กรุงเทพฯ--4 ก.พ.--ปตท.
ฝ่ายกลยุทธ์และแผนธุรกิจ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สรุปรายงานสถานการณ์น้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน น้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 0.82 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 97.24 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 0.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 103.87 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 0.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 107.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 0.16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 117.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 121.86 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ
- ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ประกาศลดอัตราอัดฉีดเงินหรือมาตรการผ่อนประเชิงปริมาณ (QE3) ลงอีก 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน มาอยู่ที่ระดับ 6.5 หมื่นล้านสหรัฐฯ ต่อเดือนต่อเดือน เริ่มในเดือน ก.พ. 57 เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอัตราว่างงาน และตลาดอสังหาริมทรัพย์ โดยรัฐบาลเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล 3.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน และ ตราสารที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยหนุนหลัง (Mortgage-Backed Securities) 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อเดือน
- EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 ม.ค. 57 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.4 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 357.6 ล้านบาร์เรล ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นอัตราที่รุนแรงที่สุดในรอบ 13 เดือน
- มาตรการคว่ำบาตรของอิหร่านถูกผ่อนปรนหลังจากอิหร่านเซ็นสัญญาตกลงกำจัดแร่ยูเรเนียมที่มีความเข้มข้นเกินกว่าที่ชาติตะวันตกกำหนดไว้และมุ่งหน้าเจรจากับกลุ่ม P5+1 เป็นครั้งที่สองในวันที่ 20 ก.พ. 57 ที่จะถึงนี้ โดย นาย Mohammad Javad Zarif รัฐมนตรี กระทรวงต่างประเทศอิหร่านเผยบริษัทขนส่ง National Iran Tanker Company (NITC) บริษัทน้ำมันแห่งชาติของอิหร่านได้รับอนุญาตขนส่งน้ำมันไปประเทศต่างๆ อาทิเช่น จีน, ตุรกี, ญี่ปุ่น, อินเดีย,เกาหลี และไต้หวัน
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก
- ประธานธนาคารกลางยุโรป(ECB) กล่าวบนเวทีประชุมเศรษฐกิจโลก ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ว่าเศรษฐกิจในกลุ่มยูโรโซนฟื้นได้ดีโดยต้องเน้นเพิ่มความแข็งแกร่งทางการคลังอย่างต่อเนื่องและควรสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาว
- บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Fitch Rating คงอันดับความน่าเชื่อถือเยอรมนีที่ AAA โดยมีมุมมอง “มีเสถียรภาพ” จากฐานะการคลังที่แข็งแกร่งขึ้น เพราะหนี้สาธารณะลดลงต่อเนื่อง การขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX WTI และ ICE BRENT ปรับตัวลดลงจากผู้ค้าและนักลงทุนออกมาเทขายทำกำไรระยะสั้นเนื่องจากความกังวลของต่อเศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนา (Emerging Markets: EM) ซึ่งประสบปัญหาเงินทุนไหลออกจากประเทศ ส่งผลให้ค่าเงินของประเทศกำลังพัฒนาอ่อนตัวลงต่อเนื่อง หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ประกาศปรับลดมาตรการผ่อนปรนเชิงปริมาณมาอยู่ที่ระดับ 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ/เดือน เริ่มต้นในเดือน ก.พ. 57 กอปรกับเศรษฐกิจจีนชะลอตัว แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับลดการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบในสัปดาห์ที่ผ่านมา นักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหภาพยุโรป (ECB), ธนาคารแห่งชาติอังกฤษ (BOE) และธนาคารกลางออสเตรเลีย จะยังคงนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง โดย ECB ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 6 ก.พ.57 น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.25 %, BOE ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 6 ก.พ.57 เช่นกัน น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 0.5 % พร้อมเป้าหมายการอัดฉีดเงินด้วยการซื้อพันธบัตร ที่ 3.75 แสนล้านปอนด์ (6.17 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ), และธนาคารกลางออสเตรเลีย น่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2.5 % ในการประชุมในวันที่ 4 ก.พ.57 ทั้งนี้ในระยะสั้นราคาน้ำมันอาจลดความร้อนแรงลงหลังความต้องการใช้พลังงานเพื่อทำความอบอุ่นเริ่มชะลอตัว สำหรับทางเทคนิคในสัปดาห์นี้ราคาน้ำมันดิบ ICE BRENT แกว่งตัวอยู่ในกรอบ 105 – 108.7 USD/BBL และ ราคาน้ำมันดิบ NYMEX WTI แกว่งตัวอยู่ในกรอบ 95.2 – 99.2 USD/BBL
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุปสงค์ของเวียดนามอยู่ในระดับสูง กอปรกับโรงกลั่น Bataan (180,000 บาร์เรลต่อวัน) ในฟิลิปปินส์ของบริษัท Petron มีแผนจะปิดซ่อมบำรุงประจำปีในเดือน ก.พ. 57 ทั้งนี้ปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ของสิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดที่ผ่านมา ลดลง 626,000 บาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 11.11 ล้านบารเรล ต่ำสุดในรอบ 4 สัปดาห์ สำหรับในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 114.2 – 117.9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยปริมาณสำรองเชิงพาณิชย์ทั้งสิงคโปร์ปรับตัวลง โดย IES ของสิงคโปร์รายงานสัปดาห์ที่ผ่านมา ลดลง 1.115 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 9.915 ล้านบารเรล ต่ำสุดในรอบ 4 สัปดาห์ ทั้งนี้ JBC รายงานโรงกลั่นน้ำมันในเกาหลีใต้ลดอัตราการกลั่นลงมาอยู่ที่ 92.5% ในเดือน ม.ค. 57 (-2.3% จากปี 56 ) ในขณะที่โรงกลั่น JX Nippon Oil & Energy ของญี่ปุ่นลดปริมารการนำน้ำมันดิบเข้ากลั่นในเดือน ม.ค. 57 ลง 8% จากปี 56 มาอยู่ที่ 1.13 ล้านบารเรลต่อวัน ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 118.37 – 122.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล