กรุงเทพฯ--4 ก.พ.--VNU Exhibitions Asia Pacific
ลุยกันอย่างต่อเนื่อง กับงาน Horti ASIA on the Move หรืองานสัมมนาสัญจรด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านพืชพรรณ ผัก ผลไม้ ดอกไม้ และกล้วยไม้ โดยครั้งนี้ ไปกันที่ภาคอีสาน ณ โรงแรมเซ็นทารา คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ จ.อุดรธานี ในวันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม 2557 เน้นการเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นและมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญในการจัดการน้ำในสวนผลไม้ และผลผลิตทางการเกษตรแบบปลอดสารพิษ โดยมีวีเอ็นยู เอ็กซิบิชั่นส์ การันตีคุณภาพการจัดงาน โดยมีสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) และ สมาคมผู้ส่งออกดอกกล้วยไม้ไทย ร่วมสนับสนุน
สำหรับ ภาคอุตสาหกรรมการเกษตรใน จ.อุดรธานี มีการพัฒนาก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ทั้งในทิศทางการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร การพัฒนาด้านเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประยุกต์นำวิทยาการ การจัดสรรน้ำ และให้สารอาหารกับผลผลิตมาใช้กับพืชสวน ซึ่งมีความสำคัญมากต่อการเจริญเติบโตของผลผลิต วีเอ็นยูฯ และ สมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงเล็งเห็นว่าควรส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจในด้านนี้อย่างจริงจัง และก่อให้เกิดการสัมมนาใน จ.อุดรธานี
คุณอัจจิมา ทองบ่อ นักวิทยาศาสตรารแพทย์ชำนาญการ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี บรรยายในหัวข้อ “การแก้ไขปัญหา เกษตรปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย” วัตถุประสงค์หลักคือ การคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศตรูพืชตกค้างในผัก ผลไม้ และสมุนไพร โดยมีการสุ่มตรวจสอบสารพิษตกค้างในพืชผักของชาวสวน ชาวไร่ และเพื่อเป็นการสอนให้ชาวเกษตรกร และผู้ประกอบการมีความรู้ในการตรวจสอบพืชผักด้วยตนเอง ทางศูนย์วิทยาศาสตร์จึงมีการลงพื้นที่เพื่อให้ความรู้ด้านการทดลอง ตรวจสอบสาร และเปิดจุดตรวจสอบสารพิษในพืชผักตามสวนของชาวเกษตรกร ผลลัพธ์ที่ได้กลับมาคือ ชาวเกษตรกรมีระบบการตรวจสอบในชุมชนที่สามารถทำได้ด้วยตนเอง ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มีห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนที่สะดวกต่อการทำงาน ประชาชนจึงเข้าถึงได้ง่าย มีการบริหารจัดการและการจัดสรรงบอย่างเป็นระบบ ทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในพืชผลของชาวเกษตรกรมากยิ่งขึ้นว่าพืชผักที่รับประทานนั้นปลอดจากสารพิษอย่างแน่นอน
คุณโกสุม สอนกุลภักดี ผู้จัดการ บริษัท เอ.ที.ซี. ซัพพลาย (1993) จำกัด บรรยายในหัวข้อ “ระบบการให้น้ำกับพืช ผลไม้” การแบ่งประเภทของระบบการให้น้ำแก่พืช แบ่งได้ตามอุปกรณ์การให้น้ำ ต้องคำนึงถึงสภาพความเหมาะสมต่างๆ เช่น ปริมาณความต้องการน้ำของพืชนั้นๆ สภาพพื้นที่เพาะปลูก ปริมาณแหล่งน้ำในพื้นที่ ความเหมาะสม ทางด้านเศรษฐกิจ แรงงานคนในพื้นที่ การแบ่งระบบน้ำจะแบ่งเป็น ระบบน้ำหยด(Drip Irrigation)สำหรับพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำจำกัด เป็นการให้น้ำที่มีประสิทธิภาพสูงเพราะให้ตรงจุดที่ต้นไม้ต้องการ ใช้พลังงานในระบบต่ำ
