กรุงเทพฯ--14 ม.ค.--บีโอไอ
บีโอไอเผยตัวเลขขอรับส่งเสริมการลงทุนปี 2556 เหนือความคาดหมาย มูลค่าลงทุนทะลุ 1 ล้านล้านบาท หลังกลุ่มพลังงานแห่ยื่นขอรับส่งเสริมก่อนสิ้นปี ญี่ปุ่นยังครองแชมป์ลงทุนสูงสุด เผยเตรียมแผน ชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศปี 2557 เดินหน้าดึง 9 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เน้นชักจูงการลงทุนกลุ่มสร้างมูลค่าเพิ่มสูง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงภาพรวมการลงทุนตลอดปี 2556 ที่ผ่านมา (มกราคม-ธันวาคม 2556) ว่า มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 2,237 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 1,110,400 ล้านบาท ก่อให้เกิดการจ้างงานรวมทั้งสิ้น 207,463 คน
กิจการที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มนักลงทุนสูงสุดตลอดทั้งปี 2556 คือ กิจการบริการและสาธารณูปโภค จำนวน 849 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 522,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา รองมาเป็นกิจการในกลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง จำนวน 448 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 254,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
กิจการหมวดเกษตรกรรม และผลิตผลจากการเกษตร จำนวน 362 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 122,700 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 38 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา กิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า จำนวน 285 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 101,900 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 39 จากปีที่ผ่านมา กิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี กระดาษ และพลาสติก จำนวน 174 โครงการ มูลค่ารวม 49,200 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 72 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา กิจการกลุ่มเหมืองแร่ เซรามิกส์ และโลหะขั้นมูลฐาน จำนวน 40 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 43,700 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา และกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมเบา จำนวน 79 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 15,800 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
สำหรับรูปแบบการลงทุนจะกระจายในขนาดกิจการต่างๆ โดยกิจการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่ามากกว่า 1,000 ล้านบาท มีจำนวนทั้งสิ้น 173 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 767,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าลงทุนมากถึงร้อยละ 69 ของมูลค่าเงินลงทุนทั้งหมด
นายอุดม กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพรวมโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ในปี 2556 มีจำนวน 1,132 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 524,768 ล้านบาท โดยจำนวนโครงการปรับลดลงร้อยละ 28.5 จากปี 2555 ที่มีจำนวน 1,584 โครงการ ขณะที่มูลค่าเงินลงทุนลดลงร้อยละ 19 จากปี 2555 ที่มีมูลค่าอยู่ที่ 647,974 ล้านบาท
ประเทศญี่ปุ่นยังคงเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนสูงสุด จำนวน 562 โครงการ เงินลงทุนรวม 282,848 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 54 ของมูลค่าลงทุนจากต่างประเทศทั้งสิ้น โดยการลงทุนจากญี่ปุ่นส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มกิจการผลิตผลิตภัณฑ์โลหะ และกิจการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน
รองลงมาเป็นการลงทุนจากจีน จำนวน 45 โครงการ มูลค่าการลงทุน 42,530 ล้านบาท มาเลเซีย จำนวน 35 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 29,190 ล้านบาท สิงคโปร์ จำนวน 93 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 22,781 ล้านบาท และฮ่องกง จำนวน 39 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 20,181 ล้านบาท
ยอดขอลงทุนเดือนธันวาคมส่งผลทะลุ 1 ล้านล้านบาท
