กรุงเทพฯ--21 ม.ค.--มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด
มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด โดย รองศาสตราจารย์ ดร. บุญมาก ศิริเนาวกุล อธิการบดี ดร.พนาสัณฑ์ เกาะสุวรรณ์ ผู้ช่วยอธิการบดีวิทยาเขตเพชรบุรี และผู้บริหารหลักสูตรของวิทยาเขตเพชรบุรี ได้จัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ในวันพุธที่ 8 มกราคม พ. ศ. 2557 ณ โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน เพื่อนำเสนอแนวทางการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย ฯ ใน ปี พ.ศ. 2557 และประชาสัมพันธ์การจัดเสวนาวิชาการระดับชาติ ภายใต้หัวข้อ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในเวทีประชาคมอาเซียน” ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2557
มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ดได้ก่อตั้งและให้บริการทางการศึกษาในประเทศไทยมากว่า 18 ปีโดยมุ่งเน้นการจัดการเรียนการสอนที่มีมาตรฐานสากล จัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning เพื่อพัฒนาคุณภาพของทั้งนักศึกษาไทยและนักศึกษาต่างชาติจากหลากหลายประเทศทั่วโลก ทางด้านการบริหารและวิชาการ มหาวิทยาลัยฯ ผ่านการประเมินจาก สำนักงานมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (สมศ.) อยู่ในเกณฑ์ดีมาก ติดต่อกันถึง 3 ปี
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด ได้เสริมสร้างความแข็งแกร่งทางวิชาการ ด้วยการเข้าร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยนานาชาติลอรีเอท (Laureate International Universities) จากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีสถาบันการศึกษามากกว่า 72 สถาบันใน 30 ประเทศทั่วโลก ที่ทำให้คณาจารย์และนักศึกษาสามารถเข้าถึงแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ที่ทันสมัยจากทั่วทุกมุมโลก เพื่อให้บัณฑิตของมหาวิทยาลัยฯ เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถและพร้อมก้าวสู่ตลาดแรงงานในระดับโลกได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ
รองศาสตราจารย์ ดร. บุญมาก ศิริเนาวกุล อธิการบดี กล่าวถึงตลาดแรงงานในปัจจุบันว่า ต้องการผู้ที่มีทักษะและความสามารถสูงที่จะสร้างคุณค่าให้กับองค์กรในโลกเศรษฐกิจที่เป็นสากลเพิ่มมากขึ้น และเพื่อรองรับการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี พ.ศ. 2558 ที่กำลังจะมาถึง ผู้จ้างงานและองค์กรต่าง ๆ ย่อมต้องสรรหาบัณฑิตที่เพียบพร้อมด้วยความสามารถและทักษะที่จะทำให้องค์กรสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติและดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน
มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ดจัดสภาพแวดล้อมทางการเรียนการสอนที่ผสมผสานทั้งไทยและนานาชาติในวัฒนธรรมหลากหลาย เพื่อพัฒนาทักษะและความสามารถของนักศึกษาทั้งด้านภาษาอังกฤษและเทคโนโลยี เพิ่มพูนทักษะต่าง ๆ ในโลกแห่งการทำงานเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาให้ก้าวสู่ความสำเร็จในชีวิตและการประกอบอาชีพทั้งในระดับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และในระดับตลาดแรงงานสากล
การเสวนาวิชาการระดับชาติ ในหัวข้อ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในเวทีประชาคมอาเซียน” จะจัดขึ้นในวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2557 ที่ห้องประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด วิทยาเขตเพชรบุรี โดยท่านวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่มีชื่อเสียงและความสามารถเป็นที่ยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ คือ ศาสตราจารย์ ดร.ลิขิต ธีรเวคิน นักวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล นักวิชาการ
ศาสตราจารย์ ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ได้กล่าวถึงสิ่งที่ประเทศไทยต้องพิจารณาเพื่อการเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในเรื่องของการศึกษา เป็นเรื่องสำคัญของสังคม จะต้องปรับตัวให้มีความใกล้เคียงกันเมื่อรวมอยู่ในประชาคมอาเซียน รวมถึงวิชาหลัก ๆ ที่แต่ละประเทศต้องศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของกันและกัน เพื่อทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยในเรื่องการแลกเปลี่ยนนักศึกษา บุคลากรที่ทำการสอน การปรับหลักสูตรเพื่อเอื้ออำนวยต่อกันในบางด้าน เพื่อการเพิ่มพูนการพัฒนาในทางวิชาการ ตลอดทั้งการหาทางแก้ไขปัญหาและช่วยในการสร้างความสัมพันธ์ทางวิชาการ เศรษฐกิจ การเมือง การบริหาร และการพัฒนาสังคม ซึ่งย่อมส่งผลโดยตรงต่อการทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมวลสมาชิกแข็งแกร่งยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย
นอกจากนั้น ท่านยังได้เน้นถึงการที่สังคมไทยดำเนินมาสู่ยุคที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องเผชิญกับการแข่งขัน และการคุกคามจากต่างประเทศ ในขณะเดียวกันก็จะประสบปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากภายในด้วย ดังนั้น จึงควรพิจารณาความมีอยู่ของตัวแปรต่าง ๆ ที่มีผลต่อศักยภาพของสังคมไทย คนไทยต้องตามกระบวนการการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วให้ได้ โดยคนในสังคมจะต้องมีคุณสมบัติที่มีส่วนผสมผสานระหว่างความทันสมัยและจารีตประเพณี ระหว่างความเจริญทางวิทยาศาสตร์ วัตถุ และการพัฒนาทางปรัชญาและจิตใจ สิ่งเหล่านี้จะมีส่วนทำให้การสร้างคนไทยในอุดมคติเกิดขึ้น ในขณะเดียวกัน วัฒนธรรมที่ขัดแย้งต่อการสร้างบุคลิกดังกล่าวก็อาจต้องมีการแก้ไขหรือปรับเปลี่ยน การอบรมในครอบครัวถือเป็นความจำเป็นอันดับแรกในกระบวนการสร้างคน สร้างชาติแบบใหม่ เพื่อให้รู้เท่าทัน และมีการปรับตัว ต่อสู้ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก
