สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 6-10 ม.ค. 57 และแนวโน้มในสัปดาห์ที่ 13-17 ม.ค. 57

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 14, 2014 08:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ม.ค.--ปตท. ฝ่ายกลยุทธ์และแผนธุรกิจ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานสรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ล่าสุดเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ปรับตัวลดลง 2.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 106.97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล, น้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 4.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอยู่ที่ 92.76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 3.29 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 104.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ด้านราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 ลดลง 3.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 117.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่น้ำมันดีเซลลดลง 3.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 121.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ - ท่าส่งออกน้ำมัน Zawiya (230,000 บาร์เรลต่อวัน) ทางตะวันตกของลิเบียจะกลับมาส่งออกน้ำมันดิบได้ภายในสัปดาห์นี้ หลังจากแหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Sharara (340,000 บาร์เรลต่อวัน) กลับมาดำเนินการผลิตได้ล่าสุดประมาณ 300,000 บาร์เรลต่อวัน หลังจากต้องหยุดส่งออกร่วม 2 เดือน - โรงกลั่นในสหรัฐฯ และแคนาดามากกว่า 5 แห่งปิดดำเนินการเนื่องจากปัญหาสภาวะอากาศที่หนาวเย็น อุณหภูมิต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี ทำให้ระบบการทำงานของโรงกลั่นขัดข้อง - Markit Economics / HSBC รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (HSBC Service Purchasing Manager’s Index) ของจีน เดือน ธ.ค. 57 ลดลง 1.6 จุด จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 50.9 จุด บ่งชี้เศรษฐกิจจีนยังคงอ่อนตัว ปัจจัยที่ผลกระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก - ปัญหาแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Buzzard (200,000 บาร์เรลต่อวัน) ในย่านทะเลเหนือ หนึ่งในสายการผลิตน้ำมัน Forties ที่ใช้ในการประเมินราคาน้ำมันดิบ Brent ซึ่งเป็นน้ำมันดิบที่ใช้อ้างอิงราคาน้ำมันดิบอื่นๆทั่วโลก มีปัญหาติดต่อกันเป็นครั้งที่ 2 ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราการผลิตน้ำมันดิบจากแหล่งดังกล่าวลดลง - รัฐบาลอิรักกล่าวเตือนรัฐบาลท้องถิ่น Kurdistan ในพื้นที่ปกครองพิเศษในการส่งออกน้ำมันดิบโดยไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐบาล ทั้งนี้ Kurdistan มีแผนเปิดดำเนินการท่อขนส่งน้ำมันดิบไปยังตุรกี ซึ่งคาดว่าจะเริ่มในเดือน ม.ค. 57 เพิ่มความตึงเครียดระหว่างทั้งสองฝ่าย - EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 3 ม.ค. 57 ลดลง 2.7 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 357.9 ล้านบาร์เรล ซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 6 ลดลงรวม 6 สัปดาห์ 33.5 ล้านบาร์เรล เป็นการลดลงรวม 6 สัปดาห์ที่มากที่สุดในรอบ 23 ปี แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ในสัปดาห์นี้ราคาน้ำมันดิบมีความผันผวนสูงและอาจจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากแรงสนับสนุนปัญหาแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Buzzard (200,000 บาร์เรลต่อวัน) ในย่านทะเลเหนือ หนึ่งในสายการผลิตน้ำมัน Forties ที่ใช้ในการประเมินราคาน้ำมันดิบ Brent มีปัญหาติดต่อกันเป็นครั้งที่ 2 ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราการผลิตน้ำมันดิบจากแหล่งดังกล่าวลดลง นอกจากนั้นบริษัทที่ปรึกษา Wood Mackenzie กล่าวว่าการลงทุนสำหรับแหล่งผลิตน้ำมันดิบและก๊าซในย่านทะเลเหนือจะลดลงและอาจจะหยุดในปี 58 เนื่องจากอัตราการผลิตที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ขาดการสำรวจสำหรับแหล่งลงทุนใหม่ พร้อมกับอายุของแท่นผลิตที่มาก ส่งผลให้ยากต่อการคงอัตราการผลิต ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อน้ำมันดิบ Brent ที่ใช้อ้างอิงราคาน้ำมันดิบส่วนใหญ่ในโลก ทั้งนี้ความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลอิรักกับรัฐบาลท้องถิ่นในเขตปกครองพิเศษ Kurdistan เพิ่มมากขึ้น โดยรัฐบาลอิรักกล่าวเตือนและแสดงความไม่พอใจที่รัฐบาล Kurdistan มีแผนเปิดดำเนินการท่อส่งออกน้ำมันดิบไปยังตุรกีภายในเดือน ม.ค. นี้ ก่อนที่อัตราการส่งออกจะเพิ่มเป็น 2 ล้านบาร์เรล ในเดือน ก.พ. 57 และ 4 ล้านบาร์เรล ในเดือน มี.ค. 57 และมีแผนจะเพิ่มขึ้นถึง 10-12 ล้านบาร์เรล ในเดือน ธ.ค. 57 ทางด้านรัฐบาลอิรักแสดงความไม่พอใจ และกล่าวว่าเป็นการผิดสัญญาที่ตกลงกันไว้ก่อนหน้า พร้อมขู่จะลดงบประมาณและการช่วยเหลือแก่ภูมิภาคดังกล่าว ด้านกลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับลดสัญญาซื้อสุทธิ (Net long positions) ของน้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขาย Nymex ในสหรัฐฯ และ ICE ในลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 ม.ค. 57 ลดลง 29,039 สัญญาจากสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 298,370 สัญญา ให้จับตามองการเจรจาระหว่างประเทศรัสเซียและอิหร่าน โดยอิหร่านจะส่งออกน้ำมันดิบปริมาณ 500,000 บาร์เรล ให้แก่รัสเซียเพื่อแลกเปลี่ยนกับสินค้าจากรัสเซีย หรือคิดเป็นมูลค่าทางการค้า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน หากการเจรจาสำเร็จ อิหร่านจะสามารถเพิ่มการส่งออกน้ำมันดิบของประเทศได้ 50% จากระดับในปัจจุบัน ทางเทคนิคในสัปดาห์นี้น้ำมันดิบ Brent, WTI และ Dubai มีแนวรับแนวต้านทางเทคนิคอยู่ที่ 106.35-108.81, 91.24-93.48 และ103.6 – 106.06 เหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ตามลำดับ สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 ม.ค. 57 เพิ่มขึ้น 1.96 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 12.78 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้ความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงเนื่องจากสภาวะภูมิอากาศที่หนาวเย็นส่งผลให้ธุรกิจหลายแห่งต้องปิดดำเนินการชั่วคราว ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 จะเคลื่อนไหวในกรอบ 117.45- 120.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล ปริมาณสำรองทั่วโลกส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น อาทิ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates ของสิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 2.05 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 10.07 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 14 สัปดาห์ กอปรกับปริมาณการส่งออกของซาอุดีอาระเบียมาสู่สิงคโปร์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากความต้องการใช้ภายในประเทศลดลงในช่วงฤดูหนาว สัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวในกรอบ 121.08 – 124.00 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