กรุงเทพ--7 ต.ค.--ก.พ.
เมื่อวานนี้ (จันทร์ที่ 6 ตุลาคม 2540) เวลา 14.00 น. ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี (พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ครั้งที่ 9/2540 ณ ห้องประชุม 1 สำนักงาน ก.พ.
นางทิพาวดี เมฆสวรรค์ เลขาธิการ ก.พ.กล่าวถึงผลการประชุมในครั้งนี้ว่า ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาเรื่องที่สำคัญ ๆ ดังต่อไปนี้
1. การส่งเสริมประสิทธิภาพข้าราชการ
ก.พ.ให้ความเห็นชอบในหลักการเรื่องการส่งเสริมประสิทธิภาพข้าราชการ โดยเน้นให้มีการประเมินผลการปฎิบัติงานของข้าราชการอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ และแจ้งผลให้ข้าราชการได้รับทราบหากยังมีผลการปฎิบัติงานยังไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐานให้ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการกรณีปฎิบัติราชการไม่มีประสิทธิภาพและไม่เกิดประสิทธิผลได้ โดยจะออกเป็นกฎ ก.พ.ให้กระทรวง ทบวง กรมถือปฎิบัติต่อไป เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว
ที่มาของเรื่องนี้ สืบเนื่องมาจากข้อบัญญัติในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ซึ่งกำหนดว่า เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดไม่สามารถปฎิบัติราชการให้มีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผลในระดับที่พอใจของราชการ ให้สั่งให้ผู้นั้นออกจากราชการได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.พ.กำหนด
หลักการสำคัญของเรื่องนี้ก็คือ การสั่งให้ออกจากราชการในกรณีนี้ถือเป็นความจำเป็นของทางราชการ โดยขึ้นอยู่กับผลการปฎิบัติงานเป็นหลัก และเปิดโอกาสให้ข้าราชการได้พัฒนาปรับปรุงตนเองก่อนได้รับการพิจารณาให้ออก รวมทั้งส่วนราชการต้องมีมาตรการรองรับเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการด้วย เช่น ให้ผู้ถูกสั่งให้ออกจากราชการร้องทุกข์ได้ ให้ผู้ที่เข้าข่ายกรณีนี้ได้ทราบผลและเหตุผลของการประเมินที่ได้รับ ให้ได้รับการตักเตือน รวมทั้งมีโอกาสพิจารณาปรับปรุงตนเองก่อนที่จะมีการพิจารณาให้ออกจากราชการโดย ก.พ.วางระบบตรวจสอบดูแลให้การพิจารณาในเรื่องดังกล่าวนี้มีความเป็นธรรม และให้ส่วนราชการมีระบบให้คำปรึกษาแนะนำข้าราชการเพื่อพัฒนาตนเอง เป็นต้น
อนึ่ง มาตรการดังกล่าวนี้ ให้ใช้กับข้าราชการพลเรือนทุกระดับ โดยไม่จำกัดจำนวน
2. การพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา ประจำปี 2539
ก.พ. รับทราบมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบตามที่ก.พ.เสนอขอพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา สาขาแพทย์ศาสตร์ ประจำปี 2539 ให้แก่ศาสตราจารย์นายแพทย์ศรชัย หลูอารีย์สุวรรณ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งนี้ ศาสตร์จารย์นายแพทย์ศรชัยฯ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าฯ เพื่อรอรับพระราชทานเหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา เมื่อวันอังคารที่ 16 กันยายน 2540 แล้ว
3. การกำหนดตำแหน่งระดับสูงในส่วนราชการ
ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาอนุมัติตำแหน่งระดับสูงในส่วนราชการต่าง ๆ ดังนี้
3.1 อนุมัติตำแหน่งรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (นักบริหาร 10) ในสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มขึ้นอีก 1 ตำแหน่ง จากที่มีอยู่เดิมแล้ว 5 ตำแหน่ง โดยให้รับผิดชอบงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านการแพทย์และสาธารณสุข
3.2 อนุมัติตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำกระทรวง (เจ้าหน้าที่การทูต 10) ในกระทรวงการต่างประเทศ เพิ่มขึ้นอีก 3 ตำแหน่ง เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษา เสนอความเห็น รวมทั้งศึกษา วิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงระหว่างประเทศด้านความสัมพันธ์ทวิภาคีกับประเทศในภูมิภาคต่าง ๆ พร้อมทั้งให้ความเห็นชอบกับการยกระดับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา กรุงจาร์กาตา กรุงกัวลาลัมเปอร์ และกรุงเวียงจันทน์ และสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารูด้วย
