กรุงเทพฯ--20 พ.ค.--ไทยธนาคาร
สำนักวิจัย ธนาคาร ไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) เผยแพร่รายงานวิจัยเรื่อง ขาดดุลการค้า : ภาคบริการคือความหวัง แต่ยังต้องปรับตัว โดยสำนักวิจัย มองว่าภาคบริการที่ไทยเกินดุลโดยตลอด และมีแนวโน้มเกินดุลต่อเนื่อง จะมีบทบาทอย่างสำคัญในการชดเชยการขาดดุลการค้า ตลอดจนลดผลกระทบต่อดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งในไตรมาสแรกของปี 2548 ไทยขาดดุลการค้าจำนวน 3,225 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ สำนักวิจัยคาดว่าในปี 2548 ไทยจะขาดดุลการค้าประมาณ 4.8 — 5.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยที่การนำเข้าของไทยในอนาคตยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลงทุนในโครงการ Mega Projects ของรัฐบาลในช่วงปี 2548 — 2552 วงเงิน 1.702 ล้านล้านบาท ที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณากลางเดือนมิถุนายนนี้ ทั้งนี้ดุลบริการที่จะเพิ่มสูงขึ้น พิจารณาจากการเพิ่มรายรับและลดรายจ่ายในดุลบริการ เนื่องจากรายรับและรายจ่ายด้านบริการบางประเภทสามารถผลักดันให้เกิดผลได้ในระยะสั้น เช่น ด้านการท่องเที่ยว และการทำงานในต่างประเทศของแรงงานไทย
คุณองอาจ ทิวะหุต หัวหน้าส่วนวิเคราะห์อุตสาหกรรม สำนักวิจัย ธนาคารไทยธนาคาร มีความเห็นว่ารัฐบาลต้องหันมาทบทวนนโยบาย — ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของประเทศอีกครั้ง เพราะนอกจากจะส่งเสริมให้ชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยแล้ว จะต้องส่งเสริมให้คนไทยให้ความสนใจในการท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น เพื่อลดการใช้จ่ายจากการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2547 จำนวนคนไทยที่เดินทางออกนอกประเทศมีจำนวนถึง 2.7 ล้านคน หรือขยายตัวถึง 25.9% โดยประเมินว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของคนไทย คือ กำลังซื้อหรือภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ค่าเงินบาท และ นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวในเชิงรุกของประเทศต่าง ๆ และสำนักวิจัย คาดว่า การท่องเที่ยวต่างประเทศของคนไทย ( Out Bound ) ในปี 2548 จะขยายตัวประมาณ18 — 20%
สำนักวิจัยมองว่าในระยะสั้นสามารถผลักดันและสนับสนุนให้แรงงานไทยที่มีความสามารถและมีทักษะ เดินทางไปทำงานต่างประเทศ เพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยภาครัฐคอยให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่แรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานยังต่างประเทศ รวมทั้งการหาแหล่งงานและตำแหน่งงานในประเทศต่าง ๆ รองรับแรงงานไทย
ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ที่ปรึกษาสำนักวิจัย ธนาคารไทยธนาคาร มองว่า เศรษฐกิจไทย ในระยะสั้นจะยังประสบปัญหาการขาดดุลการค้าไปอีกระยะหนึ่ง แต่ดุลบัญชีเดินสะพัดตลอดปี พ.ศ. 2548 จะยังเกินดุลอยู่ อย่างไรก็ตาม หากเศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตที่ระดับ 5-6% ในระยะ 3-4 ปีข้างหน้า โดยมีภาคการลงทุนขยายตัวในระดับสูงและมีสัดส่วนของภาคการลงทุนต่อจีดีพีมากกว่า 30% จะทำให้ประเทศไทยมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดได้ในระดับ 2-2.5% ต่อจีดีพี จึงต้องมีนโยบายบริหารการนำเข้าที่ดี พร้อมกับการปรับโครงสร้างการผลิตและภาคส่งออก ในระยะสั้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันยังทำได้ค่อนข้างจำกัด ขณะที่ความต้องการของตลาดโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ แรงกดดันต่อภาคส่งออกเพิ่มขึ้น นอกจากนี้โครงการ Mega Projects ที่จะเริ่มตั้งแต่ปี 2548 ทำให้ต้องนำเข้าสินค้าจำนวนมาก ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูงล้วนเป็นปัจจัยที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด
ดุลการค้า ดุลบริการ และดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย
หน่วย : ล้านดอลลาร์สหรัฐ
รายการ 2544 2545 2546 2547 2548
( ม.ค. — มี.ค. )
การส่งออก 63,070 66,092 78,105 96,064 24,684
การนำเข้า -60,576 -63,353 -74,346 -94,382 -27,909
ดุลการค้า 2,494 2,739 3,759 1,682 -3,225
ดุลบริการ 3,711 4,269 4,206 5,607 1,726
ดุลบัญชีเดินสะพัด 6,205 7,008 7,965 7,289 -1,499
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
องอาจ ทิวะหุต
หัวหน้าส่วนวิจัยอุตสาหกรรมและวิเคราะห์บริษัท
สำนักวิจัยไทยธนาคาร
โทร. 0-2638-8408
e-mail: aongart.divahuta@bankthai.co.th--จบ--