กรุงเทพฯ--16 ม.ค.--กันตนา กรุ๊ป
กันตนา ปรับกลยุทธ์ธุรกิจ รับยุคดิจิตอลทีวี พลิกโฉมสู่การเป็นคอนเทนต์โพรไวเดอร์เต็มรูปแบบ ยกทัพลิขสิทธิ์รายการชื่อดังระดับโลก สร้างสรรค์รูปแบบรายการใหม่พร้อมเสิร์ฟ แนะเจ้าของช่องเร่งผลิตรายการเรตติ้งสูง ดึงงบโฆษณา
สายงานโทรทัศน์ บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้นำนวัตกรรมบันเทิงทันสมัยในระบบดิจิตอล ปรับรูปแบบธุรกิจครั้งยิ่งใหญ่ สู่การเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ (Content provider) อย่างเต็มรูปแบบ สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของวงการโทรทัศน์ไทยที่จะพลิกโฉมสู่ดิจิตอลทีวี โดยแบ่งโปรดักส์ออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ อินเตอร์เนชั่นแนลคอนเทนต์ (International Content) โลคัลคอนเทนต์ (Local Content) และทีวีดาวเทียม (Satellite TV)
นายจาฤก กัลย์จาฤก ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การวางตำแหน่งทางธุรกิจของกันตนาให้เป็นคอนเทนต์โพรไวเดอร์ เกิดขึ้นจากการเล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจที่มาพร้อมกับดิจิตอลทีวี บวกกับจุดแข็งของกันตนา ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการผลิตรายการ และละครให้กับช่องต่างๆ มาโดยตลอด อีกทั้งชื่อเสียงของกันตนาก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ได้ครอบครองลิขสิทธิ์รายการต่างๆ ในระดับโลกด้วย
“เมื่อดิจิตอลทีวีเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ ช่องฟรีทีวีจะมีเพิ่มมากถึง 24 ช่อง ทำให้ความต้องการคอนเทนต์มีเพิ่มมากขึ้นด้วย กันตนาจึงเตรียมรูปแบบรายการและซีรีส์ต่างๆ ไว้มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มอินเตอร์เนชั่นแนลคอนเทนต์ ที่ได้ลิขสิทธิ์รูปแบบรายการและซีรีส์ (Format) ชื่อดังระดับโลกหลายรายการมาเป็นที่เรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็นกอสสิปเกิร์ล (Gossip Girl) อั๊กลี่เบตตี้ (UGLY Betty) เดอะเฟซ (The Face) ด้อนท์ลูสเดอะมันนี่ (Don’t Lose the Money) เดอะเทสท์ (The Taste) สไลด์โชว์ (Slide Show) ไทยแลนด์ไอดอล (Thailand Idol) ซึ่งคอนเทนต์ฟอร์แมตเหล่านี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในต่างประเทศ และเชื่อมั่นว่า เมื่อนำมาผลิตในเวอร์ชั่นไทยก็จะได้รับความนิยมสูงเช่นกัน
ในกลุ่มโลคัลคอนเทนต์ ทางกันตนามีทีมงานผู้เชี่ยวชาญออกแบบและสร้างสรรค์รูปแบบรายการใหม่ๆ หลายแบบ หลายสไตล์ ให้สามารถเลือกไปผลิตเพื่อออกอากาศตามสถานีต่างๆ ได้ เช่น รายการมนุษย์ประหลาดชาติไทย รายการราชินีพริตตี้เงินล้าน หรือแม้กระทั่งรายการเรตติ้งสูงในช่องทีวีดาวเทียมของกันตนา ก็มีโอกาสที่จะย้ายไปออกอากาศในช่องฟรีทีวีด้วย หากมีผู้สนใจ
ส่วนการรับผลิตรายการตามความต้องการของสถานี ยังคงดำเนินงานตามปกติ ซึ่งในส่วนนี้คาดว่าจะมีการเติบโตขึ้นอีกเช่นกัน เนื่องจากความพร้อมของบุคลากรและเครื่องมือของกันตนา ที่สามารถรองรับการผลิตได้ทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการผลิตคุณภาพสูง (Hi-definition)
การเป็นคอนเทนต์โพรไวเดอร์ ทำให้เราต้องพร้อมที่จะสร้างสรรค์และผลิตรายการให้ได้ตามความต้องการของทุกช่อง ไม่เพียงแต่เป็นช่องของเมืองไทยเท่านั้น แต่เรายังสามารถผลิตรายการให้กับช่องในต่างประเทศได้ด้วย นับว่าเป็นโอกาสของคอนเทนต์โพรไวเดอร์ทุกเจ้าในเมืองไทยด้วย ที่จะได้นำคอนเทนต์ดีๆ ฝีมือคนไทยไปเผยแพร่ในต่างประเทศ ช่วยทำให้อุตสาหกรรมการผลิตรายการโทรทัศน์ของเมืองไทยขยายตัวขึ้นไปอีก” นายจาฤก กล่าว
การผลิตรายการและซีรีส์ของกันตนา สามารถเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือที่หลากหลาย อาทิ การซื้อลิขสิทธิ์พร้อมจ้างผลิต การร่วมทุนสร้าง การเช่าเวลาออกอากาศ เป็นต้น โดยล่าสุดจับมือกับ บริษัท ลักษ์ 666 จำกัด ผลิตรายการโทเร่! เกมส์ปิรามิดปริศนา (Tore!) ลิขสิทธิ์จากประเทศญี่ปุ่น ภายใต้การร่วมทุนในบริษัท กันตลักษ์ จำกัด
นายจาฤก กัลย์จาฤก คาดการณ์ว่ารายได้จากค่าโฆษณาของช่องใหม่ๆ หลังทีวีดิจิตอลเริ่มแพร่ภาพ จะเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป การจัดสรรงบประมาณของแบรนด์สินค้าต่างๆ จะให้ความสำคัญกับคาแร็คเตอร์ช่องและเรตติ้งของแต่ละรายการมากขึ้น โดยแนะว่า “ทีวีดิจิตอลมีจำนวนช่องมาก แต่เม็ดเงินในการโฆษณาไม่ได้เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันของช่องสูงขึ้น ข้อดีของการมีช่องที่หลากหลายมากขึ้นคือ ผู้ผลิตสินค้าต่างๆ สามารถวางกลยุทธ์สื่อโฆษณาตามเนื้อหาและคาแร็คเตอร์ของช่อง
เพื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของสินค้าได้มากขึ้น ช่วงแรกของการเปิดสถานีในระบบดิจิตอล เจ้าของช่องควรเร่งผลิตรายการที่เรียกเรตติ้งได้สูง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับช่องในคาแร็คเตอร์ที่คล้ายกัน เมื่อรายการได้รับความนิยมแล้ว ผู้ผลิตสินค้าจะทยอยจัดสรรงบโฆษณาเข้ามามากขึ้น ดังนั้นคอนเทนท์จึงเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรกของทุกช่อง สำหรับจุดแข็งของอินเตอร์เนชั่นแนลคอนเทนต์ ในด้านโฆษณา คือ มีโอกาสจะได้โกลบอลสปอนเซอร์ (Global sponsor) หรือการที่ผู้สนับสนุนรายการในต่างประเทศ พร้อมที่จะให้การสนับสนุนรายการเดียวกันที่ผลิตขึ้นในเวอร์ชั่นไทยด้วย อีกทั้งยังช่วยให้ผู้สนับสนุนเกิดความมั่นใจได้ว่า รายการที่เขาสนับสนุนจะได้รับความนิยม เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในต่างประเทศ”
การเปลี่ยนระบบส่งสัญญาณจากระบบอะนาล็อก สู่ระบบดิจิตอล ไม่ใช่เพียงเชิงเทคนิคเท่านั้น แต่เป็นการพลิกโฉมของภูมิสถาปัตย์ทางสื่อ (Media Landscape) ครั้งยิ่งใหญ่ของเมืองไทย ทั้งในรูปแบบการทำธุรกิจ รูปแบบความสัมพันธ์ของธุรกิจ กระทั่งหน่วยงานกำกับการดำเนินกิจการ ผู้ดำเนินธุรกิจด้านสื่อจึงจำเป็นต้องปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย ซึ่งนอกจากการวางรูปแบบธุรกิจของสายงานโทรทัศน์ใหม่แล้ว กันตนา ยังตอกย้ำการเป็นคอนเทนต์โพรไวเดอร์ ด้วยการจัดโครงการไทยแลนด์ ฟอร์แมต ชาเลนจ์ 2014 (Thailand Format Challenge 2014) การประกวดสร้างสรรค์รูปแบบรายการโทรทัศน์ ที่เปิดโอกาสให้ผู้มีไอเดียและสนใจในการผลิตรายการ ส่งผลงานสร้างสรรค์รูปแบบรายการโทรทัศน์เข้าประกวด ชิงทุนรางวัลสำหรับการพัฒนารายการเพื่อผลิตจริง ในงบประมาณ 1 ล้านบาท โดยจะเริ่มรับสมัครภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 โครงการนี้นอกจากจะสร้างการรับรู้ในฐานะคอนเทนต์โพรไวเดอร์ของกันตนาแล้ว ยังมีส่วนช่วยในการสร้างความเข้าใจต่อธุรกิจคอนเทนต์โพรไวเดอร์ ภายใต้ภาพรวมของอุตสาหกรรมสื่อที่กำลังเปลี่ยนแปลงด้วย
นายจาฤก กัลย์จาฤก ประธานกรรมการบริหาร (กลาง) นางศศิกร ฉันท์เศรษฐ์ ประธานบริหารสายธุรกิจรายการโทรทัศน์ (ซ้าย) นายปิยะรัฐ กัลย์จาฤก ผู้อำนวยการพัฒนาสื่อแนวใหม่ (ขวา) บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)