กรุงเทพฯ--29 ม.ค.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ที่ระดับ “A+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งของบริษัทในอุตสาหกรรมน้ำตาลในภูมิภาค ตลอดจนแบรนด์สินค้าที่มีชื่อเสียง กระบวนการผลิตน้ำตาลที่มีประสิทธิภาพ และการขยายกิจการสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำตาล นอกจากนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงสถานการณ์ราคาน้ำตาลที่อยู่ในระดับต่ำในปัจจุบัน รวมถึงความเสี่ยงด้านกฎระเบียบและการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ และความเสี่ยงจากความผันผวนของปริมาณผลผลิตอ้อยด้วย ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่ากลุ่มมิตรผลจะยังคงดำรงสถานะผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลทั้งในประเทศไทยและจีนได้ต่อไป ระบบการแบ่งปันรายได้ของอุตสาหกรรมน้ำตาลในประเทศ ตลอดจนกระแสเงินสดที่แน่นอนจากธุรกิจไฟฟ้า และความต้องการเอทานอลที่แข็งแกร่งจะช่วยให้บริษัทสามารถประคองตัวอยู่ได้ในช่วงที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกอยู่ในระดับต่ำ
บริษัทน้ำตาลมิตรผลก่อตั้งในปี 2489 โดยตระกูลว่องกุศลกิจ ปัจจุบันบริษัทเป็นผู้นำในธุรกิจอ้อยและน้ำตาลของไทยซึ่งมีตระกูลว่องกุศลกิจถือหุ้นเต็ม 100% โดยถือหุ้นผ่าน บริษัท น้ำตาลมิตรสยาม จำกัด บริษัทน้ำตาลมิตรผลมีโรงงานน้ำตาลในประเทศไทย จีน ลาว และออสเตรเลีย ในเดือนกรกฎาคม 2556 บริษัทได้ซื้อหุ้นในสัดส่วน 25% ของ บริษัท น้ำตาลสิงห์บุรี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตน้ำตาลทรายที่ถือหุ้นโดยครอบครัวว่องกุศลกิจ โดยบริษัทซื้อหุ้นในราคาตามมูลค่าที่ตราไว้และใช้เงินลงทุนรวม 93.5 ล้านบาท บริษัทรวมผลการดำเนินงานของบริษัทน้ำตาลสิงห์บุรีตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2556 เป็นต้นไป ในปีการผลิต 2555/2556 กลุ่มมิตรผลรวมบริษัทน้ำตาลสิงห์บุรีมีผลผลิตน้ำตาลรวมทั้งสิ้น 3.7 ล้านตัน
บริษัทเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในประเทศไทยมาอย่างยาวนานโดยเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดในประเทศ ทั้งนี้ ในฤดูการผลิต 2555/2556 กลุ่มมิตรผลผลิตน้ำตาลได้ 2.0 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 19.9% ของปริมาณน้ำตาลทั้งประเทศ ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 19.1% ในปีก่อนหลังจากโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ที่จังหวัดเลยเริ่มดำเนินงาน ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่รองลงมาคือกลุ่มไทยรุ่งเรือง (16.3%) กลุ่มไทยเอกลักษณ์ (9.3%) กลุ่มน้ำตาลขอนแก่น (7.4%) และกลุ่มวังขนาย (6.6%) ประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาลของบริษัทอยู่ที่ระดับ 105.9 กิโลกรัม (กก.) ต่อตันอ้อยซึ่งนับว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 100.2 กก. ต่อตันอ้อยสำหรับปีการผลิต 2555/2556
บริษัทยังเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานน้ำตาล 7 แห่งในประเทศจีนโดยมีผลผลิตน้ำตาล 1.14 ล้านตันในปีการผลิต 2555/2556 ปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาด 8.7% ซึ่งถือเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ในประเทศจีน โดยมีประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาลอยู่ที่ระดับ 123.2 กก. ต่อตันอ้อยในฤดูการผลิต 2555/2556 ส่วนโรงงานน้ำตาลของบริษัทในประเทศลาวผลิตน้ำตาลได้ 0.04 ล้านตัน และในประเทศออสเตรเลีย (MSF) ผลิตได้ 0.53 ล้านตันในฤดูการผลิต 2555/2556
ธุรกิจน้ำตาลเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้และกำไรจากการดำเนินงานในสัดส่วนที่สูงที่สุดของบริษัท ในปี 2555 บริษัทมีรายได้รวม 89,572 ล้านบาทและมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายรวม 15,581 ล้านบาท กำไรจากธุรกิจน้ำตาลมีสัดส่วน 67% ของกำไรจากการดำเนินงานรวมของบริษัท กำไรของธุรกิจน้ำตาลในจีนมีสัดส่วน 37% ของกำไรจากการดำเนินงานรวม ในขณะที่กำไรของธุรกิจน้ำตาลในประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วน 28% ธุรกิจน้ำตาลในประเทศลาวและออสเตรเลียยังให้ผลกำไรไม่มาก โดยในประเทศลาวมีกำไรจากการดำเนินงานเพียง 416 ล้านบาทในปี 2555 ส่วน MSF มีกำไรจากการดำเนินงานเพียง 64 ล้านบาทในปี 2555
นอกเหนือจากธุรกิจน้ำตาลแล้ว บริษัทยังขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอ้อยและน้ำตาลเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อยด้วย อาทิ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจผลิตเอทานอล ธุรกิจวัสดุทดแทนไม้ และธุรกิจผลิตกระดาษ ณ เดือนกันยายน 2556 โรงงานผลิตเอทานอลของบริษัทในประเทศไทยมีกำลังการผลิตที่ 960,000 ลิตรต่อวัน นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 339 เมกะวัตต์ด้วย กำไรจากการดำเนินงานจากธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเท่าตัวเป็น 4,833 ล้านบาทในปี 2555 จาก 2,425 ล้านบาทในปี 2551 โดยกำไรจากการดำเนินงานจากธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วน 31% ของกำไรจากการดำเนินงานรวมของบริษัทในปี 2555
