กรุงเทพฯ--28 ม.ค.--PwC ประเทศไทย
‘ซีอีโอทั่วโลก’ มั่นใจการเติบโตรายได้ในระยะ 12 เดือนข้างหน้า หลังผลสำรวจเผยเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ-ยุโรป อย่างไรก็ดี ผู้บริหารฯเรียกร้องให้ผู้นำประเทศตื่นตัวในเรื่องของการรักษาวินัยทางการคลัง การผลักภาระภาษี และการควบคุมและกำกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากเกินไป นอกจากนี้ ยังระบุ ‘ไทย’ ติดหนึ่งใน 10 ตลาดนอกกลุ่มประเทศ BRIC ที่น่าลงทุนใน 3-5 ปีข้างหน้า
บริษัท PwC ประเทศไทย (ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส) เผยผลสำรวจล่าสุด ชี้ซีอีโอทั่วโลกมั่นใจการเติบโตรายได้ทางธุรกิจ (Revenue growth) ในระยะ 12 เดือนข้างหน้า หลังได้รับปัจจัยบวกจากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ-ยุโรป แต่มองการเติบโตของตลาดกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging economies) ในบางประเทศจะชะลอความร้อนแรงในปีนี้ นอกจากนี้ ผู้บริหารฯยังเรียกร้องให้ผู้นำประเทศตื่นตัวในเรื่องของการรักษาวินัยทางการคลัง การผลักภาระภาษี และการควบคุมและกำกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากเกินไป และระบุว่า ‘ไทย’ เป็นหนึ่งใน 10 ตลาดนอกกลุ่มประเทศ BRIC ที่น่าลงทุนในอีก 3-5 ปีข้างหน้า
นาย ศิระ อินทรกำธรชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวถึงผลสำรวจ Global CEO Survey ครั้งที่ 17 ที่ใช้ในการประชุม World Economic Forum (WEF) ณ กรุง ดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ในปีนี้ว่า มีซีอีโอทั่วโลกที่ทำการสำรวจถึงร้อยละ 39 จากจำนวนทั้งสิ้น 1,344 คนใน 68 ประเทศที่แสดงความมั่นใจมากต่อการเติบโตของรายได้ปี 2557 โดยความเชื่อมั่นในปีนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ร้อยละ 36 และระดับต่ำสุดที่ร้อยละ 21 ในปี 2552
“ความเชื่อมั่นในหมู่ซีอีโอทั่วโลกเริ่มฟื้นคืนกลับมาในปีนี้ เราเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีจากแรงผลักดันเศรษฐกิจโลกฝั่งตะวันตกอย่าง อเมริกาและยุโรป หลายๆคนเริ่มมีมุมมองที่เป็นบวกต่อทิศทางเศรษฐกิจโลกและคาดว่าแนวโน้มการเติบโตรายได้ของตนจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เปรียบเทียบกับปีก่อนที่ภาพรวมค่อนข้างอ่อนแอ” นายศิระ กล่าว
ผลสำรวจล่าสุดยังระบุว่า ซีอีโอมีความมั่นใจต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก (Global economy) เพิ่มขึ้นเป็นกว่าสองเท่าของปีที่ผ่านมา โดยมีผู้บริหารฯถึงร้อยละ 44 ในปีนี้ เปรียบเทียบกับปีก่อนที่ร้อยละ 18 ที่เชื่อมั่นในการฟื้นตัวของสถานะทางเศรษฐกิจ และมีซีอีโอเพียงร้อยละ 7 เท่านั้น ที่เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะมีการปรับตัวลดลง เปรียบเทียบกับปีก่อนที่ร้อยละ 28
“แต่ถึงแม้ว่าภาพรวมจะดูสดใสขึ้น เทรนด์ในปีนี้จะยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากทั้งภายในและภายนอกที่ต้องจับตามอง ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยเรื่องของ QE Tapering, การชะลอตัวของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศ Emerging markets รวมทั้งความกังวลในเรื่องของการควบคุมและกำกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากเกินไปในบางประเทศ” นายศิระ กล่าว
แม้ทิศทางการเติบโตของตลาดกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging economies) จะชะลอความร้อนแรงลงในปีนี้ หลังนักลงทุนบางส่วนหันกลับไปเพิ่มสินทรัพย์ และขยายการลงทุนในตลาดตะวันตกที่กำลังฟื้นตัว ผลสำรวจระบุว่า ประเทศที่ซีอีโอทั่วโลกมองเป็นเป้าหมายหลักของการลงทุนนอกเหนือไปจากกลุ่มประเทศ BRIC (บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน) 10 อันดับแรกในปีนี้ ได้แก่ เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (Advanced economies) เช่น สหรัฐอเมริกา (อันดับ 1), เยอรมนี (อันดับ 3), สหราชอาณาจักร (อันดับ 5), ญี่ปุ่น (อันดับ 7), ออสเตรเลีย (อันดับ 9) และตลาดที่มีการเติบโตสูง (Growth markets) ได้แก่ อินโดนีเซีย (อันดับ 2), เม็กซิโก (อันดับ 4), ตุรกี (อันดับ 6), ไทย (อันดับ 8) และเวียดนาม (อันดับ 10)
“ในส่วนของประเทศไทย แม้บรรยากาศทางการเมืองจะเข้ามาสร้างความกังวลให้แก่นักลงทุนส่วนใหญ่ในรอบ 2-3 เดือนที่ผ่านมา แต่เราเชื่อว่าปัจจัยพื้นฐานของไทยยังคงแข็งแกร่ง ผลการดำเนินงานของบริษัทในหลายๆ Sector ที่ออกมาก็ยังคงสะท้อนถึงการเติบโตในระยะยาว แม้การลงทุนจากต่างชาติที่ยังไม่ได้เข้ามาอาจจะยัง Hold ไว้ก่อน แต่ผมเชื่อว่าในส่วนที่เข้ามาแล้ว ก็ยังเดินหน้าต่อไป” นายศิระกล่าว
“ผมยังมองว่าต่างชาติมองบ้านเรามีศักยภาพดีอยู่ เมื่อมองภาพใหญ่แล้วยังถือว่าน่าลงทุน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคงไม่ทำให้ความเชื่อมั่นในระยะยาวลดน้อยถอยลงไป แต่เป็นเรื่องของ Timing มากกว่า ผลสำรวจในปีนี้ยังเป็นเครื่องชี้วัดได้เป็นอย่างดีว่ามุมมองซีอีโอทั่วโลกต่อแนวโน้มการเติบโตบ้านเราใน 3-5 ปีข้างหน้ายังคงเป็นบวก”
ทั้งนี้ ผลสำรวจ PwC’s Annual Global CEO Survey: Fit for the future – Capitalising on global trends ถูกจัดทำขึ้นระหว่าง เดือน กันยายน ถึง ธันวาคม 2556 โดยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้บริหารระดับสูง หรือ ซีอีโอ ทั่วโลกจำนวน 1,344 คนใน 68 ประเทศทั้งในทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ เอเชียแปซิฟิก แอฟริกา ตะวันออกกลาง และละตินอเมริกา ครอบคลุม 21 อุตสาหกรรมชั้นนำ ผ่านการทำแบบสอบถามออนไลน์ การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์และแบบตัวต่อตัว นอกจากนี้ มีบริษัทที่ร่วมทำการสำรวจในปีนี้ถึงร้อยละ 44 มีรายได้รวมมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี และมีบริษัทชั้นนำจากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน จำนวน 6 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ (18 ราย), ไทย (16 ราย), อินโดนีเซีย (11 ราย), เวียดนาม (11 ราย), มาเลเซีย (9 ราย) และฟิลิปปินส์ (5 ราย)
