กรุงเทพฯ--24 ม.ค.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “BBB+” พร้อมทั้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 3,000 ล้านบาทของบริษัทที่ระดับ “BBB+” โดยบริษัทวางแผนจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ไถ่ถอนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดและใช้ในการขยายกิจการ
ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น “Positive” หรือ “บวก” จากเดิมที่ “Stable” หรือ “คงที่” ซึ่งสะท้อนถึงสัดส่วนภาระหนี้และความยืดหยุ่นทางการเงินของบริษัทที่ปรับตัวดีขึ้นหลังการปรับโครงสร้างทางธุรกิจอันมีผลทำให้บริษัทสามารถรับรู้มูลค่าตลาดของหุ้นของ บริษัท น้ำประปาไทย จำกัด (มหาชน) (TTW) ตลอดจนช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่หุ้นที่บริษัทถืออยู่ใน บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) (CKP) และหมดความกังวลเรื่องการให้ความช่วยเหลือทางการเงินอย่างต่อเนื่องแก่ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BMCL) ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Positive” หรือ “บวก” สะท้อนถึงสัดส่วนภาระหนี้และความยืดหยุ่นทางการเงินของบริษัทที่ปรับตัวดีขึ้นจากการปรับโครงสร้างทางธุรกิจซึ่งทำให้บริษัทสามารถรับรู้มูลค่าตลาดของหุ้นของ TTW อีกทั้งยังช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่หุ้นของ CKP และหมดความกังวลในการให้ความช่วยเหลือทางการเงินอย่างต่อเนื่องแก่ BMCL อันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถรักษาอัตราส่วนกำไรให้อยู่ในระดับสูงกว่า 5% และอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุน (ไม่รวมเงินกู้เพื่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงสัญญาที่ 4) ในระดับต่ำกว่า 67% หรือเงินกู้รวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นต่ำกว่า 2 เท่าต่อไปได้
ทั้งอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ของบริษัทสะท้อนถึงความเป็นผู้นำในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในประเทศไทย ตลอดจนผลงานที่เป็นที่ยอมรับในโครงการก่อสร้างพื้นฐานและโครงการที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง รวมทั้งความยืดหยุ่นทางการเงินจากมูลค่าเงินลงทุนเชิงกลยุทธ์ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวลดทอนลงบางส่วนจากความผันผวนในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ตลอดจนความเสี่ยงของสัญญาที่มีลักษณะต่อหน่วยแบบคงที่ (Fixed-price Contract) และภาระหนี้ที่สูงของบริษัท
บริษัท ช. การช่างก่อตั้งในปี 2515 โดยตระกูลตรีวิศวเวทย์ บริษัทเป็นหนึ่งในผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ 3 รายในตลาดหลักทรัพย์ของไทย และมีประสบการณ์ด้านการก่อสร้างตั้งแต่งานโยธาโครงสร้างพื้นฐานไปจนถึงโครงการที่มีความซับซ้อนสูง บริษัทมีเงินลงทุนในบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จำนวน 4 ราย ได้แก่ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BECL) BMCL TTW และ CKP นอกจากนี้ บริษัทยังลงทุนในบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อีก 1 ราย ได้แก่ บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด (XPCL)
ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 บริษัทมีงานรับเหมาก่อสร้างที่ยังไม่ส่งมอบมูลค่า 1.19 แสนล้านบาท โดยมีโครงการหลักได้แก่ โครงการเขื่อนไซยะบุรีซึ่งมีมูลค่า 5.3 หมื่นล้านบาท โครงการทางพิเศษศรีรัช วงแหวนรอบนอก มูลค่า 2.1 หมื่นล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงสัญญาที่ 4 มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวสัญญาที่ 1 มูลค่า 9 พันล้านบาท ทั้งนี้ โครงการเขื่อนไซยะบุรีมีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วน 45% ของมูลค่าโครงการที่ยังไม่ส่งมอบทั้งหมด
ในปี 2556 บริษัทได้ปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้แก่โครงสร้างเงินทุนและเพิ่มความยืดหยุ่นทางการเงินโดยได้รับเงินประมาณ 3.9 พันล้านบาทจากการขายหุ้นบางส่วนของ TTW (2.4 พันล้านบาท) ของ BMCL (1.1 พันล้านบาท) และของ XPCL (400 ล้านบาท) และคาดว่าจะได้รับเงินเป็นรายงวดอีก 913 ล้านบาทจากการขายหุ้นของ TTW ภายในเดือนเมษายน 2558 บริษัทบันทึกกำไรรวมประมาณ 7.5 พันล้านบาทจากรายการข้างต้นและเปลี่ยนวิธีการบันทึกบัญชีมูลค่าเงินลงทุนใน TTW เป็นวิธีสะท้อนมูลค่าตลาดแทนวิธีส่วนได้ส่วนเสียเดิม บริษัทมีความยืดหยุ่นทางการเงินที่ปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่ CKP จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในขณะที่สถานะทางการเงินของ BMCL ก็ปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่ BMCL ออกหุ้นเพิ่มทุน 8.55 พันล้านบาทและเปลี่ยนเงินกู้ที่ได้รับจากบริษัทมาเป็นส่วนทุนแทน ทั้งนี้ คาดว่า BMCL จะไม่จำเป็นต้องขอความช่วยเหลือทางการเงินจากบริษัทอีก
