เปิดตัว 2 เพลงพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี "แดร็กคูล่าผู้น่ารัก" และ "ตำแหน่งลอยกระทง"

ข่าวทั่วไป Tuesday September 7, 1999 13:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--7 ก.ย.--สวช.
ข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) กระทรวงศึกษาธิการ แจ้งว่าตามที่ สวช. จะจัดงาน "60 ปี เล่าขานตำนานลูกทุ่งไทย" ขึ้น ในวันที่ 15 กันยายน 2542 เวลา 18.00 น. ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยนั้น ในโอกาสนี้จะมีการเปิดตัวเพลงพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งยังไม่เคยมีการเผยแพร่มาก่อน 2 เพลง คือ เพลง "แดร็กคูล่าผู้น่ารัก" และเพลง "ตำนานลอยกระทง" ที่ครูพยงค์ มุกดา ศิลปินแห่งชาติ ได้เป็นผู้แต่งทำนองให้
เพลงแดร็กคูล่าฯ นี้จะเป็นเพลงที่มีความสนุกสนานและมีความน่ารักน่าฟัง เพราะทำให้ท่านเคาต์แดร็กคูล่าไม่ดูน่ากลับอย่างที่เราเคยรู้จัก ส่วนเพลงตำนานลอยกระทงจะเป็นการบอกเล่าเรื่องความเป็นมาของประเพณีลอยกระทงให้เราทราบ
นอกจากการเปิดตัวเพลงพระราชนิพนธ์ทั้ง 2 เพลงดังกล่าวแล้ว งานครั้งนี้ยังอาจกล่าวได้ว่าเป็นการรวมขุนพลเพลงลูกทุ่งทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก่ามาขึ้นเวทีศูนย์วัฒนธรรมฯ อย่างคับคั่งและยิ่งใหญ่อีกงานหนึ่ง เช่น ผ่องศรี วรนุช, ชัยชนะ บุญนะโชติ, ชาย เมืองสิงห์, ไวพจน์ เพชรสุพรรณ, สุรชัย สมบัติเจริญ, สุรชาติ สมบัติเจริญ" ศรชัย เมฆวิเชียร, เสรี รุ่งสว่าง, พนม นพพร, กานต์ การุญวงศ์, สลักจิต /จันทร์จวง /ดวงใจ ดวงจันทร์ เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมี กุ้ง สุธิราช วงศ์เทวัญ, ไชยา มิตรชัย, โอ๊ด วรนันท์, มนต์สิทธิ คำสร้อย, ยุ้ย ญาติเยอะ, ดาว มยุรี, แคทรียา มารศรี, ไมค์ ภิรมย์พร, โก๊ะตี๋ ผีน่ารัก, ยิ่งยง ยอดบัวงาม เป็นต้น
สำหรับนายกร ทัพพะรังสี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะขึ้นเวทีในฐานะผู้เล่าขานความเป็นมาของตำนานลูกทุ่งไทย พร้อมบอกกล่าวถึงคุณค่าและสาระสำคัญที่แฝงอยู่ในเนื้อหาสาระของเพลงลูกทุ่ง ส่วนนายสมศกดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จะออกมาโชว์เพลง "มนต์รักลูกทุ่ง" ผลงานครูไพบูลย์ บุตรขัน
การจัดงานครั้งนี้ นอกจากจะป็นวาระครบรอบ 10 ปี ของการจัดงาน กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2532 ซึ่งถือเป็นการจุดประกายและสร้างความตื่นตัวให้กับวงการลูกทุ่งในครั้งนั้นแล้ว การจัดงานครั้งนี้ยังเป็นการเฉลิมฉลองเนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ และเป็นการสนับสนุนส่งเสริมให้เพลงลูกทุ่งในครั้งนั้นแล้ว การจัดงานครั้งนี้ยังเป็นการเฉลิมฉลองเนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ และเป็นการสนับสนุนส่งเสริมให้เพลงลูกทุ่งดี ๆ มีคุณค่าได้ปรากฎให้แพร่หลายยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจแก่ศิลปินนักร้อง นักแต่งเพลงให้สร้างสรรค์ผลงานที่ดีงามออกมาสู่สังคมไทย เพราะเพลงลูกทุ่งเป็นเพลงที่ใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย เป็นวรรณกรรมชาวบ้านที่บันทึกเหตุการณ์ทางสังคม ขนบธรรมเนียมประเพณีและวิธีของไทยมาทุกยุคทุกสมัย อีกทั้งยังมีอิทธิพลต่อการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมของคนในสังคมอีกด้วย ดังนั้น จึงได้แบ่งการแสดงเป็น 7 ชุด คือ
