SET:ตลท.กำหนดแนวทางการจ่ายค่าตอบแทนให้พนักงานด้านการตลาดตามปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์

ข่าวทั่วไป Thursday March 5, 1998 12:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--ตลท.
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กำหนดแนวทางการจ่ายค่าตอบแทน ให้พนักงานด้านการตลาดของบริษัทสมาชิกและบริษัทสมาชิกที่มิใช่สมาชิกทุกบริษัทตามปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์
จากการที่บริษัทสมาชิกหลายบริษัทได้สอบถามไปยังตลาดหลักทรัพย์ว่าบริษัทสามารถจ่ายค่าตอบแทนแก่พนักงานด้านการตลาดโดยสัมพันธ์กับปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ได้หรือไม่นั้น ตลาดหลักทรัพย์ได้ชี้แจงว่าบริษัทสามารถจ่ายค่าตอบแทนในลักษณะดังกล่าวได้และโดยหลักการแล้ว บริษัทสามารถกำหนดโครงสร้างหรือรูปแบบการจ่ายค่าตอบแทนได้ตามความเหมาะสมตามที่บริษัทเห็นสมควร ซึ่งเป็นการบริหารงานภายในของบริษัท อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการจ่ายค่าตอบแทนในลักษณะที่สัมพันธ์กับปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ของพนักงานด้านการตลาด อาจเป็นช่องทางนำไปสู่การลดค่านายหน้าให้กับลูกค้า ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นการปฎิบัติที่ไม่ถูกต้อง อันเนื่องจากโครงสร้างค่านายหน้า ซึ่งกำหนดเป็นอัตราขั้นต่ำและอัตราคงที่ไว้ ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีลักษณะการกระทำดังกล่าว และเพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานคุณภาพ และการเป็นมืออาชีพของพนักงานด้านการตลาด ตลาดหลักทรัพย์จึงเห็นควรกำหนดแนวทางปฎิบัติในเรื่องดังกล่าว ดังนี้
1.พนักงานด้านการตลาดจะต้องเป็นพนักงานของบริษัท ซึ่งปฎิบัติงานเต็มเวลาและได้รับใบอนุญาตการเป็นเจ้าหน้าที่การตลาด
2.การจ่ายค่าตอบแทนให้พนักกงานการตลาด ส่วนหนึ่งต้องอยู่ในรูปของเงินเดือนประจำ ส่วนค่าตอบแทนที่สัมพันธ์กับปริมาณการซื้อขายให้จ่ายทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี แล้วแต่บริษัทเห็นสมควร
3.โครงสร้างค่าตอบแทนตามข้อ 2 จะต้องใช้เป็นการทั่วไปกับพนักงานด้านการตลาดทุกคน โดยมีการจัดทำระเบียบหรือสัญญาว่าจ้าง ซึ่งระบุหลักเกณฑ์เรื่องค่าตอบแทนที่ชัดเจน
4.บริษัทต้องกำกับดูแลพนักงานด้านการตลาดในการปฎิบัตงาน หรือการกระทำให้เป็นไปตามกฎระเบียบของตลาดหลักทรัพย์ และแนวทางการปฎิบัติงานของพนักงานด้านการตลาดอย่างเคร่งครัด โดยควรแจ้งให้พนักงานด้านการตลาดทราบถึงข้อห้ามและข้อควรปฎิบัติ เช่น การห้ามนำค่าตอบแทนไปใช้ในการลดค่านายหน้าให้กับลูกค้า และกระตุ้นให้ลูกค้าซื้อขายหลักทรัพย์บ่อยครั้งโดยไม่เป็นประโยชน์ต่อลูกค้า (CHURNING) เป็นต้น
กรณีที่พนักงานดังกล่าวไม่ปฎิบัติตามกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ เช่น พนักงานนำค่าตอบแทนที่ได้รับไปจ่ายเพื่อลดค่านายหน้าให้กับลูกค้า นอกจากพนักงานจะมีความผิดซึ่งอาจถูกลงโทษด้วยการภาคทัณฑ์ สั่งพักใบอนุญาตเป็นการชั่วคราว หรือเพิกถอนใบอนุญาตการเป็นเจ้าหน้าที่การตลาดแล้ว บริษัทก็มีความคิดในเรื่องการลดค่านายหน้าด้วย
5.บริษัทต้องมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ดูแลการปฎิบัติงาน (COMPLIANCE OFFICER) ของบริษัทติดตามดูแลการปฎิบัติตามข้อ 4 หากกรณีที่บริษัทหรือพนักงานไม่ปฎิบัติตาม ให้รายงานให้ตลาดหลักทรัพย์ทราบโดยทันที
นอกจากนี้ ในการพิจารณากำหนดค่าตอบแทนแก่พนักงานด้านการตลาด ตลาดหลักทรัพย์ได้กำหนดแนวทางไว้ว่าบริษัทไม่ควรมุ่งเน้นที่ปริมาณการซื้อขายเพียงอย่างเดียว แต่ควรพิจารณาถึงปัจจัยอื่นที่สะท้อนถึงคุณภาพของพนักงานด้วยเช่น การร้องเรียนจากลูกค้า หนี้เสียที่เกิดจากการที่ลูกค้าไม่สามารถชำระหนี้ เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้บริหารของบริษัทมีส่วนสำคัญอย่างมากในการกำหนดนโยบาย และสร้างวัฒนธรรมองค์กรในการดำเนินธุรกิจของบริษัทให้เป็นไปตามกฎหมายระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องตลอดจนการจัดให้มีระบบงานที่ได้ระดับมาตรฐาน เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนที่มีต่อบริษัทและธุรกิจหลักทรัพย์โดยรวม--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