สธ. แนะวิธีการสวมเครื่องนุ่งห่มกันหนาว ลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากภัยหนาว

ข่าวทั่วไป Thursday January 23, 2014 12:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ม.ค.--โฟร์ พี แอดส์ สภาพอากาศยังมีความหนาวเย็นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในจังหวัดทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีรายงานข่าวการเสียชีวิต ที่คาดว่ามีสาเหตุจากอากาศหนาวเย็นทั้งในบ้านและนอกบ้าน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก คนสูงอายุหรือผู้ที่มีโรคเรื้อรัง วิธีการสวมเครื่องนุ่งห่มป้องกันความหนาวเย็น ลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากภัยหนาว คือการสวมเสื้อผ้าหลายๆชั้น เพราะจะทำให้ร่างกายอบอุ่นมากกว่าการสวมเสื้อผ้าหนาๆ ชั้นเดียว การสวมถุงมือ สวมถุงเท้า และพันผ้าพันคอ โดยเฉพาะในเวลานอนหลับตอนกลางคืน นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ได้รับแจ้งผู้เสียชีวิตที่คาดว่าอาจเกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศหนาว ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม 2556 - 19 มกราคม 2557 โดยสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รวมทั้งสิ้น 63 ราย โดยได้รับการสอบสวนจำนวน 49 ราย และรอรับรายงานการสอบสวนการเสียชีวิต 14 ราย มีเพียง 2 ราย ที่มีผลวินิจฉัยเสียชีวิตจากอากาศหนาวเย็น โดยไม่มีปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่น อีก 47 ราย การเสียชีวิตจากการมีโรคประจำตัวหรือโรคแทรกซ้อนมาก่อน ผู้เสียชีวิตจำนวน 63 ราย เพศชาย 57 ราย หญิง 5 ราย ไม่ทราบเพศ 1 ราย (ทารกชาวกัมพูชา) อายุระหว่าง 1 เดือน – 83 ปี เมื่อแยกตามสถานที่การเสียชีวิต พบว่าเสียชีวิตในอาคาร บ้านเรือน ร้อยละ 50.79 และเสียชีวิตนอกอาคาร เช่น ที่สาธารณะ หน้าบ้าน ข้างกองไฟ ร้อยละ 49.21 สถานที่ที่เสียชีวิตมากที่สุด คือ ภายในบ้านพักตนเอง โดยมีประวัติปัจจัยเสี่ยงเสริมที่เกี่ยวข้องคือการดื่มสุรา และสวมเครื่องนุ่งห่มไม่เพียงพอ ดังนั้นประชาชนควรเตรียมและสวมเสื้อผ้า หรือเครื่องนุ่งห่มกันหนาวให้เพียงพอ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ วิธีการสวมเสื้อผ้าหรือเครื่องนุ่งห่มกันหนาวที่จะช่วยให้ร่างกายไม่สัมผัสกับอากาศหนาวเย็นจนทำให้เกิดการเจ็บป่วยหรืออาจจะเสียชีวิต ดังนี้ 1. เตรียมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มให้เพียงพอกับสมาชิกในครอบครัว ไม่จำเป็นต้องหนามาก แต่ให้สวมหลายๆ ชั้น และเสื้อผ้าสะอาด ควรเป็นเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว เสื้อผ้าที่ต้องเตรียมในแต่ละวัน คือ 1.1 ชุดที่สวมชั้นในที่สุด สวมกางเกงชั้นในและสวมเสื้อกล้าม 1.2 ชุดลำลอง เป็นเสื้อแขนสั้นและกางเกงขายาวก็ได้ 1.3 เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว 1.4 ผ้าพันคอหรือผ้าขาวม้า สำหรับเด็กใช้ผ้าอ้อมเก่าก็ได้และถุงเท้า 1.5 ถ้าอากาศเย็นจัดอาจจะสวมถุงพลาสติกหรือกระดาษเพิ่มอีกชั้นก็ได้ (ใช้ถุงพลาสติกที่ได้มาจากร้านสะดวกซื้อก็ได้ แต่ต้องสะอาดและไม่เปียกน้ำ หรืออาจจะใช้กระดาษหนังสือพิมพ์หรือกระดาษอื่นๆ ใช้ซ้อนหลายชั้นรองด้านในถุงพลาสติก) วิธีการสวมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มกันหนาว สำหรับเด็กเล็ก 1. สวมกางเกงชั้นในและสวมเสื้อกล้าม 