นายอุดม กล่าวว่า ภาพรวมการลงทุนในปี 2556 ถือว่าน่าพอใจ แม้จะลดลงจากปี 2555 ที่มีจำนวน 2,347 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 1,182,000 ล้านบาท หรือลดลงทั้งจำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุนประมาณร้อยละ 5-6 แต่นับว่ามีมูลค่าการลงทุนที่เกินกว่า 1 ล้านล้านบาท และสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ประมาณ 900,000 ล้านบาท โดยปัจจัยหลักมาจากการสิ้นสุดนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งต่ออายุมาตั้งแต่ปี 2555 และหมดอายุอีกครั้งในสิ้นเดือนธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา ส่งผลให้นักลงทุนเร่งยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนภายใต้มาตรการดังกล่าว
“การยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนเฉพาะเดือนธันวาคมเดือนเดียวมีจำนวนคำขอรับส่งเสริมการลงทุนเข้ามาถึง 554 โครงการ มูลค่าลงทุนประมาณ 270,300 ล้านบาท โดยเฉพาะช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนซึ่งมีกิจการขนาดใหญ่ เช่น กิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าชธรรมชาติและพลังงานหมุนเวียน กิจการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ กิจการผลิตฮาร์ดดิสไดรฟ์และชิ้นส่วน เป็นต้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ยอดคำขอรับส่งเสริมการลงทุนปี 2556 ทะลุเป้าหมายที่ตั้งไว้” นายอุดมกล่าว
สำหรับปัจจัยเชิงบวกที่มีต่อการลงทุนในปี 2557 ได้แก่ ความสนใจลงทุนในไทยจากญี่ปุ่นยังมีอย่างต่อเนื่อง และอุตสาหกรรมหลักในไทยยังมีการลงทุนสูง ส่วนหนึ่งเป็นการลงทุนเพื่อเตรียมรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เช่น ยานยนต์ รวมทั้งอีโคคาร์ รุ่นที่ 2 พลังงานทดแทน การขนส่งทางอากาศ แปรรูปเกษตร นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว การส่งออกเริ่มดีขึ้น ขณะที่อัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่จะสิ้นสุดในปี 2557 จะช่วยเร่งรัดให้เกิดการลงทุน ได้แก่ มาตรการส่งเสริมกิจการเอสเอ็มอี มาตรการส่งเสริมอีโคคาร์รุ่นที่ 2
ขณะที่ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนในปีนี้ ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองที่หากเกิดความยืดเยื้อจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนโดยเฉพาะรายใหม่ๆที่ไม่เคยลงทุนในไทย นอกจากนี้ ความล่าช้าของโครงการเมกะโปรเจ็กต์และโครงการบริหารจัดการน้ำ ส่งผลให้นักลงทุนที่เตรียมลงทุนในโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับทั้งสองโครงการต้องชะลอออกไป
เดินหน้าดึงการลงทุนกลุ่มสร้างมูลค่าเพิ่มสูง
และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นายอุดม กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับทิศทางการส่งเสริมการลงทุนในปี 2557 จะต้องติดตามปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบทั้งด้านภาวะเศรษฐกิจโลก สถานการณ์ทางการเมือง ทั้งนี้ บีโอไอ จะเดินหน้าปรับยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนเพื่อรองรับการเติบโต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยมีอุตสาหกรรมหรือกิจการที่เป็นเป้าหมายชักจูงการลงทุนจากต่างประเทศแบ่งเป็น 9 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ เกษตรแปรรูป ยานยนต์และชิ้นส่วนที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต
กลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์และชิ้นส่วน อุตสาหกรรมเครื่องจักรและอุปกรณ์ อุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ เช่น ซอฟต์แวร์ และแอนิเมชั่น ศูนย์การออกแบบ อุตสาหกรรมบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น ศูนย์ปฎิบัติการภูมิภาค (ROH) กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน กลุ่มอุตสาหกรรมไบโอเทค และนาโนเทค ไบโอพลาสติก และอุตสาหกรรมด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การบำบัดของเสีย การนำวัสดุที่ไม่ต้องการใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น
นอกจากนี้จะเร่งเดินหน้าสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ในรูปแบบของการจัดกิจกรรมต่างๆ มุ่งเน้นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ การปรับยุทธศาสตร์ใหม่ของบีโอไอ เพื่อให้ข้อมูล และสร้างความเข้าใจแก่นักลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุนหลักที่ลงทุนในไทยมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี และจีน เป็นต้น ขณะที่กลุ่มประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นนักลงทุนกลุ่มหลักอีกกลุ่มหนึ่ง จะเน้นดำเนินการในรูปแบบของการเจาะกลุ่มเป้าหมายรายบริษัทเป็นหลัก