ระบบการให้น้ำโดยมินิสปริงเกอร์(Mini Sprinkler) ระบบสปริงเกอร์ขนาดเล็ก ให้น้ำในรัศมีไม่กว้างจนเกินไปประมาน 1 – 7 เมตร และอัตราการจ่ายน้ำประมาน 20 – 300 ลิตรต่อชั่วโมง
ระบบการให้น้ำโดยสปริงเกอร์แบบตีกระแทก(Impact Sprinkler) เป็นระบบน้ำแบบสปริงเกอร์ที่เปียกเป็นวงกว้าง 10 – 50 เมตร อัตราการจ่ายน้ำสูงที่ 500 – 30000 ลิตรต่อชั่วโมง
ระบบการให้น้ำแบบให้ด้วย Reel Machine เป็นระบบน้ำแบบสปริงเกอร์ที่วงเปียกกว้าง 10 – 50 เมตรดึงม้วนกลับแบบอัตโนมัติ ช่วยในการประหัดแรงงาน
ระบบการให้น้ำแบบ Pivot ระบบน้ำแบบเดินคงที่อัตโนมัติ เป็นระบบที่เหมาะสำหรับพื้นที่ขนาดใหญ่ มีการให้น้ำแบบสม่ำเสมอ ช่วยลดต้นทุนในเรื่องแรงงาน และการเดินระบบที่ง่าย อายุการใช้งานยาวนาน
คุณโกสุมยังบอกทิ้งท้ายอีกว่าการเลือกระบบน้ำที่เหมาะกับสภาพพื้นที่จะทำให้ได้ผลผลิตที่ได้ประสิทธิภาพ และช่วยประหยัดทรัพยากรได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย
Mr. Thierry Claireau ผู้จัดการ บริษัท โดซาตรอน (ประเทศไทย) จำกัด บรรยายในหัวข้อ “การให้ปุ๋ยและจ่ายสารเคมีทางระบบน้ำ” ซึ่งวัตถุประสงค์หลักในการให้ปุ๋ยไปพร้อมกับระบบน้ำ เพื่อควบคุมปริมาณน้ำ และธาตุอาหารที่จำเป็นให้เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของพืช โดซาตรอน ให้อัตราการการทำงานที่คงที่ สม่ำเสมอ และได้สัดส่วนที่เหมาะสม รวมทั้งมีความยืดหยุ่น ไม่ว่าจะเป็นระบบที่ควบคุมด้วยมือหรือระบบอัตโนมัติ ดังนั้น จึงสามารถนำไปใช้งานได้กับพืชทุกแบบตามความต้องการ นอกจากนี้ หลักการทำงานของโดซาตรอนคือ สามารถติดตั้งได้โดยตรงกับท่อน้ำ ซึ่งการทำงานของโดซาตรอนจะใช้การไหลของน้ำเป็นแหล่งพลังงานเป็นหลักและเป็นตัวกระตุ้นให้โดซาตรอนนำเอาสารเคมีหรือปุ๋ยในปริมาณและความเข้มข้นที่เหมาะสมส่งผ่านเข้าระบบน้ำ และแรงดันน้ำจะดันสารละลายนี้ไปยังปลายท่อ โดยความเข้มข้นจะได้สัดส่วนที่ถูกต้องกับปริมาณน้ำที่ผ่านเข้าโดซาตรอน โดยไม่ต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงของอัตราการไหลหรือแรงดันในท่อ
คุณลัดดา มงคลชัยวิวัฒน์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท วีเอ็นยู เอ็กซิบิชั่นส์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด กล่าวว่า “การจัดงานที่จ.อุดรธานี และมีผู้เข้าร่วมการสัมมนาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว ต้องถือว่าผู้เข้าฟังสัมมนามาด้วยความสนใจที่จะเข้ารับฟังข้อมูลต่างๆ จากผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงมาชมการสาธิต ผลิตภัณฑ์จากบริษัทชั้นนำ ที่เราเชิญมาเข้าร่วม โดยเราคาดหวังให้ผู้เข้าฟังสัมมนาได้เตรียมความพร้อมที่จะปรับตัว เพิ่มผลผลิต และมาตรฐานของตนเอง เพื่อรองรับการแข่งขันที่สูงขึ้นเรื่อยๆ”