3.3 อนุมัติตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพเฉพาะด้านเทคโนโลยีชีวภาพการปศุสัตว์ (ผสมเทียม) นายสัตว์แพทย์ 10 วช. ระดับ 10 ในส่วนกลาง กรมปศุสัตว์ จำนวน 1 ตำแหน่ง เพื่อรับผิดชอบในการศึกษา ค้นคว้าและพัฒนาเพื่อนำเทคโนโลยีชีวภาพการปศุสัตว์มาใช้เพื่อผลิตสัตว์ที่มีคุณภาพให้ได้ปริมาณมากเพียงพอแก่การบริโภคภายในประเทศ และส่งออกจำหน่ายต่างประเทศ
3.4 อนุมัติตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการส่งเสริมประสิทธิภาพการประกันสังคม (เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน 10 ชช.) ในสำนักงานประกันสังคม จำนวน 1 ตำแหน่งเพื่อทำหน้าที่ประสานการเปลี่ยนแปลงเพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพในสำนักงานประกันสังคม
4. รับทราบผลการดำเนินโครงการส่งเสริมประสิทธิภาพในสำนักงานประกันสังคม
ก.พ. รับทราบผลการดำเนินงานตามโครงการส่งเสริมประสิทธิภาพในส่วนราชการในสำนักงานประกันสังคม ดังนี้
4.1 การปรับเปลี่ยนที่กระทรวงในระดับนโยบาย ได้แก่ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างสำนักงานประกันสังคม ไปเป็นองค์กรบริหารงานพิเศษ มีการนำระบบบริหารงานแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์มาใช้
4.2 การปรับเปลี่ยนระดับปฎิบัติการเป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนงานหลักด้านการจัดเก็บเงินสมทบ ด้านการจ่ายประโยชน์ทดแทน และการจัดส่งข้อมูลให้สถานพยาบาล
ผลการดำเนินงานมีดังนี้
(1) ลดค่าใช้จ่ายในการจ้างบันทึกข้อมูล การจ่ายเงินสมทบของลูกจ้างได้ปีละ 51.6 ล้านบาท
(2) ลดค่าใช้จ่ายในการทำบัตรรับรองสิทธิลงได้ปีละ 13 ล้านบาท
(3) จากติดตามนายจ้างมาขึ้นทะเบียนสามารถเก็บเงินสมทบเพิ่มขึ้นปีละ 4,000 ล้านบาท
5. การแต่งตั้ง อ.ก.พ.วิสามัญ
ก.พ. เห็นชอบการแต่งตั้ง อ.ก.พ.วิสามัญคณะต่าง ๆ แทน อ.ก.พ. บางท่านซึ่งเสียชีวิต ลาออก พ้นจากตำแหน่ง และสับเปลี่ยนหน้าที่ความรับผิดชอบ ดังนี้
5.1 อ.ก.พ. วิสามัญเกี่ยวกับการอุทธรณ์และการร้องทุกข์
ตั้งนายสวัสดิ์ โชติพานิช เป็นประธาน อ.ก.พ.แทนนายบัญญัติ สุชีวะ ซึ่งถึงแก่กรรม
5.2 อ.ก.พ. วิสามัญเกี่ยวกับระบบราชการ และประสิทธิภาพการทำงานของข้าราชการ
1. ตั้งนายศุภชัย พิศิษฐวานิช เป็นประธาน อ.ก.พ. แทนหม่อมราชวงศ์ จัตุมงคล โสณกุล ซึ่งลาออกจากราชการ
2. ตั้งนายอุดล บุญประกอบ เป็น อ.ก.พ. แทนนายประสิทธิ์ ตันสุวรรณ ซึ่งขอลาออก
5.3 อ.ก.พ.วิสามัญเกี่ยวกับการประเมินบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำหรับผู้ปฎิบัติงานที่มีประสบการณ์ (ตำแหน่งประเภททั่วไป) ตำแหน่งประเภทวิชาชีพเฉพาะ และตำแหน่งประเภทเชี่ยวชาญเฉพาะ
1. ตั้งนายสุธี นาทวรทัต เป็นประธาน อ.ก.พ. แทนพลเรือนตรีวิทุร แสงสิงแก้ว ซึ่งขอลาออก
2. ตั้งนายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ เป็น อ.ก.พ.แทนนางทิพาวดี เมฆสวรรค์ ซึ่งเลื่อนเป็นเลขาธิการ ก.พ.
5.4 อ.ก.พ.วิสามัญเกี่ยวกับการปรับปรุงส่วนราชการและการกำหนดตำแหน่ง
1. ตั้งนายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ เป็น อ.ก.พ. แทนนางทิพาวดี เมฆสวรรค์ ซึ่งเลื่อนเป็นเลขาธิการ ก.พ.
2. ตั้งนายปรากรม วุฒิพงศ์ เป็น อ.ก.พ. แทนพลเรือนตรีวิทุร แสงสิงแก้ว ซึ่งขอลาออก
5.5 อ.ก.พ.วิสามัญเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบข้าราชการ
1. ตั้งนายสีมา สีมานันท์ เป็น อ.ก.พ. แทนนายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ ซึ่งสับเปลี่ยนหน้าที่
5.6 อ.ก.พ.วิสามัญเกี่ยวกับการปฎิรูประบบบริหารด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
1. ตั้งนายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ เป็น อ.ก.พ.
2. ตั้งผู้อำนวยการสำนักพัฒนาโครงสร้างส่วนราชการและอัตรากำลัง สำนักงาน ก.พ. เป็น อ.ก.พ. และเลขานุการ แทนนายสีมา ซึ่งเลื่อนเป็นรองเลขาธิการ ก.พ.
นอกจากนี้ ก.พ. ยังเห็นชอบให้ตั้ง อ.ก.พ. วิสามัญคณะใหม่คือ อ.ก.พ. วิสามัญเกี่ยวกับการพิจารณาบัญญัติศัพท์ทางด้านการบริหาร เพื่อทำหน้าที่บัญญัติศัพท์ภาษาอังกฤษเกี่ยวกับการบริหาร เพื่อให้ประโยชน์ในราชการ โดยมีนานติน ปรัชญพฤทธิ์ เป็นประธาน--จบ--