กรุงเทพฯ--17 ม.ค.--วธ.
ดร.ปรีชา กันธิยะ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการมหกรรมภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม “Cultural Expo 2014” ว่า หลังจากที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทั่วประเทศได้ร่วมมือกับชุมชนในการสืบค้นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ทั้งหมด 7 ประเภท ได้แก่ 1. ภาษา ภาษาถิ่น และภาษาชาติพันธุ์ 2. วรรณกรรมพื้นบ้าน 3. ศิลปะการแสดง 4. แนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม และงานเทศกาล 5. งานช่างฝีมือดั้งเดิม 6. ความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล และ7. กีฬาภูมิปัญญาไทย การเล่น การกีฬา และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว โดยขณะนี้กระทรวงวัฒนธรรมกำลังดำเนินการพิจารณามรดกภูมิปัญญาเหล่านี้ ถึงความเป็นของแท้ดั้งเดิม มีคุณค่า มีเรื่องราว และมีการสืบทอดสร้างสรรค์ให้เกิดรายได้กับชุมชน อีกทั้งมีเนื้อหาเกี่ยวกับภูมิหลังทางวัฒนธรรมที่ชัดเจน สามารถนำมาต่อยอดทางเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ เพื่อนำมาจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ทั้งนิทรรศการ การสาธิต และบริการทางวัฒนธรรม
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า การดำเนินโครงการดังกล่าว เป็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศโดยใช้มิติการผลักดันเศรษฐกิจบนฐานวัฒนธรรมส่งเสริมให้ชุมชนและประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเต็มรูปแบบตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งทุกจังหวัดให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการสืบค้นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีเรื่องราวหรือต้นกำเนิดทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจจำนวนมาก โดยเฉพาะเรื่องของงานช่างฝีมือดั้งเดิม ที่เกี่ยวกับผ้าทอพื้นเมืองไทยพวน ซึ่งถือเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของคนไทยพวน ที่มีต้นกำเนิดมาจากเมืองพวน ที่อยู่ทางเหนือของแขวงเชียงขวาง ในประเทศลาว ก่อนที่จะอพยพเข้ามาสู่ประเทศสยามหลายช่วงในประวัติศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย อาทิ ลพบุรี อุทัยธานี สิงห์บุรี กำแพงเพชร เป็นต้น โดยแต่ละจังหวัดถือว่ามีต้นกำเนิดการทอผ้ามาจากแหล่งเดียวกัน แต่มีการนำมาประยุกต์ใช้และผสมผสาน ทั้งในเรื่องของลวดลายผ้า ชนิดของผ้า อาจมีความแตกต่างกัน ดังนั้น สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดต้องทำการสืบค้นอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ให้มีความชัดเจน และสามารถอ้างแหล่งที่มาของวัฒนธรรมเหล่านี้ได้ โดยกระทรวงวัฒนธรรมจะนำข้อมูลที่ได้ มาพิจารณาและร้อยเรียงให้เป็นเรื่องราวตั้งแต่ต้นกำเนิดของผ้าทอพื้นเมืองไทยพวน ตลอดจนความแตกต่างของแต่ละพื้นที่ เพื่อมานำเสนอในรูปแบบของนิทรรศการให้ความรู้ การสาธิตการทอผ้า รวมทั้งการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ เพื่อให้คนไทยเกิดความรัก และหวงแหนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของท้องถิ่นตนเอง ที่ไม่ใช่แค่มองเป็นเพียงวัตถุ และในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ต่างๆ หรือไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาษา หรือศิลปะการแสดงต่างๆสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่แฝงด้วยเรื่องราว และความเป็นมาที่บรรพบุรุษสร้างขึ้นและสืบทอดมาหลายชั่วอายุคน