กรุงเทพฯ--20 ม.ค.--ไอเดีย เวิร์คส์ คอมมิวนิเคชั่นส์
ผลสำรวจดัชนีชี้วัดความเสี่ยงประจำปีโดยกลุ่มอลิอันซ์ พบว่าสามอันดับความเสี่ยงสูงสุดต่อบริษัทต่างๆ ในปี 2014 คือ 1. ธุรกิจหยุดชะงักและซัพพลายเชน 2. เหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติ และ 3. อัคคีภัยและเหตุระเบิด ยังคงเป็นความเสี่ยงหลักที่อยู่ในความสนใจของบริษัทต่างๆ ทั่วโลกในการเริ่มต้นทำธุรกิจในปีนี้ ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็น ผู้เชี่ยวชาญด้านการประกันภัยของบริษัทจำนวนกว่า 400 รายจาก 33 ประเทศ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยปีนี้เป็นปีที่ 3นอกจากนั้นยังพบว่าความเสี่ยงต่อภัยจากโลกไซเบอร์และการเสื่อมเสียชื่อเสียงพุ่งทะยานขึ้นติดอันดับความเสี่ยงสูงอย่างมีนัยสำคัญ ที่สำคัญความเสี่ยงทางธุรกิจจะเป็นความเสี่ยงที่ซับซ้อนมากขึ้นและเกี่ยวโยงกันมากขึ้น ได้แก่ การผนวกรวมกันของความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่ เศรษฐกิจใหม่และกฎระเบียบใหม่ๆ ซึ่งมีศักยภาพก่อให้เกิดภัยคุกคามอย่างเป็นระบบต่อธุรกิจ อลิอันซ์แนะนำว่าบริษัทสามารถตอบสนองต่อความท้าทายที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้ได้ ผ่านการมีระบบควบคุมภายในที่แข็งแกร่งมากขึ้น พร้อมด้วยการบริหารความเสี่ยงแบบองค์รวม
แอ็กเซล เธอีส (Axel Theis) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Allianz Global Corporate & Specialty SE (AGCS) กล่าวว่า “ปี 2014 จะเป็นปีที่สำคัญสำหรับบริษัทต่างๆทั่วโลก ที่จะต้องรับมือกับความเสี่ยงอีกหลายอย่างที่จะอุบัติขึ้นใหม่ การระบุให้ได้ถึงผลกระทบที่เชื่อมโยงกันระหว่างความเสี่ยงที่แตกต่างกันถือเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดสำหรับผู้จัดการความเสี่ยง การเตรียมแผนธุรกิจเพื่อความต่อเนื่อง (Business Continuity Plans) ในทุกวันนี้ จึงต้องพร้อมสำหรับสถานการณ์ความเสี่ยงในหลากหลายรูปแบบมากขึ้น และต้องสะท้อนให้เห็นผลกระทบทางอ้อมที่อาจซ่อนตัวอยู่ เช่น อุบัติภัยทางธรรมชาติสามารถส่งผลให้เกิดธุรกิจหยุดชะงัก ระบบไอทีล่ม ไฟฟ้าดับ และอื่นๆ”
ในผลการสำรวจดัชนีชี้วัดความเสี่ยงประจำปี 2014 อลิอันซ์ได้ชี้ชัดว่าธุรกิจต่างๆ มีความกังวลในเรื่องความเสี่ยงที่เกี่ยวกับไซเบอร์และชื่อเสียงมากกว่าที่ผ่านมา ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจซบเซาที่ยืดเยื้อเช่นนี้ ธุรกิจยังมีความกังวลในเรื่องเศรษฐกิจซบเซาหรือถดถอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดที่กำลังเติบโต รวมถึงปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรบุคคลที่มีความเป็นเลิศ (talent) อีกด้วย
ความเสี่ยงสองอันดับสูงสุด ก่อให้เกิดความสูญเสียสูงที่สุด
จากข้อมูลในปี 2013 ความสูญเสียจากธุรกิจหยุดชะงักและซัพพลายเชนคิดเป็นร้อยละ 50-70 ของผลการขาดทุนในธุรกิจประกันสินทรัพย์ทั้งหมด ซึ่งมีผลขาดทุนสูงถึง 26 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในการสำรวจดัชนีชี้วัดความเสี่ยงเมื่อปีที่แล้ว ประเด็นนี้ถือเป็นความกังวลอันดับหนึ่งของธุรกิจทั่วโลก รวมถึงออสเตรเลีย บราซิล เยอรมนี สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา
"ในขณะที่ซัพพลายเชนเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้นในโลกของการจัดซื้อจัดหาทั่วโลก หากเกิดการหยุดชะงักใดๆ เกิดขึ้น – ตัวอย่างเช่น จากหายนะธรรมชาติ ระบบไอทีและการสื่อสารโทรคมนาคมล่ม ปัญหาในการขนส่ง การล้มละลายของซัพพลายเออร์หรือเกิดความไม่สงบขึ้น – เหล่านี้สามารถนำไปสู่ผลกระทบแบบลูกโซ่ได้"
