กรุงเทพฯ--24 ม.ค.--เอเอสวี อินเตอร์ กรุ๊ป
นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ อธิบดีกรมป่าไม้ ประธานเปิดงานโครงการรณรงค์ “ไม่เผาป่า รักษาธรรมชาติ อากาศบริสุทธิ์” ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน โดยเริ่ม Kick off จากจังหวัดเชียงรายเป็นจังหวัดแรก โครงการดังกล่าวจะดำเนินการในช่วงระหว่างวันที่ 22 มกราคม -10 กุมภาพันธ์ 2557 โดยมีการจัดกิจกรรมปล่อยขบวนเดินรณรงค์พร้อมขบวนรถประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ ไปตามจังหวัดต่างๆ ใน 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และตาก เพื่อปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันไฟป่าและควบคุมหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือ อีกทั้งยังเป็นการสร้างกระแสความตื่นตัวในการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อร่วมกันป้องกันและแก้ไปปัญหาหมอกควันและไฟป่า รวมทั้งลดการเผาในที่โล่งตั้งแต่เนิ่นๆ ในช่วงต้นปี เพื่อป้องกันปัญหาและลดผลกระทบต่อสภาพป่าและระบบนิเวศที่เกิดจากไฟป่า รวมไปถึงสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่
นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัญหาหมอกควันที่เกิดจากไฟป่าใน 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ พะเยา เชียงราย น่าน แม่ฮ่องสอน และจังหวัดตาก สาเหตุสำคัญมาจากปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่ง และพื้นที่เกษตรกรรม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพของประชาชน ทางด้านเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นระหว่างช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน ของทุกปี ดังนั้นกรมป่าไม้จึงได้ดำเนินการวางแผนดำเนินงานป้องกันและควบคุมไฟป่า ในปี 2557 เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ให้ไว้ที่เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2556 โดยให้แต่ละหน่วยงานบูรณาการในการทำงาน และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นศูนย์กลางในการบริหารสั่งการในแต่ละจังหวัด อีกทั้งนโยบายนายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น CEO และให้ผู้ว่ากำหนดช่วงวิกฤตที่จะดำเนินการเองในแต่ละจังหวัดอีกทั้งจัดการพื้นที่เสี่ยงในระดับจังหวัดโดยมีตัว ชี้วัดของจังหวัดเพื่อมุ่งสู่ผลสำเร็จ
นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวต่อว่า ในส่วนของกรมป่าไม้ ได้มีการประยุกต์ระบบในการนำมาใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานของกรมป่าไม้ในปี 2557 โดยมีแผนงานเตรียมจัดโครงการ “ไม่เผาป่า รักษาธรรมชาติ อากาศบริสุทธิ์” ขึ้น โดยจัดขบวนรณรงค์ประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อให้สอดคล้องกับการกำหนดให้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็น “วันปลอดควันพิษจากไฟป่าทั่วประเทศ” พร้อมทั้งการสนธิกำลังในการควบคุมไฟป่าร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ และจัดตั้งชุดเฉพาะกิจเคลื่อนที่เร็วควบคุมไฟป่าในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน
พร้อมทั้งเตรียมจัดประชุมและฝึกอบรมแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานส่งเสริมการควบคุมไฟป่าที่มี อยู่จำนวน 54 หน่วย และศูนย์ส่งเสริมการควบคุมไฟป่าทั้ง 5 ศูนย์ทั่วประเทศ และจัดทำแนวกันไฟในพื้นที่ เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าซ้ำซ้อนทั่วประเทศจำนวน 3,500 กิโลเมตรขึ้นด้วย
นอกจากนี้ กรมป่าไม้ยังได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด แจ้งนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้กำกับการสถานีตำรวจท้องที่ ให้สอดส่องดูแลมิให้ผู้ใดเข้าไปเผาป่า บุกรุก ถือครองพื้นที่ป่าไม้ แม้ว่าพื้นที่ป่านั้นจะถูกไฟไหม้จนไม่มีสภาพป่าแล้วก็ตาม หากผู้ใดฝ่าฝืนให้ดำเนินการจับกุมและดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1-13 และสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้สาขาทุกสาขา ได้สั่งการเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการในลักษณะเดียวกัน ขณะเดียวกันกรมป่าไม้ยังได้นำเทคโนโลยีและสารสนเทศในการปฏิบัติงานควบคุมไฟป่า โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์(GIS)ในการปฏิบัติงานควบคุมไฟป่าในพื้นที่ ป่าสงวนแห่งชาติ โดยใช้ข้อมูลจุดพิกัดความร้อน (Hot spot) ในการติดตามการเกิดไฟป่า แล้วถ่ายทอดลงในแผนที่เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานด้วย สำหรับการถ่ายโอนภารกิจด้านการควบคุมไฟป่าให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ตามภารกิจการถ่ายโอนการควบคุมไฟป่าในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแก่ อปท. รวมทั้งสิ้น 2,747 แห่งนั้น ปัจจุบันกรมป่าไม้ได้ถ่ายโอนภารกิจไปแล้วทั้งสิ้น จำนวน 2,439 แห่งยังคงเหลือ อปท. ที่ยังไม่ได้ถ่ายโอนภารกิจ จำนวน 183 แห่ง
นายบุญชอบ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในการดูแลป้องกันไฟป่าเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะช่วยกับเป็นหูเป็นตา ในการช่วยกันสอดส่องดูแลในพื้นที่ของตน และกรมป่าไม้ในฐานะของหน่วยงานภาครัฐ ขอความร่วมมือร่วมใจทุกคนไม่เผาป่า ไม่ว่าจะเป็นการแผ้วถางแล้วนำไปเผาเพื่อการเกษตร หรือการเผาสิ่งต่างๆ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพยั่งยืนตลอดไปและหากท่านใดพบเห็นไฟป่าสามารถแจ้งให้กับเจ้าหน้าที่ทราบได้ที่สายด่วน Green call 1310 กด 3 หรือสายด่วนนิรภัยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 1784 และสามารถเข้าไปที่เว็บไซด์กรมป่าไม้ www.forest.go.th เพื่อแจ้งเข้าไปที่ระบบรับเรื่องร้องเรียนของกรมป่าไม้ได้ตลอด 24 ชั่วโมง