กรุงเทพฯ--24 ม.ค.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม
ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ,ดร.กุลธิดา เสาวภาคย์พงศ์ชัย กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการ สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษาร่วมแถลงผลการสำรวจเยาวชนกรุงเทพฯกับการแบ่งปัน(Share)ข่าวสังคมทั่วไปผ่าน line ,Facebook และ Twitter ของวัยรุ่นอายุระหว่าง19-22 ปี จำนวน 1,108 คน ในระหว่างวันที่ 17-23 มกราคม 2557
จากผลการสำรวจสามารถสรุปได้ว่า กลุ่มตัวอย่างที่ทำการสำรวจส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 51.62 ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 37.73 มีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 19 - 22 ปี และกลุ่มตัวอย่างประมาณหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 32.58 จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแล้ว
สำหรับพฤติกรรมการ share ข่าวสารผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมานั้น กลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 88.09 ระบุว่าตนเองเคย share ข่าวสารผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ซึ่งจำแนกได้เป็นร้อยละ 63.72 เคยแบ่งปันบ้างเป็นบางครั้งและร้อยละ 24.37 หรือเกือบหนึ่งในห้าแบ่งปันเป็นประจำ ขณะที่มีกลุ่มตัวอย่างเพียงร้อยละ 11.91 ไม่เคย share ข่าวสารผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์เลย โดยที่ประเภทข่าวสารที่กลุ่มตัวอย่างนิยม share ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมาสูงสุด 5 อันดับได้แก่ ข่าวเด่นทั่วๆ ไป คิดเป็นร้อยละ 83.3 ข่าวสังคม คิดเป็นร้อยละ 80.12 ข่าวบันเทิง คิดเป็นร้อยละ 76.23 ข่าวการศึกษา คิดเป็นร้อยละ 73.36 และข่าวการเมือง คิดเป็นร้อยละ 70.8 สำหรับเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่กลุ่มตัวอย่างนิยม share ข่าวสารผ่านสูงสุด 3 อันดับคือ Line คิดเป็นร้อยละ 83.71 Facebook คิดเป็นร้อยละ 82.07 Twitter คิดเป็นร้อยละ 79.91 ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 76.33 นิยมแชร์ข่าวผ่าน Pantip ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 73.16 และร้อยละ 70.39 นิยมแชร์ผ่าน Instagram และ WhatsApp ตามลำดับ
สำหรับการพิจารณาเนื้อหาข่าวสารก่อนที่จะทำการ share ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์นั้น กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 69.67 ระบุว่า ตนเองพิจารณาเนื้อหาของข่าวสารให้ถี่ถ้วนก่อน shareผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ แต่อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มตัวอย่างถึงเกือบหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 30.33 ยอมรับว่าตนเองไม่ได้พิจารณาเนื้อหาของข่าวสารให้ถี่ถ้วนก่อน share ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่มีผลให้ตัดสินใจ share ข่าวสารผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์สูงสุด 5 อันดับได้แก่ เนื้อหาของข่าวสาร คิดเป็นร้อยละ 83.2 ความน่าสนใจของข่าวนั้นๆ คิดเป็นร้อยละ 81.25 ส่วนประกอบ เช่น ภาพ เสียง คิดเป็นร้อยละ 77.97 ที่มา/แหล่งอ้างอิง คิดเป็นร้อยละ 76.13 และสาระ/ประโยชน์ที่จะได้รับจากข่าวนั้นๆ คิดเป็นร้อยละ 72.54
ส่วนความคิดเห็นต่อความน่าเชื่อถือและความถูกต้องของข่าวสารที่มีการ share ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์กันอยู่ในปัจจุบัน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 45.76 และร้อยละ 44.95 มีความคิดเห็นว่าข่าวสารที่มีการ share ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ในปัจจุบันมีความน่าเชื่อถือและความถูกต้องปานกลางตามลำดับ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างประมาณหนึ่งในห้าระบุว่ามีความน่าเชื่อถือและความถูกต้องน้อย ขณะเดียวกัน สิ่งสำคัญสูงสุด 5 อันดับ ที่จะช่วยให้กลุ่มตัวอย่างเชื่อได้ว่าข่าวสารที่มีการ share ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์มีความน่าเชื่อถือ/ถูกต้องคือ ที่มา/แหล่งอ้างอิงของข่าวสารนั้นๆ คิดเป็นร้อยละ 83.12 ส่วนประกอบ เช่น ภาพ เสียง คิดเป็นร้อยละ 80.23 รายละเอียดเนื้อหาของข่าวสารนั้นๆ คิดเป็นร้อยละ 77.08 ผู้ให้ข่าว/แหล่งข่าว/แหล่งข้อมูลที่ประกอบอยู่ในข่าวนั้นๆ คิดเป็นร้อยละ 74.46 และการนำเสนอข่าวนั้นๆ ทางสื่ออื่นๆ คิดเป็นร้อยละ 72.02 นอกจากนี้ หากปรากฏว่าข่าวสารที่มีการ share กันผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์มีเนื้อหาข้อมูลที่เป็นเท็จ/ไม่ถูกต้อง กลุ่มตัวอย่างเกือบครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 48.56 มีความคิดเห็นว่าผู้เผยแพร่ข่าวสารเป็นลำดับแรกสมควรได้รับการลงโทษมากกว่าผู้ share ข่าวสารนั้นๆ อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างประมาณหนึ่งในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 25.54 มีความคิดเห็นว่าสมควรได้รับการลงโทษเท่าๆ กัน และกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ประมาณสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 68.14 มีความคิดเห็นว่าหากมีการควบคุมการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในการshare ข่าวสาร จะไม่ส่งผลให้มีการ share ข่าวสารน้อยลง