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 สถานะทางการเงินของบริษัทอยู่ในระดับตามประมาณการของทริสเรทติ้งโดยบริษัทมีรายได้อยู่ที่ 2.51 หมื่นล้านบาท ภายใต้สมมติฐานพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทน่าจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 3.2 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2557-2559 โดยจะเป็นรายได้จากโครงการเขื่อนไซยะบุรีประมาณ 8 พันล้านถึง 1 หมื่นล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ งานรับเหมาก่อสร้างในมือจำนวนมากที่บริษัทมีอยู่ในปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 80% ของประมาณการรายได้ บริษัทมีอัตราส่วนกำไร (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 อยู่ที่ 7.8% โดยคาดว่าอัตราส่วนกำไรเฉลี่ยของบริษัทจะอยู่ที่ระดับสูงกว่า 5% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า
ทริสเรทติ้งมองว่าภาระหนี้ของบริษัทอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตในปัจจุบันแม้ว่าบริษัทจะมีภาระหนี้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของผู้รับเหมาที่ได้รับอันดับเครดิตเท่ากัน ทั้งนี้ เนื่องจากโครงสร้างทางธุรกิจของบริษัทเป็นทั้งผู้รับเหมาและประกอบธุรกิจลงทุน โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 67.3% จากระดับ 77.0% ณ สิ้นปี 2555 อัตราส่วนเงินกู้รวมที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นผลมาจากส่วนของผู้ถือหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้นจากกำไรจากการขายหุ้นและการเปลี่ยนวิธีการบันทึกบัญชีมูลค่าเงินลงทุนใน TTW เป็นวิธีสะท้อนมูลค่าตลาด อย่างไรก็ตาม เงินกู้รวมของบริษัทยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 2.86 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2555 มาอยู่ที่ 3.41 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 เนื่องมาจากเงินทุนหมุนเวียนและค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนสำหรับโครงการเขื่อนไซยะบุรีเป็นหลัก ในช่วงไตรมาสข้างหน้า
ทริสเรทติ้งคาดว่ามูลค่าลูกหนี้ที่ยังไม่ได้เรียกชำระของบริษัทจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากการที่ XPCL จะเร่งเรียกชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนและเบิกเงินกู้เพื่อชำระคืนต้นทุนก่อสร้างโครงการไซยะบุรีที่บริษัทลงทุนไปล่วงหน้า ต้นทุนก่อสร้างล่วงหน้าดังกล่าวทำให้ลูกหนี้ที่ยังไม่ได้เรียกชำระของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นจาก 1 หมื่นล้านบาทในปี 2555 เป็น 1.42 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุน (ไม่รวมเงินกู้เพื่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงสัญญาที่ 4) ของบริษัทจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 67% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า
ในช่วงปี 2557-2559 เงินทุนจากการดำเนินงาน (รวมเงินปันผลจาก BECL และ TTW) ของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 1.7 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งน่าจะเพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนประมาณ 1 พันล้านบาทต่อปีและแผนลงทุนใน XPCL ประมาณ 800-1,000 ล้านบาทต่อปี ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 เงินลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนของบริษัทมีมูลค่ายุติธรรมที่ 1.8 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 54% ของภาระหนี้รวมของบริษัท ทั้งนี้ บริษัทมีเงินสดในมือและเงินลงทุนในหลักทรัพย์ระยะสั้นอยู่ที่ 8 พันล้านบาทและมีหนี้ระยะยาวที่จะถึงกำหนดชำระใน 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 1.12 หมื่นล้านบาท โดยหนี้ดังกล่าวคาดว่าจะชำระคืนด้วยกระแสเงินสดจากโครงการก่อสร้างหรือจากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่
บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) (CK)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
CK142A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 883.8 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 BBB+
CK143A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,100 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 BBB+
CK154A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 BBB+
CK167A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 BBB+
CK174A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 BBB+
CK187A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 BBB+
CK193A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2562 BBB+
หุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 3,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2563 BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Positive