กรุงเทพฯ--21 ม.ค.--ปตท.
ฝ่ายกลยุทธ์และแผนธุรกิจ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สรุปรายงานสถานการณ์น้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน ราคาน้ำมันดิบ เบรนท์ (Brent) ลดลง 0.47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 106.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 1.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 103.02 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทางด้านน้ำมันดิบเวสท์ เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 0.82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอยู่ที่ 93.58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซิน 95 ลดลง 0.92 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 117.03 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 1.08 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 120.46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ
- ลิเบียสามารถกลับมาผลิตและส่งออกน้ำมันได้เพิ่มขึ้นล่าสุดแหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Sharara (340,000 บาร์เรลต่อวัน) มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 328,000 บาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีของลิเบีย นาย Ali Zeidan เผยรัฐบาลจะให้โอกาสกลุ่มผู้ประท้วงปิดท่าส่งออกน้ำมันทางตะวันออกที่จะยุติการประท้วงและหาทางออกแบบสันติวิธี ทั้งนี้ยังกล่าวว่าถ้าทางออกแบบสันติวิธีไม่สามารถยุติปัญหาได้ ทางรัฐบาลจะใช้กำลังทหารเพื่อยุติความวุ่นวายดังกล่าว
- กลุ่มประเทศ P5+1 (สหรัฐฯ รัสเซีย อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน และเยอรมนี) จะเริ่มผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรอิหร่าน ในวันที่ 20 ม.ค. 57 เป็นระยะเวลา 6 เดือน
- Reuters รายงานปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากท่า Basrah ทางตอนใต้ของประเทศอิรักระหว่างวันที่ 1-15 ม.ค. 57 อยู่ที่ระดับ 2.35 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปริมาณส่งออกเดือน ธ.ค. 56 ที่ 2.08 ล้านบาร์เรลต่อวัน ด้านบริษัทน้ำมันแห่งชาติอิรักระบุว่าท่าทางตอนใต้มีกำลังการส่งออกน้ำมันดิบสูงกว่า 2.5 ล้านบาร์เรลต่อวันแล้ว เนื่องจากโครงการปรับปรุงท่าขนส่งเสร็จสมบูรณ์
- กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานยอดสร้างบ้านใหม่ในเดือน ธ.ค. 56 ลดลง 9.8% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 990,000 หลัง/ปี จากระดับ 1.1 ล้านหลัง/ปี ในเดือน พ.ย. 56
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก
- EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 ม.ค. 57 ลดลง 7.7 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ระดับ 350.2 ล้านบาร์เรล ต่ำที่สุดในรอบ 22 เดือน
- ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Refinancing Rate) ไว้ที่ 0.25% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ต่อไปตามที่นักวิเคราะห์หลายสำนัก อาทิ Reuters และ Bloomberg คาดการณ์ ขณะเดียวกันยังคง Deposit Rate ไว้ที่ 0% เช่นเดิม
- World Bank ปรับคาดการณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) โลกในปี 57 ขึ้นมาอยู่ที่ 3.2% จากปีก่อนหน้า จากการคาดการณ์ครั้งก่อนในเดือน มิ.ย. 56 ที่ 3% จากปีก่อนหน้า เนื่องจากการฟื้นตัวภาคเศรษฐกิจของประเทศที่พัฒนาแล้วโดยเฉพาะสหรัฐฯ
- รัฐบาลสหรัฐฯแสดงเจตจำนงต่อรัสเซียว่า สหรัฐฯไม่พอใจที่รัสเซียมีแผนจัดซื้อน้ำมันดิบประมาณ 500,000 บาร์เรลต่อวันจากอิหร่าน เพื่อแลกเปลี่ยนทางด้านธุรกิจมูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงจากอุปทานน้ำมันดิบลิเบียที่เพิ่มขึ้น แต่ยังมีความไม่แน่นอนหลังกลุ่มผู้ประท้วงที่ขู่แหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Sharara (340,000 บาร์เรลต่อวัน) อีกครั้ง หากรัฐบาลไม่สามารถปฏิบัติตามข้อเรียกร้องได้ภายในวันที่ 24 ม.ค. 57 กอปรกับอุปทานจากอิหร่านที่กลับสู่ตลาดได้ง่ายขึ้นเนื่องจากสหภาพยุโรปเริ่มผ่อนผันมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค. 57 เป็นระยะเวลา 6 เดือนตามข้อตกลงแลกกับการยุติการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมสูงกว่า 20% แม้ว่าประเทศผู้นำเข้าน้ำมันดิบอิหร่านไม่ได้รับโควตาการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น แต่ข้อจำกัดด้านประกันภัยเรือขนส่งน้ำมันดิบจะได้รับการผ่อนปรน ส่งผลให้ผู้ประกอบการเรือขนส่งสามารถขนส่งน้ำมันดิบอิหร่านได้อย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบได้รับแรงสนับสนุนจากปัจจัยเศรษฐกิจ ล่าสุดวุฒิสภาสหรัฐฯอนุมัติงบใช้จ่ายมูลค่า 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งจะทำให้รัฐบาลสหรัฐฯมีเงินใช้จ่ายต่อไปและหลีกเลี่ยงจากการปิดรัฐบาลเป็นการชั่วคราวไปอีกประมาณ 9 เดือน แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯยังมีทิศทางออกมาไม่เด่นชัด โดยผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Production) ในเดือน ธ.ค. 56 เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 สวนทางกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเบื้องต้นในเดือน ม.ค. 57 ปรับตัวลดลง ล่าสุดนักลงทุนต่างมุ่งประเด็นความสนใจไปยังการปรับเพิ่มเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯจากระดับ 17 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปัจจุบัน โดยอาจจำเป็นต้องปรับเพิ่มเพดานหนี้ในอีก 3-6 สัปดาห์ข้างหน้า นอกจากนั้นสหรัฐฯได้แสดงความไม่พอใจในแผนข้อแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจที่รัสเซียจะซื้อน้ำมันดิบปริมาณ 500,000 บาร์เรลต่อวันจากอิหร่าน เพื่อแลกเปลี่ยนกับสินค้ามูลค่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน แม้ว่ายังไม่มีข้อตกลงระหว่างสองฝ่ายออกมาในขณะนี้ ในสัปดาห์นี้น้ำมันดิบ Brent, WTI และ Dubai มีแนวรับแนวต้านทางเทคนิคอยู่ที่ระดับ 105.3-108 USD/BBL, 90.83-94.96 USD/BBL และ 102.47-104.77 USD/BBL ตามลำดับ
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลง เนื่องจากมี Arbitrage ส่วนผสมเพื่อการผลิตน้ำมันเบนซินจากฝั่งยุโรปเข้ามาในเอเชีย เพราะตลาดน้ำมันเบนซินยุโรปอ่อนแอ ขณะที่ตลาดเอเชียมีส่วนผสมดังกล่าวเพียงพอ ซึ่งถือว่าเป็นการค้าขายที่ไม่ค่อยเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามประเทศฟิลิปปินส์ประมูลซื้อน้ำมันเบนซิน ปริมาณ 150,000 บาร์เรล เพิ่มเติมจากเดิม 150,000 บาร์เรล ส่งมอบช่วงเดือน ก.พ. 57 เพื่อรองรับต่อความต้องการในประเทศที่เพิ่มขึ้น ด้าน International Enterprise of Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 ม.ค. 57 ปรับตัวลดลง 625,000 บาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 12.15 ล้านบาร์เรล แต่โดยรวมยังถือว่าอยู่ในระดับสูง ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 116.15-118.45 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวลดลง เนื่องจาก Reuters รายงานจีนและไต้หวันจะส่งออกน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นในตลาดจร โดยไต้หวันประมูลขายปริมาณรวม 420,000 บาร์เรล ส่งมอบในช่วง 1-3 เดือนข้างหน้า กอปรกับ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates ที่สิงคโปร์สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 15 ม.ค. 57 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.02 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 11.09 ล้านบาร์เรล ถือว่าเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 1 ปี อย่างไรก็ตามฟิลิปปินส์ และแทนซาเนีย เข้าประมูลซื้อน้ำมันดีเซลส่งมอบช่วงเดือน ก.พ. 57 เพิ่มขึ้น ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 119.91-122.21 เหรียญสหรัฐฯ/ บาร์เรล