2. สวมชุดลำลอง 3. ถ้าอากาศเย็นจัดอาจจะสวมถุงพลาสติกหรือกระดาษเพิ่มอีกชั้น 4. สวมเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว 5. พันผ้าพันคอหรือผ้าขาวม้า สำหรับเด็กใช้ผ้าอ้อมเก่าก็ได้ สวมถุงเท้า สำหรับผู้ใหญ่หรือผู้สูงอายุ 1. สวมกางเกงชั้นในและสวมเสื้อกล้าม 2. สวมชุดลำลอง 3. ถ้าอากาศเย็นจัดอาจจะสวมถุงพลาสติกหรือกระดาษเพิ่มอีกชั้นก็ได้ 4. สวมเสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว 5. พันผ้าพันคอหรือผ้าขาวม้า และสวมถุงเท้า นายแพทย์โสภณ กล่าวต่อว่า ประชาชนสามารถทำเสื้อกันหนาวจากถุงพลาสติก เพื่อป้องกันร่างกายสัมผัสอากาศหนาวเย็นได้เช่นกัน วิธีทำดังนี้ 1. เลือกถุงพลาสติก - ใช้ถุงพลาสติกอะไรก็ได้ แต่ต้องสะอาดและไม่เปียกน้ำ สกปรกหรือเปื้อนเศษอาหารหรือเครื่องดื่ม ถ้าเปื้อนหรือสกปรก ควรล้างให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่หรือผงซักฟอกก็ได้ แล้วผึ่งให้แห้งก่อนสวมใส่ - ถุงพลาสติก ควรมีความหนาพอสมควร เพราะถ้าถุงพลาสติกบางมากอาจขาดง่ายและต้องเปลี่ยนทุกวัน ถ้าไม่มีจริงๆ ใช้ถุงดำก็ได้ แต่อาจจะมีกลิ่นเหม็นพลาสติกมากกว่าถุงพลาสติกใส อย่าลืมว่า ถ้าเป็นถุงพลาสติกที่ใช้แล้วต้องทำความสะอาดก่อน - ขนาดของถุงพลาสติกต้องใหญ่กว่าตัวผู้สวมใส่เล็กน้อย เพราะจะได้สวมใส่สบาย ถ้าถุงพลาสติกเล็กเกินไปก็จะอึดอัด ถ้าใหญ่เกินไปก็จะทำให้รู้สึกรำคาญ สวมใส่ไม่สะดวก 2. ตัดถุงพลาสติกให้เป็นรูทะลุ บริเวณที่จะทำเป็นคอและแขนทั้งสองข้าง ให้รอบทะลุขนาดใหญ่กว่าศีรษะและแขนผู้สวมใส่เล็กน้อย ขั้นตอนการสวมใส่เสื้อผ้าปกติร่วมกับเสื้อพลาสติก 1. สวมใส่ชุดชั้นใน แล้วสวมเสื้อกล้ามหรือเสื้อยืดคอกลมก่อนที่จะสวมเสื้อพลาสติกที่เตรียมไว้ ถ้าอากาศเย็นจัดมาก อาจจะสอดกระดาษหรือหนังสือพิมพ์ไว้ตรงกลางระหว่างเสื้อคอกลมกับเสื้อพลาสติกก็ได้ 2. สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ทับด้านนอกสุด เท่านี้ก็ไม่มีใครทราบว่าท่านสวมถุงพลาสติกอยู่ด้านในและอบอุ่นในราคาประหยัดด้วย เพราะเสื้อพลาสติกกับกระดาษจะเป็นฉนวนกันความร้อนของร่างกายออกไป และกันอากาศหนาวเย็นเข้ามาสัมผัสผิวกายได้ สามารถประยุกต์ใช้เวลาขับขี่รถจักรยาน รถจักรยานยนต์ และเตรียมเสื้อคลุมและ/หรือหมวกเพิ่ม ที่สำคัญให้หาผ้าพันคอหรือผ้าขาวม้าก็ได้พันรอบคออีกชั้น สำหรับเด็กใช้ผ้าอ้อมเก่าได้ แต่ระวังในเด็กเล็กๆ อย่าพันคอแน่นมากเกินไป และระวังอย่าคลุมศีรษะ จมูกและปากเด็กจนมิด เพราะเด็กอาจขาดอากาศหายใจ เสียชีวิตได้ “สิ่งที่เน้นย้ำคือประชาชนควรเตรียมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มให้เพียงพอกับสมาชิกในครอบครัว ไม่จำเป็นต้องหนามาก แต่ให้สวมหลายๆ ชั้น และเสื้อผ้าสะอาด ควรเป็นเสื้อแขนยาว และกางเกงขายาว ระวังอย่าดื่มสุราเพื่อแก้หนาว เพราะนอกจากจะไม่หายหนาวอาจทำให้ท่านเสียชีวิตถ้าท่านไม่สวมใส่เสื้อผ้าที่อบอุ่นเพียงพอ การดื่มเครื่องดื่มอุ่นๆ ช่วยให้ร่างกายอบอุ่นได้มากกว่า ระวังอย่านอนในที่โล่งแจ้งลมโกรก ถ้ามีอาการไข้หวัดควรสวมหน้ากากหรือใช้ผ้าปิดปากปิดจมูกจะช่วยป้องกันการแพร่เชื้อโรคไปให้ผู้อื่นได้ ถ้าเจ็บป่วยนานเกิน 2-3 วันไม่หายให้รีบพบแพทย์ ประชาชนที่มีความสนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรคโทร. 1422” นายแพทย์โสภณ กล่าวเพิ่มเติม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