กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--บมจ.หลักทรัพย์ บัวหลวง
บมจ.หลักทรัพย์ บัวหลวง ควงแบงค์แม่ ประกาศกลยุทธเชิงรุก ปรับโครงสร้างการบริหารการจัดการ เสริมความแข็งแกร่ง เตรียมพร้อมรับการแข่งขัน หลังแบงค์กรุงเทพ มอบหมายงานสำคัญ ให้ชอง โท ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ รับผิดชอบการปฏิบัติงานด้านต่างประเทศ พร้อมโปรโมทขึ้นควบเก้าอี้ประธานคณะกรรมการบริหาร บล.บัวหลวง อีกตำแหน่ง และดันญาณศักดิ์ มโนมัยพิบูลย์ ขึ้นแท่นกรรมการผู้อำนวยการแทน พร้อมมั่นใจการปรับกลยุทธ์ครั้งนี้ จะเสริมความร่วมมือทางธุรกิจกับธนาคารกรุงเทพให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เผยผลประกอบการไตรมาส 2 ลดลง สาเหตุหลักจากปริมาณการซื้อขายในตลาดฯ โดยรวมลดลง
นายสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม ประธานคณะกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) (บล.บัวหลวง) เปิดเผยภายหลังคณะกรรมการบริษัทฯ แต่งตั้งนายชอง โท ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการบริหารแทนตน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน นี้ และพิจารณาอนุมัติการเลื่อนตำแหน่งนายญาณศักดิ์ มโนมัยพิบูลย์ จากกรรมการผู้จัดการ เป็นกรรมการผู้อำนวยการแทนนาย ชอง โท ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ให้ไปดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ รับผิดชอบงานกิจการธนาคารต่างประเทศ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน นี้เช่นกัน ว่า “การปรับโครงสร้างการจัดการใหม่นี้ จะแยกบทบาทของประธานคณะกรรมการบริหารและประธานคณะกรรมการบริษัทอย่างชัดเจน จากเดิมที่ตนดูแลทั้งสองตำแหน่ง และความรับผิดชอบของตนภายใต้โครงสร้างใหม่จะเน้นบทบาทการเสริมสร้างหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี” นายสรรเสริญ กล่าว
ด้านนายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ของธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า “การปรับโครงสร้างครั้งนี้ จะทำให้เกิดประโยชน์ในความร่วมมือระหว่างธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และบล.บัวหลวง ถึงแม้ว่านายชอง โท จะไม่ได้มาดำเนินธุรกิจที่บล.บัวหลวงเป็นประจำเหมือนเช่นเคย แต่เชื่อมั่นว่าในฐานะผู้บริหารของธนาคารกรุงเทพ นายชอง โท จะสามารถเน้นให้การทำธุรกิจร่วมกันระหว่างธนาคารกรุงเทพกับบล.บัวหลวงลุล่วงไปด้วยดี”
โดยนายปิยะพันธ์ ทยานิธิ กรรมการบริหารของบล. บัวหลวงและผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ของธนาคารกรุงเทพ กล่าวเสริมว่า “หากมองภาพรวมทั้งในและต่างประเทศ จะเห็นได้ว่า ต่อไปในอนาคตเราจะได้เห็นบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นเครือข่ายของธนาคารพาณิชย์มีส่วนสำคัญมากขึ้นกับตลาดทุน ซึ่งทางธนาคารกรุงเทพได้รุกหน้า จากการที่ธนาคารได้หมายมั่นให้บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง เป็นเครือข่ายธุรกิจตลาดทุนของธนาคาร มาตั้งแต่ปี 2544 ในปัจจุบันบริษัทสามารถขยายฐานนักลงทุนได้โดยครองส่วนแบ่งตลาดถึง 5% ของฐานนักลงทุนรายย่อยในประเทศ รวมทั้งประสบความสำเร็จในการระดมทุนจากตลาดทุนให้แก่ลูกค้าของธนาคาร”
นายชอง โท กรรมการผู้อำนวยการ บล.บัวหลวง เปิดเผยว่า “สิ่งสำคัญ 3 อย่างแรกที่ตนจะผลักดันสำหรับ บล.บัวหลวง ก็คือ 1. ให้ บล.บัวหลวงเป็นผู้นำเสนอบริการด้านหลักทรัพย์ให้แก่ลูกค้าสำคัญของธนาคาร 2. พัฒนาธุรกิจหลักทรัพย์ระหว่างประเทศให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น จะเห็นได้จากที่มีกระแสการลงทุนจากต่างชาติจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศจีน โดย บล.บัวหลวง จะสามารถได้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ที่มีอยู่ระหว่างธนาคารกรุงเทพกับลูกค้าซึ่งเป็นบริษัทชั้นแนวหน้าในเอเชีย และ 3. ทำให้บล.บัวหลวงเป็นหนึ่งในห้าของผู้นำในบริษัทหลักทรัพย์ โดยมีส่วนแบ่งการตลาดโดยรวมให้ได้ 5% ภายใน 3 ปีข้างหน้า” นายชอง โท เผย
ธนาคารกรุงเทพ เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยทั้งในด้านสินทรัพย์และเงินฝาก จากการที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากในประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายต่างพากันนำเสนอสินค้าและบริการเพื่อการลงทุนในรูปแบบต่างๆ ให้แก่ลูกค้าของตน เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างลูกค้ากับธนาคาร และลูกค้าก็สามารถได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น ในขณะเดียวกันธนาคารก็จะได้รับค่าธรรมเนียมที่มากขึ้น ซึ่งจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สำคัญในการก้าวสู่การเป็น Universal Banking ทั้งนี้การมีบริษัทหลักทรัพย์ที่แข็งแกร่งและมีความพร้อมถือเป็นปัจจัยสำคัญของกลยุทธ์นี้