การแสดงชุดที่ 1 จะเป็นเพลงที่แสดงออกถึงการเทิดทูนสถาบันพระมหากัษตริย์ โดยนักร้องทั้งหมดจะออกมาร้องเพลงร่วมกันในเพลงล้นเกล้าเผ่าไท จากนั้นจะเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี คือ เพลงส้มตำ ตามด้วย เพลงแดร็กคูล่าผู้น่ารัก ซึ่งครูพยงค์ มุกดา ศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้ให้ทำนอง และถือเป็นการเปิดตัวเพลงพระราชนิพนธ์เพลงนี้เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นเพลงที่มีความน่ารักและสนุกสนานน่าฟังมาก
การแสดงชุดที่ 2 จะเป็นเพลงที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนไทยในแต่ละภูมิภาค และวัฒนธรรมของแต่ละถิ่น เช่น เพลงน้อยใจยา แสดงถึงวิถีชีวิตคนภาคเหนือ เพลงลำเลาะทุ่ง แสดงชีวิตของคนภาคอีสาน เป็นต้น
การแสดงชุดที่ 3 จะเป็นการแสดงผลงานเพลงของนักแต่งเพลงผู้ล่วงลับไปแล้ว ถือเป็นการแสดงความอาลัยและคารวะแต่คู่เพลงผู้สามารถนำภาษามาสื่อความหมายและถ่ายทอดเป็นบทเพลงได้อย่างแยบยล แนบเนียนและลึกซึ้งจนเป็นที่ชื่นชอบของผู้ฟัง เช่น เพลงมนต์รักลูกทุ่ง ของครูไพบูลย์ บุตรขัน เพลงมอดกัดไม้ ของครูมงคล อมาตยกุล เพลงน้ำตาจ่าโท ของครูสุรพล สมบัติเจริญ และ ลำเต้ย ของครูเบญจมินทร์ เป็นต้น
การแสดงชุทดี่ 4 เป็นการแสดงผลงานเพลงลูกทุ่งที่ยังคงความเป็นอมตะ ไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านไปเท่าใด คนในสังคมก็ยังจดจำเนื้อร้องและทำนองได้ดี เช่น เพลงปู่ไข่ไก่หลง สาวอิสานรอรัก เป็นต้น
การแสดงชุดที่ 5 เป็นการแสดงผลงานเพลงของนักร้องที่เคยร่วมงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ณ เวทีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และได้เสียชีวิตไปแล้ว เช่น เพลงสาวนาสั่งแฟน โดยพุ่มพวง ดวงจันทร์ เพลงยมบาลเจ้าขา โดย บุปผา สายชล เป็นต้น โดยในวันดังกล่าวจะให้นักร้องปัจจุบันเป็นผู้ถ่ายทอดบทเพลงเหล่านี้แทน
การแสดงชุดที่ 6 เป็นการเปิดโอกาสให้นักร้องเพลงลูกทุ่งรุ่นใหม่ในปัจุบันได้ขึ้นเวทีเพื่อแสดงผลงาน ถือเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนเด็กรุ่นใหม่ให้มีกำลังใจสร้างสรรค์ผลงานที่ดีสู่สังคม เช่น ไมค์ ภิรมย์พร ในเพลงยาใจคนจน มนสิทธิ์ คำสร้อย ในเพลงขายควายช่วยแม่ ยุ้ย ญาติเยอะ ในเพลงสาวสันกำแพง เป็นต้น
การแสดงชุดที่ 7 ซึ่งเป็นการแสดงชุดสุดท้ายจะเป็นการเปิดตัวเพลงพระราชนิพนธ์อีกเพลง คือ ตำนานลอยกระทง และจบท้ายด้วยเพลงภูมิแผ่นดินนวมินทร์มหาราชา
งาน "60 ปี เล่าขานตำนานลูกทุ่งไทย" จะมี 2 วัน คือ วันซ้อมใหญ่ วันที่ 14 กันยายน 2542 เวลา 17.00 น. จำหน่ายบัตรราคา 50 บาททุกที่นั่ง และวันแสดงจริงวันที่ 15 กันยายน 2542 เวลา 18.00 น. บัตรราคา 500 / 400 / 300 / 200 และ 100 บาท จองบัตรได้ที่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โทร.247-0028 ต่อ 103 หรือโทร. 645-2265 ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
อนึ่ง ขณะนี้ทางคณะกรรมการฯ กำลังทำหนังสือกราบบังคมทูลอัญเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จเป็นประธานทอดพระเนตรการแสดงครั้งนี้ด้วย--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