวิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ซึ่งได้นำมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนวิชากลยุทธ์การตลาดและการวางแผน จนประสบความสำเร็จ คว้ารางวัล Good Practice ด้านการเรียนการสอนกับการบริการทางวิชาการ ในการแข่งขันทักษะทางวิชาการ ด้านบริหารธุรกิจของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั่วประเทศ
อาจารย์สลิตตา เล่าว่า สาเหตุที่เลือกการให้บริการทางวิชาการด้านการจัดทำแผนการตลาดมาบูรณาการกับการเรียนการสอนในรายวิชากลยุทธ์การตลาดและการวางแผน เนื่องจากจุดมุ่งหมายรายวิชาของวิชานี้ คือ นอกจากนักศึกษาจะต้องมีพื้นฐานความรู้ด้านการตลาดเป็นอย่างดีแล้ว นักศึกษาจะต้องสามารถจัดทำแผนการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงวิเคราะห์และเลือกใช้กลยุทธ์เพื่อแก้ปัญหาทางธุรกิจได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย ซึ่งการนำเอาองค์ความรู้ที่ได้จากการให้บริการทางวิชาการด้านการเขียนแผนการตลาดแก่ผู้ประกอบการมาประยุกต์เข้ากับรายวิชานี้ จะยังประโยชน์ให้แก่นักศึกษาผู้เรียนได้มาก ทั้งในแง่ของประสบการณ์จากผู้เข้าอบรม ประเด็นปัญหาจริงที่ผู้ประกอบการประสบ และวิธีการแก้ปัญหาที่เกิดจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน
การเรียนการสอนจะวางแผนเป็นขั้นตอนทั้งหมด 4 ขั้นตอน ตามหลัก PDCA โดยแต่ละขั้นตอนเน้นให้นักศึกษาปฏิบัติจริง โดยเริ่มจาก ขั้นตอนที่ 1 การวางแผน (Plan) วางแผนการจัดอบรมด้านการเขียนแผนการตลาด รวบรวมเนื้อหาจากการอบรม วิเคราะห์และนำองค์ความรู้ที่ได้ นำมาให้ความรู้เพิ่มเติมแก่นักศึกษาในรายวิชากลยุทธ์การตลาดและการวางแผน กำหนดแผนงานให้นักศึกษา เพื่อให้เกิดการบูรณาการองค์ความรู้สู่ชุมชน และเนื่องจากต้องการให้แผนธุรกิจที่นักศึกษาจัดทำขึ้น มีคุณภาพเป็นที่น่าเชื่อถือในระดับประเทศ จึงบังคับให้นักศึกษาทุกคนต้องส่งแผนเข้าประกวดในเวทีระดับประเทศ เช่น BrandAge Award , กรุงไทยต้นกล้าสีขาว
ขั้นตอนที่ 2 การดำเนินงาน (Do) จัดทำเอกสารเพื่อให้ความรู้แก่นักศึกษาในรายวิชากลยุทธ์การตลาดและการวางแผน อบรมให้ความรู้แก่นักศึกษา ให้นักศึกษาลงพื้นที่ชุมชนเพื่อค้นหาปัญหาของผู้ประกอบการและดำเนินการวางแผนแก้ปัญหา เลือกเน้นให้นักศึกษาเลือกชุมชนที่ใกล้มหาวิทยาลัยฯ เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างยั่งยืนที่สุด เมื่อได้ลงพื้นที่แล้วจากนั้นนักศึกษาจัดทำแผนการตลาดเพื่อส่งเข้าประกวดในเวทีระดับประเทศ
ขั้นตอนที่ 3 การตรวจสอบ (Check) ตรวจสอบจำนวนแผนการตลาดที่นักศึกษาส่งเข้าประกวด เพื่อประเมินความคิดเห็นของนักศึกษาในชั้นเรียน ขั้นตอนที่ 4 การปรับปรุงแก้ไข (Act) นำเสนอผลสัมฤทธิ์ในที่ประชุมคณะ เพื่อหาข้อเสนอแนะที่ได้ไปปรับปรุงในปีต่อไป จากนั้นทำการเผยแพร่องค์ความรู้สู่ชุมชน ผ่าน KM Blog ของทางมหาวิทยาลัย
ยกตัวอย่างผลงานของนักศึกษาที่ได้เรียนวิชานี้ และรับรางวัลในระดับประเทศ เช่น “โครงการแผนพัฒนาธุรกิจขนมหม้อแกงถ้วยทองสูตรโบราณ” กลุ่มแม่บ้านขนมไทยศูนย์ OTOP คลองสาม จ.ปทุมธานี ของนักศึกษา RMUTT 33 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศระดับภูมิภาค (ภาคกลาง) One-2-Call! BrandAge Award โครงการประกวดแผนพัฒนาธุรกิจ (ปีที่5)
โดยรูปแบบในการดำเนินงานของนักศึกษาเองยังคงยึดหลัก PDCA ขั้นที่ 1. การวางแผน (Plan) ตั้งโจทย์ว่าสาเหตุขนมไทยได้รับความนิยมลดน้อยลง จากการสอบถามข้อมูลพบว่าชุมชนอยากได้ขนมที่มีความทันสมัย แต่อยากให้คงเอกลักษณ์ความเป็นขนมหม้อแกงถั่วสูตรโบราณไว้ เนื่องจากเป็นสูตรอันเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิมของชาวมอญ ขั้นตอนที่ 2 การดำเนินงาน (Do) คิดค้นผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของชุม และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดผู้บริโภค ทางกลุ่มจึงได้นำเสนอ “ขนมหม้อแกงถั่วถ้วยทองสูตรโบราณ”
โดยขนมหม้อแกงถั่วถ้วยทองสูตรโบราณ ขนมไทยประยุกต์ที่นำแป้งอเนกประสงค์มาดัดแปลงให้เป็นถ้วยบรรจุขนมหม้อแกงที่รับประทานได้พร้อมกับตัวขนมหม้อแกง ซึ่งหม้อแกงถั่วเป็นสูตรโบราณของกลุ่มแม่บ้านซึ่งจะมีความอร่อย กลมกล่อม แตกต่างจากขนมหม้อแกงไข่เนื่องจากเน้นส่วนผสมของถั่วเป็นหลัก ไม่ใช้ไข่แดงจึงมีปริมาณแคลอรี่ต่ำ ส่วนตัวแป้งพายมีรสเค็มเล็กน้อยมีกลิ่นหอมของเนยสดและกลิ่นหอมของแป้งอบอย่างเบเกอร์รี่ซึ่งผสมผสานกันอย่างลงตัว เป็นการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในด้านความสะดวกในการรับประทานที่สามารถทานได้ง่าย สะดวกกว่าแบบถาดหม้อแกงขนาดเล็ก รวมถึงยังเป็นการลดการใช้ถาดหม้อแกงซึ่งปัจจุบันมีราคาที่ค่อนข้างสูง แต่สามารถใช้แป้งอเนกประสงค์ทดแทนซึ่งมีราคาที่ต่ำกว่า สามารถขยายกลุ่มลูกค้าไปสู่กลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มวัยรุ่น หรือเป็นขนมเบรคระหว่างประชุม หลังจากนั้นมีการทำ จัดทำ fanpage ให้กลุ่มแม่บ้านเพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ผลิต และผู้บริโภค
ขั้นที่ 3 การตรวจสอบ (Check) นำเสนอต่อชุมชน ร่วมกันนำเสนอข้อคิดเห็น พัฒนาตัวผลิตภัณฑ์ และให้ลูกค้าได้ทดลองชิม พร้อมรับฟังความคิดเห็นจากลุ่มลูกค้า ขั้นที่ 4 การปรับปรุงแก้ไข (Act) ปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ ให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น ตามข้อคิดเห็น จากนั้นนำความรู้ที่ได้มาเผยแพร่ผ่านทาง KM ของมหาวิทยาลัย
“จริงๆ แล้วทางภาควิชาไม่ได้มุ่งเน้นว่านักศึกษาจะต้องได้รางวัลในระดับประเทศ แต่ที่พยายามผลักดันให้ส่งผลงานเข้าประกวดในเวทีระดับประเทศนั้น ก็เพื่อให้นักศึกษามีความตั้งใจในการทำงาน ได้เรียนรู้ผลงานจากเพื่อนมหาวิทยาลัยอื่นๆ และที่สำคัญข้อเสนอแนะที่ได้รับเป็นข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิระดับประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ตัวนักศึกษาเองในอนาคต และที่สำคัญการได้ลงพื้นที่จริง พบเจอปัญหาจริงๆ และร่วมมือกันระหว่างนักศึกษาและชุมชนเพื่อแก้ปัญหาจริงๆ ภายใต้การให้คำปรึกษาของอาจารย์ผู้สอน ซึ่งจะคอยดูอยู่ห่างๆ ล้วนเป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้ในชั้นเรียน ซึ่งตัวนักศึกษาเองจะเกิดความภาคภูมิใจ และผูกพันกับชุมชนรอบๆ มหาวิทยาลัยฯ และเกิดการสร้างความสัมพันธ์อย่างเข้มแข็งและยั่งยืนระหว่างชุมชนและมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผู้สอนเองมีความเชื่อว่าครูอาจจะไม่ใช่ lecturer ผู้รู้ทุกเรื่อง แต่ครูจะต้องเป็น facilitator ที่สามารถสร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้ที่ดีที่สุดให้แก่นักศึกษา ” อ.สลิตตา กล่าวทิ้งท้าย