กรุงเทพฯ--21 ม.ค.--มีเดีย แพลนเนอร์ คอนซัลแทนท์
บมจ. โกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์ มองกรอบราคาทองคำที่ $1,216-1,290/Oz หรือ 19,090-20,240 บาท/บาททองคำ(อ้างอิงค่าเงินบาทที่ 32.874 บาท/$) เผย ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้น แนะนำเข้าซื้อเก็งกำไรตามแนวโน้มขาขึ้นในระยะสั้น พร้อมแนะให้นักลงทุนระวังแรงขาย ในช่วงปลายเดือนมกราคมนี้ ระบุ จับตาการประชุมเฟด ที่คาดว่าตะเป็นแรงกดดันตลาด
นายโสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลเบล็ก โฮลดิ้ง แมนเนจเม้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GBX แนะนำกรอบการลงทุนราคาทองคำในสัปดาห์นี้ (20 – 24 มกราคม 2557) ว่า ราคาทองคำโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ $5.4 /Oz หรือคิดเป็น 0.43% มาซื้อขายที่ระดับ $1,255.50 /Oz (เวลา 10.30 น. 20/01/57) โดยมีจุดต่ำสุดที่ $1,234.230 /Oz และมีจุดสูงสุดที่ $1,255.08 /Oz โดยราคาทองคำได้ปรับตัวขึ้นจากที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา สาขาดัสลัส และสาขาฟิลาเดเฟีย ยังคงมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ สนับสนุนการปรับลดขนาดโครงการซื้อพันธนบัตร ตราบใดที่เศรษฐกิจยังคงขยายตัวตามคาด
ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยในรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ หรือ Beige Book ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังคงมีการขยายตัวทั่วภูมิภาคและภาคธุรกิจส่วนใหญ่ ตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม โดยได้รับแรงผลักดันจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยรายงานระบุว่า เศรษฐกิจใน 9 เขต มีการขยายตัวในอัตราปานกลาง
นอกจากนี้ ราคาทองคำยังถูกกดดันจากธนาคารบาร์เคลย์ ซึ่งได้ปรับลดคาดการณ์ราคาทองคำโดยเฉลี่ยในปี 2557 ลงสู่ระดับ 1,205 ดอลลาร์/ออนซ์ แต่ในช่วงท้ายสัปดาห์ สหรัฐฯประกาศยอดอนุญาตสร้างบ้าน ผลผลิตอุตสาหกรรม และคาดการณ์ความเชื่อมั่นผู้บริโภคออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ส่งผลให้มีแรงซื้อกลับเข้ามาในราคาทองคำและทำให้ราคาทองคำสามารถปิดในแดนบวกได้
อย่างไรก็ตาม จากปัจจัยดังกล่าวในข้างต้น ทางโกลเบล็ก แนะนำให้เล่นเก็งกำไรในกรอบที่ $1,216-1,290/Oz หรือ 19,090-20,240 บาท/บาททองคำ(อ้างอิงค่าเงินบาทที่ 32.874 บาท/$) โดยแนะนำเข้าซื้อเก็งกำไรตามแนวโน้มขาขึ้นในระยะสั้น โดยให้ระวังแรงขายออกในช่วงปลายเดือนมกราคมที่จะมีการประกาศผลการประชุมเฟด หากเฟดมีการปรับลดขนาดโครงการซื้อพันธบัตรลงเพิ่มเติม จะเป็นปัจจัยกดดันต่อราคาทองคำได้
นอกจากนี้ ทางโกลเบล็ก ยังแนะนำนักลงทุนจับตาแนวโน้มทิศทางเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ อาทิ ดัชนีภาวะเศรษฐกิจเยอรมนี ,อัตราว่างงานอังกฤษ ,ดัชนีภาคการผลิตจีน ,ดัชนีภาคการผลิตยูโรโซน ,ยอดผู้ขอรับสวัสดิการสหรัฐฯ และยอดขายบ้านมือสองสหรัฐฯ