สำหรับกลยุทธ์ในการมองหาโอกาสและขยายธุรกิจใหม่ๆในปี 2557 นายศิระกล่าวว่า ซีอีโอทั่วโลกส่วนใหญ่ (ร้อยละ 35) มุ่งเป้าไปที่การพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ (Product and service development) ในปีนี้ รองลงมาคือ การเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดที่ตนกำลังดำเนินธุรกิจอยู่ (Increased share in existing markets) ที่ร้อยละ 30, ร้อยละ 14 มองการขยายธุรกิจไปยังตลาดใหม่ๆ (New geographic markets), ร้อยละ 11 มีแผนที่จะขยายกิจการผ่านการควบรวมฯ (Mergers & acquisitions) และมีซีอีโอเพียงร้อยละ 9 ที่มองหาธุรกิจร่วมทุนและพันธมิตรทางการค้า (New joint ventures and/or strategic alliances) ในปีนี้
“หากดูเฉพาะในส่วนของเทรนด์การทำ M&A ในบรรดาเหล่าซีอีโอในอาเซียนด้วยกัน เป็นที่น่าสนใจว่า มีซีอีโอในอาเซียนถึง 85% ที่มองว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นแหล่งเป้าหมายหลักของการควบรวมฯในปีนี้ (จากปีก่อนเพียง 56%) นำหน้าทวีปอื่นๆ อย่าง
ออสตราเลเซียที่ 24% และเอเชียใต้ที่ 22% ตัวเลขที่ได้ยังสะท้อนให้เห็นว่า แนวโน้มการควบรวมในภูมิภาคนี้จะยังคงความคึกคัก โดยได้รับอานิสงส์จากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมหรือความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจที่มากขึ้นอีกทางหนึ่ง” นายศิระ กล่าว
‘ปัจจัยเสี่ยงซีอีโออาเซียน’
เมื่อถามถึงปัจจัยความกังวลต่อภัยคุกคามเชิงเศรษฐกิจและนโยบาย (Economic and policy threats) สามอันดับแรกของซีอีโอในภูมิภาคอาเซียนในปีนี้ นายศิระกล่าวว่า ผู้บริหารส่วนใหญ่เกือบร้อยละ 80 กังวลเรื่องของความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange rate volatility) ตามด้วย อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เป็นลบหรือการฟื้นตัวอย่างช้าๆของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และการควบคุมและกำกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากเกินไป (Over-regulation) ในส่วนของภัยคุกคามทางธุรกิจ (Business threats) ผลสำรวจระบุว่า ซีอีโออาเซียนมากถึงร้อยละ 90 กังวลเรื่องของการขาดแคลนบุคลากรหรือแรงงานที่มีทักษะ (Availability of key skills) เป็นอันดับหนึ่งและถือเป็นอัตราที่สูงที่สุดในโลก
“ปัจจัยความกังวลในเรื่องของการขาดแคลนบุคลากรหรือ Talent ในองค์กรยังส่งผลให้แนวโน้มการจ้างงานของซีอีโอในภูมิภาคอาเซียนปรับตัวสูงขึ้นในปีนี้ โดยซีอีโอถึง 65% ในภูมิภาคมีแผนที่จะเพิ่ม Headcount ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงกว่าซีอีโอในระดับโลกที่ 50% นอกจากนี้ ยังมีซีอีโอเพียง 11% เท่านั้น (เทียบกับโกลบอลที่ 20%) ที่บอกว่าต้องการลดจำนวนพนักงาน” นายศิระ กล่าว
เมื่อมองแนวโน้ม หรือ เทรนด์ของโลกที่จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจของซีอีโอสามอันดับแรก นายศิระกล่าวว่า กระแสเรื่องของ ‘เมกะเทรนด์’ ได้แก่ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (Technological advances), การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร (Demographic shifts) และ การเปลี่ยนถ่ายขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ (Shift in global economic power) จะเข้ามามีบทบาทอย่างมีนัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจของผู้บริหารฯในอีก 5 ปีข้างหน้า ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทั้งในเรื่องของการหาบุคลากร, การลงทุนในเทคโนโลยี และการขยายฐานลูกค้า