กรุงเทพฯ--22 ม.ค.--มหาวิทยาลัยมหิดล
สภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศเชิดชูเกียรติอาจารย์ผู้มีความสามารถในเชิงวิชาการ มีจริยธรรม และอุทิศตนในด้านต่างๆ เพื่อเข้ารับรางวัลอาจารย์ตัวอย่างของมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี ๒๕๕๖ จำนวน ๓ ท่าน ซึ่งได้เข้ารับรางวัลในงาน “๔๕ ปี วันพระราชทานนามมหาวิทยาลัยมหิดล” ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ศาสตราจารย์ นายแพทย์พิภพ จิรภิญโญ สาขาวิชาโภชนาการ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาของทารกและเด็กไทยในด้านโภชนาการอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติมากกว่า ๘๐ เรื่อง เป็นบุคคลแรกในประเทศที่ผลิตอาหารเพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีโรคจำเพาะ เช่น Chylothorax, Refractory Epilepsy และ Cow Milk Protein Allergy โดยเฉพาะการผลิตนมจากเนื้อไก่ และนมข้าวอะมิโนซึ่งใช้รักษาทารกที่แพ้โปรตีนนมวัวมากกว่า ๑,๐๐๐ ราย ให้การสอนนักศึกษาทุกระดับอย่างลูกหลาน สอดแทรกจริยธรรมคุณธรรมในการสอนนักศึกษาตลอดเวลา
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วรชัย ศิริกุลชยานนท์ ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนางานทางด้านการตรวจชิ้นเนื้อของกระดูก โดยการประยุกต์ใช้เลื่อยฉลุไฟฟ้ามาใช้ในการตัดชิ้นเนื้อกระดูก โดยใช้ชื่อว่า “Rama Bone Saw” ที่ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการนำเข้า สามารถตัดเนื้อกระดูกได้บางมากกว่าเครื่องที่ซื้อจากต่างประเทศ และย่นเวลาในการตรวจวินิจฉัยชิ้นเนื้อกระดูกให้สั้นลงมาก เป็นบุคคลแรกในประเทศไทยที่ได้รายงานผู้ป่วยโรค Paget’s disease ของกระดูก ซึ่งแต่เดิมเชื่อว่าไม่เกิดในคนไทย ปัจจุบันพบมากขึ้นในหลายสถาบัน มีผลงานดีเด่นด้านการสอน มีความเชี่ยวชาญทางด้านการสอนวิชาพยาธิวิทยาของโรคกระดูกและข้อให้กับนักศึกษาแพทย์และแพทย์ประจำบ้านของหลายสถาบัน
ศาสตราจารย์คลินิก ทันตแพทย์สุรชัย เดชคุณากร ภาควิชาทันตกรรมจัดฟัน คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต (วิทยาศาสตร์การแพทย์) จาก มหาวิทยาลัยมหิดล และทันตแพทยศาสตรบัณฑิต จาก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้คิดค้นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ “CephSmile” ที่ใช้ในการวิเคราะห์ความผิดปกติของโครงสร้างกะโหลกศีรษะใบหน้าและฟัน ซึ่งใช้ในการวางแผนการรักษาการสบฟันผิดปกติในทางทันตกรรมจัดฟัน โดยเป็นผลงานที่ทำให้ได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการประดิษฐ์ และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประเภทรางวัลประกาศเกียรติคุณจากสภาวิจัยแห่งชาติ เป็นต้นแบบให้แก่ลูกศิษย์ในเรื่องการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการทำงานและการสร้างสรรค์งานวิจัยใหม่