ฮังการีกำหนดโควตานำเข้าสินค้าสำหรับครึ่งแรกปี 42

ข่าวทั่วไป Tuesday February 9, 1999 14:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--9 ก.พ.--กระทรวงพาณิชย์
ฮังการีออกประกาศกำหนดโควตานำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ช่วงมกราคม-มิถุนายน 2542 รวม 13 รายการ มูลค่า 294.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่ไม่กระทบสินค้าไทย เนื่องจากที่ผ่านมาการนำเข้าสินค้าไทยยังต่ำกว่าโควตาที่กำหนด
กรมการค้าต่างประเทศเปิดเผยถึงรายงานจากสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบูดาเปสต์ แจ้งว่า กระทรวงเศรษฐกิจประเทศฮังการี ได้ออกประกาศที่ 30/1998 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2541 เพื่อกำหนดโควตานำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค สำหรับการนำเข้าระหว่างเดือน มกราคม - มิถุนายน 2542 จำนวน 13 รายการ รวมเป็นมูลค่า 294.93 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ประกอบด้วย 3 กลุ่มสินค้าต่อไปนี้ (1) กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค 5 รายการ โดยแต่ละรายการกำหนดมูลค่าโควตาไว้ดังนี้คือ เคมีภัณฑ์สำหรับครัวเรือน 27.28 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองเท้า 46.64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เครื่องประดับที่ทำด้วยโลหะมีค่า 22.77 ล้านเหรียญฯสหรัฐฯ ปลากระป๋อง 14.96 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมอื่น ๆ 88.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (2)กลุ่มสินค้ากำหนดโควตาไว้เฉพาะสำหรับสินค้าที่มีแหล่งนำเข้าจากประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) 4 รายการ กำหนดมูลค่าโควตาแต่ละรายการไว้ดังนี้คือ เสื้อผ้า 12.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อุปกรณ์สำหรับเครื่องแต่งกายและสิ่งทออื่น ๆ 7.26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เส้นด้ายและม่าน 3.52 ล้านเหรียญสหรัฐฯ พรม 1.65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (3) กลุ่มสินค้ารถยนต์ใหม่และเก่า 4 รายการ กำหนดมูลค่าโควตาแต่ละรายการไว้ดังนี้คือ รถยนต์ใหม่ประเภทรถยนต์ใหม่และเก่า 4 รายการ กำหนดมูลค่าโควตาแต่ละรายการไว้ดังนี้คือ รถยนต์ใหม่ประเภทรถยนต์โดยสาร (New cars) 36.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รถยนต์ใหม่ประเภทรถยนต์คาราวาน (New : self-propelled caravan) 0.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รถยนต์เก่าที่ใช้แล้วประเภทรถยนต์โดยสารและรถยนต์คารายาน (Used cars and caravans) 33.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รถยนต์ที่ชำรุดมากกว่า 10% (Cars and caravans damaged more than 10%) ไม่กำหนดมูลค่าโควตาไว้ (0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ)
กรมการค้าต่างประเทศแจ้งด้วยว่า จากการวิเคราะห์รายการสินค้าส่งออกของไทยไปฮังการีมีข้อสรุปว่า รายการที่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่เข้าข่ายถูกกำหนดโควตานำเข้าของฮังการี ประกอบด้วยรองเท้า เครื่องประดับ และปลากระป๋อง อย่างไรก็ดีที่ผ่านมามูลค่านำเข้ารวมของฮังการีในสินค้าเหล่านี้ยังต่ำกว่าโควตาที่กำหนด และเป็นรายการที่ไทยได้รับสิทธิ GSP อยู่แล้วซึ่งเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าปกติ ดังนั้นจึงไม่น่าจะเป็นอุปสรรคสำหรับการส่งออกสินค้าไทยไปยังฮังการี--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