อย.เตือนอันตราย จากการซื้อเครื่องมือแพทย์ใช้ด้วยตนเอง

ข่าวทั่วไป Monday December 22, 1997 19:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--22 ธ.ค.--อย.
อย. เตือนอันตรายจากการซื้อเครื่องมือแพทย์ใช้ด้วยตนเอง โดยผ่านสื่อต่าง ๆ ซึ่งมักจะโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง เมื่อผู้บริโภคหลงเชื่อและซื้อหามาใช้ด้วยตนเอง โดยขาดความรู้ความเข้าใจ นอกจากจะเสียเงินโดยไม่จำเป็นแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้
นพ.บรรพต ต้นธีรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่าในปัจจุบันมีการจำหน่ายเครื่องมือแพทย์กันมากมายหลายประเภท สามารถหาซื้อได้ทั่วไปรวมถึงเครื่องมือแพทย์ที่ผู้ป่วยสามารถนำติดตัวไปตรวจและบำบัดโรคที่บ้านได้ เช่น เครื่องวัดความดันโลหิต เครื่องนวดกระแสไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์แม่เหล็กสุขภาพ เครื่องออกกำลังกายโดยการแกว่งขา เป็นต้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตระหนักถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้น หากผู้บริโภคนำเครื่องมือแพทย์มาใช้ด้วยตนเองโดยไม่ถูกต้อง หรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ในขณะเดียวกันเพื่อให้การควบคุมเป็นสากลตามระดับ ความเสี่ยงของผู้ใช้ จึงได้แบ่งการควบคุมออกเป็น 3 ระดับ คือ 1. ระดับที่เสี่ยงมากจะจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ต้องได้รับใบอนุญาตจาก อย. ก่อน จึงจะสามารถประกอบธุรกิจได้ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การนำเข้าจากต่างประเทศ หรือการขายเครื่องมือแพทย์ก็ตาม ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ได้แก่ ถุงยางอนามัย ถุงมือยางสำหรับการตรวจโรค ถุงมือยางสำหรับการศัลยกรรม เป็นต้น 2. เครื่องมือแพทย์มีระดับความเสี่ยงต่อผู้ใช้ปานกลาง จะต้องแจ้งรายละเอียด และมีข้อกำหนดต่างๆ ของเครื่องมือแพทย์ที่จะควบคุม เช่น อุปกรณ์เครื่องใช้เพื่อกายภาพบำบัด 3. เครื่องมือแพทย์ทั่วไปซึ่งมีระดับความเสี่ยงต่อผู้ใช้น้อย ได้แก่ เครื่องมือแพทย์ทั้งหมดที่อยู่นอกเหนือจาก 2. ประเภทข้างต้น เช่น เตียงผู้ป่วย ผ้าพันแผล เป็นต้น เครื่องมือแพทย์ทั่วไปนี้ก่อนที่นำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยได้ จะต้องนำหนังสือรับรองการขาย (Certificate of Free Sale) ของผลิตภัณฑ์ ที่จะนำเข้าจากประเทศผู้ผลิต มาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องและเมื่อมีการนำเข้าเครื่องมือแพทย์ดังกล่าวจะต้องแสดงหนังสือรับรองการขายที่ผ่านการตรวจสอบแล้วต่อเจ้าหน้าที่ ณ ด่านศุลกากร นอกจากนี้ ก่อนที่จะทำการโฆษณา เครื่องมือแพทย์ทุกชนิด ทุกประเภท จะต้องขออนุญาตโฆษณาก่อนดำเนินการได้
เครื่องมือแพทย์ดังที่กล่าวมาแล้ว หากไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่มีประสิทธิภาพหรือความแม่นยำเพียงพอ อาจทำให้การวินิจฉัยหรือการรักษาของแพทย์ไม่ได้ผล และยังอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์ หรือเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ นอกจากนี้เครื่องมือแพทย์บางชนิด ยังมีข้อควรระวังในการใช้กับผู้ป่วยที่มีภาวะบางอย่าง ดังนั้น ก่อนการใช้เครื่องมือแพทย์บางชนิด จึงควรแน่ใจว่ามีความรู้ความเข้าใจในวิธีการใช้และวัตถุประสงค์การใช้ตลอดจนมั่นใจประสิทธิภาพของเครื่องมือแพทย์นั้น โดยดูเครื่องหมาย อย. สำหรับเครื่องมือแพทย์ที่มีความเสี่ยงสูงและปานกลาง กรณีที่ไม่แน่ใจหรือมีข้อสงสัยประการใด ให้สอบถามที่กองควบคุมเครื่องมือแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โทร. 590-7243-48 หรือหากผู้ใดพบเห็นการโฆษณาที่เป็นเท็จเกินจริงโอ้อวด สามารถร้องเรียน ได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 590-7354-5 หรือผ่านสายด่วนผู้บริโภค ซึ่งเป็นระบบอัตโนมัติ 24 ชั่วโมง ที่หมายเลข 202-9333 และกดต่อ 005 เพื่อที่ อย. จะได้ดำเนินการกับผู้กระทำผิดต่อไป รองเลขาธิการฯ กล่าวในที่สุด--จบ--

แท็ก อย.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