พอล คาร์เตอร์ (Paul Carter) หัวหน้าฝ่ายให้คำปรึกษาด้านความเสี่ยงระดับโลก บริษัท AGCS กล่าวว่า "การวางแผนธุรกิจต่อเนื่องเป็นกุญแจสำคัญและควรจะเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างและการคัดเลือกซัพพลายเออร์ของบริษัท อย่างไรก็ดี เพื่อให้แน่ใจว่ามาตรการในการลดความเสี่ยงที่เหมาะสมยังคงใช้ได้ การเรียนรู้เกี่ยวกับซัพพลายเออร์ที่สำคัญของบริษัทแต่เพียงอย่างเดียว คงไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะบริษัทยังต้องมีความเข้าใจลึกไปถึงวิธีการที่จะจัดการความเสี่ยงในซัพพลายเชนอีกด้วย"
ในขณะที่การหยุดชะงักของธุรกิจยังคงเป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดของธุรกิจขนาดใหญ่ ทว่าบริษัทขนาดกลาง กลับกังวลเรื่องของอัคคีภัยและเหตุระเบิด ผลกระทบจากมาตรการประหยัดอย่างเข้มงวด และความพร้อมทางด้านเครดิต
ความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นความเสี่ยงอันดับสองนี้ มีมูลค่าความเสียหายมากกว่าธุรกิจหยุดชะงัก ซึ่งเป็นความเสี่ยงอันดับแรก โดยคิดเป็นมูลค่าความเสียหายถึง 38 พันล้านเหรียญสหรัฐ (แหล่งข้อมูลจาก Swiss Re Sigma, AGCS) โดยหนึ่งปีก่อนหน้านี้มูลค่าความเสียหายพุ่งสูงถึง 75 พันล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากเกิดความเสียหายรุนแรงจากฤดูพายุเฮอริเคนแอตแลนติก
ความเสี่ยงบนโลกไซเบอร์ และความเสี่ยงใหม่ซึ่งมีความเกี่ยวพันกัน ขยับขึ้นแถวหน้า
ผู้เชี่ยวชาญของอลิอันซ์ ระบุว่า การรับรู้เรื่องความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในปี 2014 ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของไซเบอร์และการเสียชื่อเสียง ซึ่งประเด็นเรื่องไซเบอร์ขยับอันดับสูงสุดในการสำรวจดัชนีชี้วัดความเสี่ยงในปีนี้ ขยับจากเดิมอันดับที่ 15 มาอยู่อันดับที่ 8 ขณะที่การเสียชื่อเสียงขยับจากเดิมอันดับที่ 10 มาอยู่อันดับที่ 6 ในปี 2014
ในบรรดาความเสี่ยงที่ติดอันดับท็อปเท็น ในการสำรวจครั้งนี้ มีหลายความเสี่ยงที่มีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงในข้อกฎหมาย ความเสี่ยงในโลกไซเบอร์และการเสื่อมเสียชื่อเสียง
ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของการก่ออาชญากรรมไซเบอร์ที่มีการวางแผนอย่างดี การรักษาความปลอดภัยทางด้านไอทีอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ บริษัทต่างๆ จำเป็นจะต้องมีนโยบายที่ได้รับการสนับสนุนจากบอร์ดผู้บริหาร พร้อมด้วยขั้นตอนในการดูแลและป้องกันด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ รวมถึงมีการฝึกอบรมด้วย ซึ่งขั้นตอนต่างๆ จำเป็นจะต้องมีการทดสอบและอัพเดทให้ทันสมัยอยู่เป็นประจำ
“อย่างไรก็ดี แม้จะมีกรอบการบริหารความเสี่ยงที่ดีที่สุด แต่บริษัทต่างๆ ก็ไม่มีทางที่จะปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์จากความบกพร่องที่เกิดขึ้นในโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที กระบวนการทำงานภายในที่ล้มเหลวหรือแม้แต่การโจมตีผ่านโลกไซเบอร์จากภายนอก ธุรกิจจึงจำเป็นจะต้องตัดสินใจว่าจะต้องการแบกรับความเสี่ยงเหล่านั้นไว้เองหรือจะถ่ายโอนไปให้บริษัทรับประกันภัยโดยการซื้อกรมธรรม์ที่รับประกันภัยไซเบอร์” ไนเจล เพียร์สัน (Nigel Pearson) หัวหน้าระดับโลก ฝ่ายความซื่อสัตย์ (รวมถึงไซเบอร์) แห่ง บริษัท AGCS กล่าว
การตระหนักถึงความเสี่ยงทางธุรกิจ ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาคของโลก กำลังเปลี่ยนไป
ในภูมิภาคยุโรป ดัชนีชี้วัดความเสี่ยงชี้ให้เห็นว่าบริษัทต่างๆ เริ่มมีความรู้สึกเชื่อมั่นมากขึ้นเกี่ยวกับอนาคตของยูโรโซนเมื่อเทียบกับ 12 เดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม มีประเทศจำนวนหนึ่งที่ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของมาตรการเข้มงวดต่างๆ เช่น สเปนและโปรตุเกส เป็นต้น ซึ่งตอนนี้ถือเป็นความเสี่ยงอันดับหนึ่ง
การเสื่อมเสียชื่อเสียงหรือมูลค่าแบรนด์เป็นความเสี่ยงที่ขยับอันดับสูงที่สุดในอันดับท็อปเท็น ของความเสี่ยงในทวีปอเมริกา (จากอันดับ 8 ขึ้นมาอยู่อันดับ 4 ในปี 2014) แต่ความกังวลเรื่องการขาดแคลนทรัพยากรบุคคลที่มีความเป็นเลิศ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ได้รับความสำคัญในภูมิภาคนี้ เช่นเดียวกับในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
ผลสืบเนื่องจากแนวโน้มที่มีมาอย่างยาวนานในทวีปอเมริกาและยุโรป ขณะนี้ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเริ่มที่จะตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น มีการออกกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นในประเด็นที่เกี่ยวกับการก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มมากขึ้น เป็นต้น
แนวโน้มในแต่ละภาคอุตสาหกรรม: กฎระเบียบเปลี่ยน สร้างความกังวลใจให้กับภาคพลังงานและการให้บริการด้านการเงิน
ภาควิศวกรรมและการก่อสร้างมีความกังวลใจมากที่สุดเกี่ยวกับผลกระทบของภัยพิบัติทางธรรมชาติและความเสี่ยงในธุรกิจหยุดชะงักและซัพพลายเชน และเป็นภาคอุตสาหกรรมเดียวที่ถือว่าความพร้อมทางด้านเครดิต กลายเป็นความกังวลติดอันดับท็อปไฟว์
สำหรับภาคการผลิต ปัญหาธุรกิจหยุดชะงักและซัพพลายเชนถือเป็นความเสี่ยงที่มีความกังวลอย่างมีนัยสำคัญ (ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 60 ระบุเช่นนี้) โดยเฉพาะปัญหาซัพพลายเชนถือเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ผลิตในการจัดการ เนื่องจากความต้องการของโลกในการจัดหาวัตถุดิบและการแข่งขัน
อุตสาหกรรมภาคพลังงานและสาธารณูปโภค การเปลี่ยนแปลงกฎหมายถือเป็นความเสี่ยงอันดับหนึ่ง ขณะที่ธุรกิจหยุดชะงักและซัพพลายเชนเป็นความเสี่ยงอันดับสอง และปัญหาไฟฟ้าดับมาเป็นอันดับสาม
ภาคขนส่งทางทะเลรวมถึงผู้ประกอบการขนส่งสินค้า ปัญหาด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติ ถือเป็นความเสี่ยงอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยการโจรกรรม การฉ้อโกงและการทุจริต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฉ้อโกงภายใน ถือเป็นภัยคุกคามที่สำคัญอย่างหนึ่งในธุรกิจภาคการขนส่งอีกด้วย
ขณะเดียวกัน ในภาคธุรกิจการบินมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบจากการโจมตีครั้งใหญ่ผ่านโลกไซเบอร์ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกที่เชื่อมโยงกันของระบบการจองและข้อมูลของลูกค้า ทั้งนี้ อาชญากรรมทางไซเบอร์ยังถูกระบุว่าเป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ที่เกิดอย่างรวดเร็วสำหรับภาคบริการทางการเงินอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบยังคงเป็นความกังวลอันดับหนึ่งของภาคการเงิน สะท้อนให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของการแทรกแซงการกำกับดูแลทั่วโลกอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากวิกฤตการเงินที่ผ่านมานั่นเอง