กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--ได-อิจิ คิคากุ
ชาร์ป คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ได้ลงนามในข้อตกลงกับบริษัท เสริมสร้างพลังงาน จำกัด ร่วมก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ กำลังการผลิต 52 เมกะวัตต์ ในจังหวัดลพบุรี โดยกำหนดเริ่มก่อสร้างในเดือนมกราคมนี้ เพื่อให้แล้วเสร็จและดำเนินการได้ภายในสิ้นปี 2557 ซึ่งจะส่งผลให้กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมดของชาร์ปในประเทศไทยมีปริมาณมากกว่า 150 เมกะวัตต์
โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท เสริมสร้างพลังงาน จำกัด ได้มอบหมายให้ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และบริษัท อิตัลไทยวิศวกรรม จํากัด ดูแลเรื่องงานก่อสร้างและการวางระบบไฟฟ้า โดยมีบริษัท ชาร์ป คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ทำหน้าที่จัดหาแผงเซลล์แสงอาทิตย์และควบคุมทุกขั้นตอนการก่อสร้าง โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และการให้บริการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า
เทคโนโลยีที่ใช้ในโรงไฟฟ้าแห่งใหม่นี้จะใช้เซลล์แสงอาทิตย์ชนิดฟิล์มบาง หรือ Thin-film solar module ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเซลล์แสงอาทิตย์แบบผลึกแล้ว จะให้ประสิทธิภาพที่เหนือกว่า โดยในโครงการนี้ ชาร์ปได้จัดหาแผงเซลล์แสงอาทิตย์จำนวนกว่า 400,000 แผง พร้อมด้วยระบบต่างๆ สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อติดตั้งบนพื้นที่กว่า 1.30 ตารางกิโลเมตร สำหรับในส่วนของบริการบำรุงรักษาจะเป็นหน้าที่ของบริษัทชาร์ป โซลาร์ เมนเทนแนนซ์ เอเชีย จำกัด (SSMA) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของชาร์ป ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2554 ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ที่มีคุณสมบัติและผ่านการฝึกอบรมมาอย่างดีเป็นผู้สนับสนุนการปฏิบัติงาน โดยจะมีการตรวจตราและให้บริการทั่วทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
จากข้อมูลปัจจุบัน ความต้องการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคเอเชีย ทำให้การจัดส่งพลังงานแสงอาทิตย์ของชาร์ปเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 1,139 เมกะวัตต์ ในปีพ.ศ. 2555 และ 1,800 เมกะวัตต์ ในปีพ.ศ. 2556 ปัจจุบันชาร์ปได้ดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อย่างต่อเนื่องในประเทศไทย อาทิ บริษัท พัฒนาพลังงานธรรมชาติ จำกัด ที่มีกำลังการผลิตถึง 84 เมกะวัตต์ ดังนั้นเมื่อโรงไฟฟ้าแห่งใหม่นี้เริ่มเปิดดำเนินการจะส่งผลให้กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมดของชาร์ปในประเทศไทย มีปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นและสามารถครอบคลุมความต้องการในการใช้พลังงานไฟฟ้าได้มากกว่า 150,000ครัวเรือน