กรุงเทพฯ--31 ม.ค.--มหาวิทยาลัยขอนแก่น
วันนี้ (31 ม.ค. 57) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจโครงการอีค่อนโพล (Econ Poll) เรื่อง "นักเศรษฐศาสตร์กับโครงการรับจำนำข้าว” การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจจากสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ทั่วประเทศ เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 27-30 ม.ค. 2557 จากกลุ่มตัวอย่าง 80 คน
Econ Poll ได้สอบถามถึงความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างนักเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม พบว่า ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 93.4 เห็นว่าเกิดผลเสียมากกว่าผลดี มีเพียงร้อยละ 3.9 ที่เห็นว่าเกิดผลดีมากกว่าผลเสีย ส่วนที่เหลือร้อยละ 2.6 เห็นว่าเกิดผลดีพอ ๆ กับผลเสีย
ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินโครงการประกันรายได้ชาวนาของรัฐบาลอภิสิทธิ์ต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม พบว่า อันดับหนึ่ง ร้อยละ 48.1 เห็นว่าโครงการประกันรายได้ชาวนาของรัฐบาลอภิสิทธิ์ก่อให้เกิดผลดีมากกว่าผลเสีย รองลงมาร้อยละ 37.7 เห็นว่าเกิดผลดีพอ ๆ กับผลเสีย ส่วนที่เหลือร้อยละ 14.3 เห็นว่าเกิดผลเสียมากกว่าผลดี
เมื่อสอบถามถึงการประเมินว่าโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจะมีการขาดทุนมากน้อยเพียงใด พบว่า อันดับหนึ่ง ร้อยละ 44.9 เห็นว่าโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจะขาดทุนมากกว่า 4 แสนล้านบาท รองลงมาร้อยละ 21.8 เห็นว่าจะขาดทุนประมาณ 2-3 แสนล้านบาท ตามมาด้วย ร้อยละ 20.5 ขาดทุนประมาณ 3-4 แสนล้านบาท ส่วนร้อยละ 10.3 เห็นว่าน่าจะขาดทุนประมาณ 1-2 แสนล้านบาท มีเพียงร้อยละ 2.6 ที่เห็นว่าขาดทุนน้อยกว่า 1 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ ยังได้สอบถามความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ กับการที่รัฐบาลรักษาการจะสามารถแก้ปัญหาการค้างจ่ายเงินให้ชาวนาได้เรียบร้อยหรือไม่ พบว่า กลุ่มตัวอย่างนักเศรษฐศาสตร์ กว่าร้อยละ 51.9 เห็นว่ารัฐบาลรักษาการแทบจะแก้ไม่ได้หรือแก้ไม่ได้เลย ส่วนอีกร้อย 46.8 เห็นว่าแก้ได้แต่จะใช้เวลามากกว่า 1 เดือน มีเพียงร้อยละ 1.3 ที่เห็นว่าแก้ได้และใช้เวลาน้อยกว่า 1 เดือน
สำหรับความเห็นของกลุ่มตัวอย่าง ต่อโครงการรับจำนำข้าวว่าควรแก้ไขจุดอ่อนด้านใดมากที่สุด (โดยตอบได้สูงสุด 3 ข้อ จาก 8 ด้าน) พบว่า จุดอ่อนที่ควรแก้ไขมากที่สุดสามอันดับแรก ที่นักเศรษฐศาสตร์เสนอว่าควรแก้ไข คือ อันดับหนึ่ง ราคารับจำนำที่สูงเกินไป ร้อยละ 29.6 รองลงมา การระบายข้าวที่ล่าช้าของรัฐ ร้อยละ 22.2 และอันดับ 3 คือ การสวมสิทธิ์จากข้าวต่างประเทศ ร้อยละ 12.5 และจุดอ่อนด้านอื่นๆ เช่น พันธุ์ข้าวและคุณภาพข้าวที่รับจำนำ การจ่ายเงินให้กับชาวนาช้าเกินไป การหักเปอร์เซ็นต์ที่ไม่เป็นธรรมของโรงสี การจัดเก็บข้าวให้ได้มาตรฐาน วงเงินรับจำนำแต่ละรายสูงเกินไป ตามลำดับ
สำหรับข้อเสนอแนะเพิ่มเติมที่นักเศรษฐศาสตร์ได้เสนอต่อรัฐบาลรักษาการและรัฐบาลชุดต่อๆไป กับกรณีโครงการรับจำนำข้าว สรุปได้ดังนี้ ส่วนใหญ่เสนอว่าควรยกเลิกโครงการนี้ เนื่องจากเป็นนโยบายที่บิดเบือนกลไกราคาตลาดมากเกินไป โดยควรมุ่งไปที่การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ การรักษาคุณภาพของข้าวและการสร้างมูลค่าเพิ่ม รองลงมานักเศรษฐศาสตร์เสนอว่าหากจะมีการดำเนินโครงการต่อไปควรปรับราคารับจับนำให้สอดคล้องกับราคาตลาด กำหนดโควตารับจำนำให้เหมาะสม และควรใช้นโยบายนี้เพียงชั่วคราวในยามที่เกษตรกรเดือดร้อนจริงๆ นอกจากนี้รัฐควรจะมีการสร้างระบบสารสนเทศที่เปิดเผยและสามารถตรวจสอบได้ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการวิจัยและพัฒนาในอนาคต
ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง ความเชื่อมั่นในการพยากรณ์ 90% และอาจคลาดเคลื่อนได้สูงสุด 9% ประกอบด้วย นักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง ธนาคารกรุงไทย และอีกหลายแห่งที่ไม่ประสงค์ระบุหน่วยงาน
ส่วนอายุส่วนใหญ่มีอายุ 31-40 ปี ร้อยละ 45.9 รองลงมามีอายุ 51-60 ปี ร้อยละ 28.4 อายุ 41-50 ปี ร้อยละ 14.9 อายุต่ำกว่า 30 ปี ร้อยละ 9.5 และอายุ 61 ปีขึ้นไป ร้อยละ 1.4
หมายเหตุ: นอกเหนือจากผลสำรวจซึ่งนำเสนอข้อมูลตามวิธีทางสถิติแล้ว ความคิดเห็นอื่นๆ ในผลสำรวจนี้เป็นความเห็น
ของผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะวิทยาการ
จัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น