กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--เอเอสวี อินเตอร์ กรุ๊ป
กรมป่าไม้ โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ ใช้เทคนิคการต่อเซลล์ท่อน้ำและท่ออาหารเพื่อช่วยชีวิตไม้สักที่ถูกลักลอบด้วยวิธีกานให้ยืนต้นตาย ในท้องที่รอยต่อระหว่าง อ.ขุมยวม กับ อ. แม่ลาหลวง จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งมีจำนวนประมาณ 120- 150 ต้น
นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า กรมป่าไม้ ได้รับแจ้งจากสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 สาขาแม่ฮ่องสอน ว่ามีการลักลอบตัดไม้สักโดยการใช้วิธีการ “กานไม้” ให้ไม้ยืนต้นตายในช่วงฤดูฝน แล้วทำการตัดโค่นแปรรูปและเคลื่อนย้ายออกนอกพื้นที่รอยต่อระหว่าง อ.ขุนยวม กับ อ.แม่ลาหลวง จ.แม่ฮ่องสอน จากการสำรวจพบว่า มีไม้สักถูกกานจนยืนต้นตาย จำนวนประมาณ 120 – 150 ต้น บางส่วนเป็นไม้สักท่อน และไม่พบร่องรอยของการแปรรูปหรือค้างเลื่อย ซึ่งอยู่ใกล้กับบริเวณลำน้ำยวม และลำห้วยสาขา ไม่มีเส้นทางคมนาคมหรือทางรถยนต์เข้าถึงพื้นที่ สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้วิธีการเดียวคือการเดินเท้าเท่านั้น ระยะทางประมาณ 5-10 กิโลเมตร จึงต้องเป็นการนำไม้ตัดทอนออกจากที่เกิดเหตุ โดยการลำเลียงใช้เส้นทางน้ำเท่านั้น เนื่องจากตรวจพบเปลีอกไม้สักจำนวนหนึ่งตกกระจายอยู่ตามริมห้วยแม่ลาเก๊าะ ซึ่งเป็นลำห้วยสาขาที่ไหลลงสู่ลำน้ำยวม โดยในเบื้องต้นกรมป่าไม้ ได้ประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน และผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อสนธิการกำลังกับหน่วยป้องกันรักษาป่าของสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 สาขาแม่ฮ่องสอน เพื่อผลัดเปลี่ยนเข้าตรวจลาดตระเวนพื้นที่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อสกัดกั้นการลักลอบนำไม้ออกจากพื้นที่
นายบุญชอบ กล่าวต่ออีกว่า นอกจากนี้ กรมป่าไม้ได้มอบหมายให้สำนักวิจัยและพัฒนาการป่าไม้ ส่งนักวิจัยลงพื้นที่ไปสำรวจไม้สักที่ถูกกานทิ้งไว้ เพื่อหาวิธีการช่วยเหลือให้ไม้สักที่ถูกลักลอบกานสามารถมีชีวิตยืนยาวต่อไปได้ อีกทางหนึ่ง ซึ่งขณะนี้คณะนักวิจัย ได้ลงพื้นที่สำรวจไม้สักที่ถูกกานทิ้งไว้ในป่าแม่ยวมฝั่งซ้าย และบริเวณห้วยแม่ละก๊ะ พบว่า ต้นสักมีร่องรอยถูกกานทิ้งไว้ กระจายเป็นกลุ่ม ๆ กลุ่มละ 3 – 5 ต้น ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ใกล้ลำห้วย คณะนักวิจัยได้ใช้วิธีการต่อเซลล์แบบสะพาน 4 เส้น เพื่อเป็นการเชื่อมต่อเซลล์ท่อน้ำและท่ออาหารของต้นไม้สักที่ถูกกานให้สามารถมีชีวิตต่อไปได้ ซึ่งกรมป่าไม้ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากวิธีดังกล่าวใช้ได้ผลกับไม้ทุกชนิดที่ถูกกานทิ้งไว้ไม่ใช่เฉพาะแต่ไม้สักเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ คณะนักวิจัยได้คัดเลือกแม่ไม้สักจากพื้นที่ดังกล่าว และได้เก็บกิ่งตาไปขยายพันธุ์ที่สถานีวนวัฒนวิจัยงาว จ.ลำปาง เพื่ออนุรักษ์และปรับปรุงพันธุ์ไม้สักที่ดีให้คงอยู่ต่อไป