สำหรับด้านธุรกรรมระหว่างประเทศ เนื่องจากธนาคารกรุงเทพเป็นหนึ่งในผู้นำของธนาคารภูมิภาค ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ในเอเชียโดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือข่ายความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับนักธุรกิจชาวจีน ธนาคารกรุงเทพเป็นธนาคารพาณิชย์ของไทยแห่งแรกที่เข้ามาทำธุรกิจในต่างประเทศ นอกจากนี้ได้ใช้เวลายาวนานนับ 60 ปี ในการขยายเครือข่ายสาขาในประเทศต่างๆ ถึง 21 สาขาทั่วโลก นอกจากการให้บริการสินเชื่อทางการค้าและสินเชื่อโครงการขนาดใหญ่แล้ว ทางธนาคารยังมีบริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการหาพันธมิตรในภูมิภาคต่างๆ และให้แนะนำเกี่ยวกับกฎระเบียบต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อ บล. บัวหลวง ในการเข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินการดังกล่าว
นายญาณศักดิ์ มโนมัยพิบูลย์ กรรมการผู้จัดการ บล. บัวหลวง กล่าวว่า “การปรับตัวเชิงรุกในครั้งนี้ มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภายในองค์กรเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้เนื่องจากที่ผ่านมาธนาคารกรุงเทพ ได้ให้ความไว้วางใจให้ตนบริหารงานด้านธุรกิจหลักทรัพย์ในบริษัทในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัท ประกอบกับประสบการณ์ด้านธุรกิจหลักทรัพย์ของตน ที่สั่งสมมาตลอดช่วงเวลาที่ทำงานอยู่ที่ บล. เจ.เอฟ. ธนาคม จำกัด สิ่งที่จะมีการเปลี่ยนแปลงชัดเจนก็คือ สายงานวาณิชธนกิจ ซึ่งเดิมขึ้นตรงกับนายชอง โท ต่อไปก็จะมาขึ้นตรงต่อตน ซึ่งที่ผ่านมา ตนก็มีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับพนักงานในสายงานวาณิชธนกิจในดีลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสายงานอื่นๆ ของบริษัทตลอดเวลา ทำให้มั่นใจว่าพนักงาน บล. บัวหลวงจะสามารถร่วมกันสร้างความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นในทุกๆ ด้านได้ในเร็ว ๆ นี้” นายญาณศักดิ์กล่าวอย่างมั่นใจ
สำหรับในส่วนของการรายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปี 2548 นั้น นายญาณศักดิ์ แจ้งว่า บริษัทฯ มีกำไรสุทธิในไตรมาส 2 เท่ากับ 25.98 ล้านบาท ลดลง 3.09 ล้านบาท จากกำไรสุทธิในไตรมาส 2 ปี 2547 ซึ่งเท่ากับ 29.07 ล้านบาท หรือคิดเป็นลดลงร้อยละ 10.63% เมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานในไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจากปริมาณการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์โดยรวมลดลง 17.57% สำหรับส่วนแบ่งการตลาดของบริษัท คิดเป็นร้อยละ 3.26 ในไตรมาส 2 ของปี 2548 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.23 ในไตรมาส 2 ของปี 2547 และมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทในไตรมาส 2 ปี 2548 เท่ากับ 59,556.95 ล้านบาท ลดลง 12,151.93 ล้านบาท เมื่อเทียบกับมูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทในไตรมาส 2 ปี 2547 ซึ่งเท่ากับ 71,708.88 ล้านบาท คิดเป็นลดลงร้อยละ 16.95% นายญาณศักดิ์ กล่าวสรุป
ข้อมูลเพิ่มเติม
บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทหลักทรัพย์แรกที่ธนาคารกรุงเทพถือหุ้นโดยตรง ปัจจุบันธนาคารกรุงเทพถือหุ้นอยู่ 56.34% บริษัทเริ่มเปิดดำเนินกิจการในปี 2544 โดยการรับโอนธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ลูกค้าบุคคลจากบริษัทหลักทรัพย์ เจ. เอฟ. ธนาคม จำกัด (ปัจจุบัน คือ บริษัทหลักทรัพย์ เจ.พี.มอร์แกน (ประเทศไทย) จำกัด) ซึ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำ ก่อตั้งโดยคุณกรณ์ จาติกวณิช ผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการการเงิน ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวส่งผลให้ธนาคารกรุงเทพโดดเด่นขึ้นมาเมื่อตลาดทุนฟื้นตัวในปี 2546 และปี 2547 นอกจากนี้ ถึงแม้บริษัทเริ่มเปิดดำเนินการได้ไม่นาน บริษัทสามารถร่วมเป็นผู้นำในการเสนอขายหุ้นสามัญให้แก่บริษัทชั้นนำต่างๆ เช่น บมจ. ไทยออยล์ บมจ.การบินไทย บมจ. เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น และบมจ. โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เป็นต้น บริษัทก็ได้เติบโตจากองค์กรที่มีพนักงาน 200 กว่าคน จนในปัจจุบันมีพนักงานมากกว่า 450 คน นอกจากนี้ เมื่อต้นปี 2548 ที่ผ่านมาบริษัทก็ประสบผลสำเร็จในการเสนอขายหุ้นของบริษัทต่อประชาชนทั่วไป และสามารถระดมเงินทุนได้มากกว่า 600 ล้านบาท เพื่อใช้ในการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคต
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
ปิยวรรณ อนันต์เวทยานนท์
ที่ปรึกษางานประชาสัมพันธ์ 0-1944-1972--จบ--