กรุงเทพฯ--24 ม.ค.--เอเอสวี อินเตอร์ กรุ๊ป
กรมป่าไม้ เดินหน้าสานภารกิจเครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่างบประมาณหมู่บ้านละ 100,000 บาท 100 หมู่บ้านทั่วประเทศ ซึ่งหมู่บ้านเครือข่ายเป้าหมายจะอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า โดยเครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่าจะทำหน้าที่ในการจัดทำข้อมูลพื้นฐาน การประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ การจัดซื้ออุปกรณ์ดับไฟป่า การจัดหาอาสาสมัครควบคุมไฟป่า และการดำเนินการควบคุมไฟป่า และกรมป่าไม้จะจัดเจ้าหน้าที่จากหน่วยส่งเสริมการควบคุมไฟป่าของกรมป่าไม้ ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการให้ความรู้และฝึกทักษะในการปฏิบัติงานป้องกันและควบคุมไฟป่า รวมถึงการบูรณาการความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน ภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อประสานภารกิจนี้ให้สมบูรณ์ตามเป้าหมาย
นางอำนวยพร ชลดำรงค์กุล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจัดการและควบคุมป่าไม้ กรมป่าไม้ กล่าวว่า กรมป่าไม้ ได้ดำเนินการโครงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่าเริ่มตั้งแต่ปี 2556 โดยโครงการในปีที่ผ่านมาได้รับเงินสนับสนุนจากกรมป่าไม้นั้น ทำให้มีการจัดตั้งเครือข่ายป้องกันไฟป่า มีการรวมตัวกันของชุมชนใกล้เคียงในการป้องกันไฟป่า ร่วมกันทำกิจกรรมทำแนวป้องกันไฟ จัดชุดลาดตระเวนในการลงพื้นที่เพื่อดูสถานการณ์ไฟป่า ร่วมถึงการทำกิจกรรมเสริม เช่น การทำฝายชะลอน้ำ การปลูกป่าเสริม ได้ส่งผลมาในรูปของสภาพป่าที่เริ่มมีความอุดมสมบูรณ์ และมีความชุ่มชื้นเพิ่มขึ้น และในปีงบประมาณ 2557 กรมป่าไม้ก็จะได้จัดทำโครงการป้องกันและควบคุมไฟป่าของเครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่า เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการสร้างเครือข่ายจำนวน 100 หมู่บ้านทั่วประเทศ หมู่บ้านละ 100,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 10,000,000 บาท
นางอำนวยพร กล่าวเพิ่มเติมว่า หมู่บ้านแสนเจริญมีการจัดการป่าชุมชนระยะห่างจากหมู่บ้าน 1 กิโลเมตร คือ การห้ามมิให้มีการตัดไม้หรือโค่นต้นไม้โดยกรณีใดๆ การจัดการในรูปแบบนี้ เป็นการจัดการเพื่อการใช้สอยทรัพยากรธรรมชาติอย่างเท่าเทียมกัน คือการจัดการเพื่อหาอาหาร ซึ่งนอกจากป่าชุมชนเเล้วยังมีป่าเบญจพรรณ และเต็มไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด ในเขตบริเวณนี้สามารถขุดหาหน่อไม้ หาเห็ด หาผักได้ แต่ไม่ให้มีการจับจองเป็นพื้นที่ทำกิน เนื่องจากพื้นที่นี้มีการอนุรักษ์ไว้เพื่อเป็นตลาดเลี้ยงปากท้องของคนในชุมชน รวมถึงการจัดการที่ดินทำมาหากินที่มีมาตั้งแต่ในอดีต คือมีการจับจองพื้นที่ไว้ และมีการทำไร่หมุนเวียนมาจนถึงปัจจุบัน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบนี้ เป็นการรักษาและอนุรักษ์แบบความเชื่อดั้งเดิมของอ่าข่า ซึ่งนอกจากการจัดการที่เป็นระบบและความเชื่อก็มีส่วนอย่างมากในการรักษาความ สมดุลของระบบนิเวศน์อีกด้วย
ทั้งนี้ เครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่าหมู่บ้านแสนเจริญ เป็นเครือข่ายเข้มแข็งในการร่วมกันของคนชุมชนในการดูแลป้องกันไฟป่า ด้วยพื้นที่ของหมู่บ้านจะอยู่ให้พื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าโดยได้รับผล กระทบโดยตรงจากปัญหาไฟป่า เพราะส่วนใหญ่แล้วคนในชุมชนประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำให้พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่โล่งปลูกพืชเกษตรกรรมและภายหลังเก็บเกี่ยวพืชผลแล้ว ก็จะเหลือเพียงซากของพืชซึ่งเป็นต้นเหตุหนึ่งของการเกิดไฟป่า เมื่อชุมชนได้จัดตั้งกันเป็นเครือข่ายป้องกันไฟป่าและได้รับเงินงบประมาณเพื่อใช้ในการดูแล ป้องกันไฟป่า และได้บริหารจัดการงบประมาณ โดยการจัดทำข้อมูลพื้นฐานเครือข่าย การจัดกิจกรรมโดยการจัดหาอาสาสมัครควบคุมไฟป่า การจัดฝึกอบรมอาสาสมัครควบคุมไฟป่า การจัดเตรียมอุปกรณ์เครื่องมือดับไฟป่า จัดชุดลาดตระเวนตรวจหาไฟป่า จัดหาเชื้อเพลิง รวมทั้งการควบคุมการเผาในที่โล่ง การรณรงค์ประชาสัมพันธ์การป้องกันและควบคุมไฟป่า และการรณรงค์ให้หมู่บ้านเครือข่ายฯให้เป็นหมู่บ้านปลอดการเผา กรมป่าไม้จึงสนับสนุนให้เครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่าหมู่บ้านแสนเจริญเป็นชุมชนต้นแบบในการควบคุมไฟป่าทำให้ทรัพยากรป่าไม้ได้รับการดูแลรักษาและปัญหาไฟป่าได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องและยั่งยืน.