ฉะนั้นการน้อมนำหลักแนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาใช้ในการดำรงชีวิต จึงเป็นการเข้าใจถึงเศรษฐกิจแบบพอเพียง ซึ่งเป็นปรัชญาที่ชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล นักวิชาการสื่อสารมวลชนชื่อดัง ผู้ศึกษาและติดตามเรื่องประชาคมอาเซียน ได้บรรยายในบันทึกอาเซียนว่าด้วยเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นปรัชญานั้น พัฒนามาจากปรัชญาของพุทธศาสนา ซึ่งเป็นฐานของความคิดต่อเนื่องของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งพระองค์ได้ศึกษาค้นคว้าวิจัยและดลองเพิ่มเติมโดยทำโครงการต่างๆ แยกตามพื้นที่ในประเทศไทยราว 4,000 โครงการ โดยอ้างอิงผลการทดลองที่ได้จากศูนย์ศึกษาและพัฒนาทุกศูนย์ทั่วประเทศ ทำนองเดียวกันกับที่ระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ใช้คำว่า “วิจัยและพัฒนา” หรือ R&D ที่่ย่อมาจาก “Research and Development” เพราะพระองค์ทรงเชื่อว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นเป็นเพียง “ปรัชญา” ที่ใช้กำกับการดำเนินชีวิตในภาพรวมเท่านั้น หากจะนำมาประยุกต์ใช้ในการผลิตเป็นรูปธรรมก็ต้องอาศัยความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ แต่ละสังคมชุมชน แต่ละคน และแต่ละประเทศ
การทดลองของพระองค์เริ่มต้นก่อนที่พระราชวังจิตรลดา อันเป็นเขตพระราชฐานที่พระองค์จะทรงดูแลอย่างใกล้ชิดได้ทุกเวลานาที แล้วจึงขยายไปเป็นโครงการหลวงและโครงการตามแนวพระราชดำริต่างๆทั่วประเทศ แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระเจ้าอยู่หัวของไทยจึงอยู่ที่การค้นคว้าทดลองเพิ่มเติมอย่างละเอียดในโครงการต่างๆ ทั่วประเทศไทยกว่า 4,000 โครงการ ทำให้ปฏิบัติได้จริง และได้ผลเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้น คนไทยมีชีวิตที่สมบูรณ์พูนสุขขึ้น แต่แนวทางของพระองค์ใช้เวลายาวนานถึง 40 ปี จนทุกวันนี้คนไทยเองก็ยังค่อยๆ ทำความรู้จักกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกันต่อไปอย่างช้า ๆ ซึ่งเป็นความคิดที่ดีทันสมัยเข้าใจง่าย แต่ต้องใช้เวลายาวนานในการทดลองในภาคปฏิบัติ และต้องอาศัยการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้ประชาชนเข้าใจและนำไปใช้ให้ได้ประโยชน์ในชีวิต หากคนไทยทั้งประเทศเข้าใจและพิสูจน์ให้ชาติอื่นในอาเซียนเห็นแล้วว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางอันงดงามของวิถีชีวิตไทย หากทำได้ดังนั้นแล้ว ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงก็จะได้ขยายวงกว้างไปสู่ประชาคมอาเซียนต่อไป
ดร.พนาสัณฑ์ เกาะสุวรรณ์ ผู้ช่วยอธิการการบดี มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด วิทยาเขตเพชรบุรี เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเสวนาวิชาการเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ให้นักศึกษา เพื่อให้มีมุมมองกว้างไกล และเป็นสากล ผ่านวิธีการเรียนการสอนแบบมิติใหม่ ที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้นักศึกษาได้พัฒนาทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ และความคิดเชิงสร้างสรรค์ และเป็นผู้ที่มีคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานระดับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และระดับตลาดแรงงานสากล
แนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จึงเป็นแนวทางใหม่ในการพัฒนาที่นำไปประยุกต์ใช้กับปัญหาและสถานการณ์ต่างๆ ได้ในขอบเขตที่กว้างขวาง อีกทั้งความชื่นชมของประชาคมโลกมองว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนและบำบัดทุกข์บำรุงสุขราษฎรในทุก ๆ พื้นที่ทั่วประเทศแม้ในพื้นที่ทุรกันดาร และทรงเป็นแบบอย่างที่โดดเด่นของผู้นำที่ไม่เหมือนใครในโลก ทั้งยังทรงเป็นแรงบันดาลใจในแบบที่ประชาคมโลกปัจจุบันควรเรียนรู้ การพัฒนาและการบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลางโดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงตามที่โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP) ตั้งข้อศึกษาไว้ก็คือ การปลูกฝังจิตสำนึกพอเพียง จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนค่านิยมและความคิดของคน เพื่อให้เอื้อต่อการพัฒนาสังคม โดยคนทุก ๆ คนต้องมุ่งมั่นหาวิชาความรู้ มีคุณธรรมและความซื่อสัตย์ และดำเนินชีวิตด้วยความนอบน้อม พากเพียร มีสติปัญญา และความรอบคอบ
มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด มุ่งมั่นในการพัฒนานักศึกษา เพื่อให้สามารถปรับตัวทันกับยุคแห่งการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงเพื่อการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. 2558 จึงได้จัดให้มีการเสวนาวิชาการในหัวข้อ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในเวทีประชาคมอาเซียน” ขึ้นตามวันและเวลาดังกล่าว