แม้ว่าราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะปรับตัวลดลง แต่รายได้รวมของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 ยังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยรายได้รวมของบริษัทลดลง 5.1% จากช่วงเดียวกันของปี 2555 เป็น 68,437 ล้านบาท การเพิ่มขึ้นของรายได้ในธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้ารวมถึงการเพิ่มขึ้นของรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องช่วยลดผลกระทบจากการปรับตัวลงของราคาน้ำตาลได้บางส่วน อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจน้ำตาลอ่อนแอลงเนื่องจากราคาน้ำตาลที่ปรับตัวลง ธุรกิจน้ำตาลในประเทศจีนของบริษัทยังเผชิญกับปัญหาต้นทุนอ้อยสูงจากการกำหนดราคาอ้อยของรัฐบาลจีน อัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทลดลงเป็น 17.9% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 จาก 22.0% ในช่วงเดียวกันของปีก่อน กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ลดลง 21.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็น 13,177 ล้านบาทจาก 16,812 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ กำไรจากการดำเนินงานของธุรกิจเอทานอลและไฟฟ้าที่เติบโตถึง 53% ช่วยชดเชยการลดลงของ EBITDA ของธุรกิจน้ำตาลได้บางส่วน อัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 ยังคงอยู่ในระดับดีที่ 7.9 เท่าแม้ว่าราคาน้ำตาลจะลดลง อัตราส่วนการก่อหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับปานกลาง โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นเป็น 48.7% ณ เดือนกันยายน 2556 จากระดับ 44.0% ณ เดือนธันวาคม 2554 เนื่องจากการขยายกำลังการผลิตและความต้องการใช้เงินทุนหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น
คาดว่าราคาน้ำตาลจะยังคงอยู่ในระดับต่ำในปี 2557 เนื่องจากอุปทานที่ยังคงล้นตลาด โดย Foods and Agricultural Organization แห่งองค์การสหประชาชาติประมาณการว่าผลผลิตน้ำตาลทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 0.3% เป็น 180.2 ล้านตันในปีการผลิต 2556/57 โดยผลผลิตน้ำตาลที่ลดลงในกลุ่มประเทศประชาคมยุโรปและประเทศสหรัฐอเมริกาจะสุทธิกับปริมาณน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทย อินเดีย และอาฟริกาใต้ ส่วนความต้องการบริโภคน้ำตาลคาดว่าจะเติบโต 1.9% เป็น 175.4 ล้านตันในปี 2556/57 ดังนั้น ปริมาณผลิตน้ำตาลจะเกินความต้องการเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้เอทานอลที่แข็งแกร่งและปริมาณน้ำตาลที่เพิ่มขึ้นในประเทศไทยเนื่องจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการผลิตจะช่วยลดผลกระทบจากราคาน้ำตาลได้บางส่วน ในขณะที่ธุรกิจในประเทศจีนยังคงได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำตาลที่ตกต่ำแม้ว่ารัฐบาลจีนได้ปรับลดราคาอ้างอิงของอ้อยสำหรับปี 2556/57 ลงราว 7% จากปีก่อนแล้วก็ตาม สำหรับแผนการลงทุนของบริษัทหลังจากได้ดำเนินโครงการขยายกำลังการผลิตส่วนใหญ่ไปแล้ว งบลงทุนของบริษัทก็ลดลงเป็นปีละ 5,000-6,000 ล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2557-2558 จากระดับ 11,000 ล้านบาทต่อปีที่บริษัทได้ลงทุนไปในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะยังคงอ่อนแอในช่วงอุตสาหกรรมน้ำตาลประสบภาวะตกต่ำตามวัฏจักร แต่ภาระการลงทุนที่ลดลงน่าจะช่วยให้บริษัทรักษาระดับหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ในระดับที่ยอมรับได้
บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด (MPSC)
อันดับเครดิตองค์กร: A+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
MPSC145A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 300 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 A+
MPSC146A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 A+
MPSC14OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 A+
MPSC155B: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 A+
MPSC156A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 A+
MPSC15OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 A+
MPSC165A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A+
MPSC16OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A+
MPSC16OB: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 3,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 A+
MPSC175A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 600 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2560 A+
MPSC185A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 700 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A+
MPSC18OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,150 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2561 A+
MPSC20OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+
MPSC20OB: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,850 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2563 A+
MPSC21OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2564 A+
MPSC22OA: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2565 A+
MPSC233A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2566 A+
MPSC256A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,400 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2568 A+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable