กรุงเทพฯ--4 ก.พ.--สกว.
มหาวิทยาลัยพะเยา ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ผลักดันโครงการ “พัฒนาคณะเพื่อพัฒนาพื้นที่ด้วยวิชาการ” สนับสนุนคณะต่างๆ ภายในมหาวิทยาลัยริเริ่มและพัฒนางานวิจัยเชิงพื้นที่ (ABC) ตามศักยภาพของแต่ละคณะ ตอบโจทย์ปณิธาน ม.พะเยาเพื่อรับใช้สังคม นำร่องปีแรก 12 คณะ 12 เรื่องตามแนวคิดงานวิจัย 1 คณะ 1 โมเดล หวังสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน พร้อมเป็นที่พึ่งให้กับพื้นที่ได้อย่างแท้จริง
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยพะเยาดำเนินโครงการ 1 คณะ 1 โมเดล ภายใต้แนวคิดการนำความรู้ทางวิชาการของแต่ละคณะไปทำงานร่วมพัฒนาแต่ละชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม นับเป็นโครงการสำคัญต่อการพัฒนามหาวิทยาลัย ผลของโครงการส่งผลให้เกิดการพัฒนาศักยภาพคนและความเข้มแข็งของชุมชน ซึ่งในระยะยาวจะเกิดผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ศิลปวัฒนธรรม และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนทั้งในจังหวัดพะเยาและจังหวัดใกล้เคียง”
ด้าน ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่แบบสร้างสรรค์ (ABCreative: Area-Based Creative) มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า “ที่ผ่านมาการสนับสนุนงานวิจัยให้แก่ ม.พะเยา มักเป็นไปในลักษณะงานวิจัยแบบรายโครงการที่รับทุนโดยนักวิจัยรายบุคคล โอกาสการสร้างผลกระทบจะค่อนข้างต่ำ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ในวงกว้างและสามารถขับเคลื่อนไปได้ทั้งมหาวิทยาลัย จึงนำมาสู่ความร่วมมือกันระหว่าง ม.พะเยา และ สกว. โดยเริ่มจากการสร้างหน่วยบริหารจัดการงานวิจัยใน ม.พะเยา ขึ้นมา คือ ศูนย์เครือข่ายความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่แบบสร้างสรรค์ หรือ ABCreative ภารกิจแรกคือ การวิเคราะห์ศักยภาพของพื้นที่และของ ม.พะเยา เพื่อดูความพร้อมและความเหมาะสมก่อนลงพื้นที่ทำวิจัย ผ่านการสนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ 1 คณะ 1 โมเดล ของ ม.พะเยาที่มีอยู่แล้ว ภายใต้ชื่อโครงการ ‘พัฒนาคณะเพื่อพัฒนาพื้นที่ด้วยวิชาการ’ ในลักษณะทุนวิจัยร่วมกัน เพื่อให้ทุกคณะได้มีส่วนในการทำวิจัยเชิงพื้นที่ และเกิดเป็นกลไกหรือเส้นทางการบริหารจัดการงานวิจัยของคณะนั้นๆ ต่อไป”
“โครงการร่วมสนับสนุนทุนวิจัยระหว่าง ม.พะเยา และ สกว. ดังกล่าวมีระยะเวลา 1 ปี (ตามปีงบประมาณ 2557) โดยมีคณะ/วิทยาลัยทั้งสิ้นจำนวน 12 แห่งที่ได้รับทุนสนับสนุนวิจัยเชิงพื้นที่ ได้แก่ คณะวิทยาศาสตร์ วิทยาลัยพลังงานและสิ่งแวดล้อม คณะพยาบาลศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งแต่ละคณะจะทำการวิจัยในบริบทพื้นที่ที่แตกต่างกันไปในแต่ละแห่งของจังหวัดพะเยา จากผลการดำเนินการในช่วง 3 เดือนแรก ทำให้เห็นฐานความคิดของการพัฒนาโจทย์วิจัยว่ามาจากไหน มีพัฒนาการอย่างไร รวมทั้งเห็นรูปแบบการทำงานร่วมกันของกลุ่มต่างๆ แม้โจทย์วิจัยที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้เกิดจากในพื้นที่ทั้งหมด แต่ได้สะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่แต่ละคณะได้ทำการศึกษานั้นมีประโยชน์กับพื้นที่จริงๆ นับเป็นการสร้างวัฒนธรรมการทำงานวิจัยที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม” ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา กล่าวเสริม
โดยในงานประชุมวิชาการพะเยาวิจัย 2557 ณ ม.พะเยา เมื่อช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา (23 ม.ค. 57) ม.พะเยา และ สกว. ได้จัดให้มีการนำเสนอความก้าวหน้าผลงานของโครงการ 1 คณะ 1 โมเดล ภายใต้โครงการวิจัยพัฒนาคณะเพื่อพัฒนาพื้นที่ โดยได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ได้แก่ Professor Dato' Dr.Saran Kaur Gill , Universiti Kebangsaan Malaysia’s Deputy Vice Chancellor (Industry and Community Partnerships), and Executive Director for AsiaEngage. ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล และ ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง ผู้อำนวยการสถาบันคลังสมองของชาติ เข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นต่อการขับเคลื่อนงานของ ม.พะเยา โดยสรุปความเห็นได้ว่า “โครงการ 1 คณะ 1 โมเดลนี้ทำให้เห็นความก้าวหน้าในของการทำงานของคณะต่างๆ ใน ม.พะเยา ทั้งด้านการมองบริบทพื้นที่ การพัฒนาโจทย์วิจัยจากปัญหาของคนในชุมชน การออกแบบการทำงานที่มีการเชื่อมโยงการทำงานของสาขาวิชาต่างๆ ในคณะเข้ามาร่วมกันแก้ปัญหาให้กับชุมชน นับเป็นประสบการณ์ก้าวแรกของคณาจารย์ นักศึกษาในการสัมผัสพื้นที่โดยตรง อาจจะเห็นว่าสิ่งที่ทำอาจไม่ใช่คำตอบของปัญหาในระยะต้น แต่เมื่อทำงานกับชุมชนต่อไปอาจารย์และนักศึกษาจะได้รับทักษะ ประสบการณ์ทำงานรับใช้ชุมชน และการจัดปรับงานวิจัยให้เข้ารูปที่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของคนในชุมชน อีกทั้งในมิติของการวิจัยจะมองเห็นโจทย์การทำงานวิชาการที่ลึกขึ้นจากการทำงานพื้นที่ได้ดีมากขึ้น”
ทั้งนี้ ผลงานวิจัยเชิงพื้นที่ที่คณะต่างๆ ได้ริเริ่มทำในพื้นที่แต่ละแห่งของจังหวัดพะเยามีด้วยกันหลายเรื่องจากหลายคณะ อาทิ คณะวิทยาศาสตร์ ที่ทำวิจัยเรื่อง “วิทยาศาสตร์เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในตำบลจุน จังหวัดพะเยา” โดย ดร.สิทธิศักดิ์ ปิ่นมงคลกุล รองคณบดีฝ่ายวิจัยและประกันคุณภาพ คณะวิทยาศาสตร์ ม.พะเยา กล่าวว่า “น้ำจุนโมเดล เป็นการศึกษาวิจัยในพื้นที่ อ.จุน จ.พะเยา ด้วยโจทย์วิจัยที่มาจากปัญหาทรัพยากรในพื้นที่ในเรื่องการแย่งน้ำเพื่อใช้ในการทำมาหากิน ปัญหาการไม่มีระบบเปิด-ปิดประตูน้ำที่ดี ไม่มีการคาดการณ์ถึงปริมาณน้ำว่าจะเพียงพอต่อการทำนาในอนาคต และขาดการมีส่วนร่วมต่างคนต่างตัดสินใจจนนำไปสู่ความขัดแย้ง เหล่านี้นับเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน งานวิจัยได้ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เข้าไปช่วยในการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการ ด้วยคำนึงถึงองค์ประกอบหลัก 2 ส่วน ได้แก่ เชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยเชิงปริมาณทำการศึกษาถึงปริมาณของน้ำที่มีอยู่ว่าเพียงพอหรือไม่ โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์คำนวณ และเชิงคุณภาพทำการศึกษาผลกระทบต่อความเป็นอยู่ สุขภาวะ และการเพาะปลูกของคนในชุมชน ขณะนี้งานวิจัยดำเนินไปถึงขั้นหลังจากได้แผนที่การใช้น้ำใน อ.จุนแล้ว ทีมวิจัยได้ร่วมกับทาง อบต.จุน อยู่ระหว่างจัดตั้งคณะกรรมการแหล่งน้ำ โดยเน้นตัวแทนที่เป็นคนในชุมชนพื้นที่ที่น้ำไหลผ่าน ซึ่งในการดำเนินของคณะกรรมการชุดดังกล่าวจำต้องมีค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน ทีมวิจัยจึงมองถึงการต่อยอดงานวิจัยในอนาคตที่จะพัฒนาแหล่งน้ำใน อ.จุนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดทุนหมุนเวียนใช้จ่าย และเพิ่มรายได้แก่ชุมชนอีกทางหนึ่งไปพร้อมกัน”
ส่วนวิทยาลัยพลังงานและสิ่งแวดล้อม ม.พะเยา ทำวิจัยเรื่อง “การพัฒนารูปแบบการจัดงานวิชาการรับใช้สังคม โดยการเรียนรู้ผ่านการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบการใช้วัสดุเศษเหลือทาการเกษตรในชุมชนบ้านโซ้” โดย ดร.สุลักษณ์ สุมิตสวรรค์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ ม.พะเยา อธิบายว่า “ชีวมวลบ้านโซ้โมเดล เป็นการศึกษาวิจัยในพื้นที่ อ.เมือง จ.พะเยา ภายใต้แนวคิดที่ว่า ชุมชนเข้มแข็งด้วยระบบนิเวศ ห่วงโซ่อาหาร พลังงานธรรมชาติ วีถีชีวิตแห่งความสุข โดยโจทย์วิจัยเริ่มมาจากปัญหาหมอกควันที่เกิดจากการเผาตอซังข้าวโพด โดยจะเน้นการสร้างทางเลือกในการจัดการชีวมวลที่เหลือจากการทำการเกษตร วิธีการทำงานของคณะทำงานซึ่งประกอบด้วยทีมวิจัยและตัวแทนจากชุมชน ไม่ได้เป็นการไปบอกว่าเขาควรทำอะไร แต่จะให้ชาวบ้านสะท้อนว่าเขาอยากทำอะไร และที่ผ่านมาเคยทำอะไรบ้างแล้ว วิธีการใดบ้างสำเร็จและไม่สำเร็จ จากนั้นจึงนำวิธีที่ทำสำเร็จนั้นมาพัฒนาต่อยอดให้ดีและมีประสิทธิภาพต่อไป เช่น การทำถ่านอัดแท่งเพื่อจำหน่าย การนำซังข้าวโพดเพื่อหมักขาย แทนการเผาทิ้ง เป็นต้น ขณะนี้ความคืบหน้าของงานวิจัยอยู่ในขั้นรวมกลุ่มและปรึกษาหารือร่วมกับชาวบ้านเพื่อหาแนวทางที่ดี พร้อมวางตัวชี้วัดความสำเร็จของงานวิจัยไว้แล้วจากการวิเคราะห์จุด hot spot ว่าจะลดลงหรือไม่เพียงไร นอกจากนี้ ยังมีแผนต่อยอดงานวิจัยในเรื่องการพัฒนาแท่งอัดซังข้าวโพดชีวมวลที่มีคุณสมบัติให้ความร้อนเหมาะแก่การเป็นเชื้อเพลิงที่ดีต่อไปด้วย”
ในส่วนของคณะพยาบาลศาสตร์ ม.พะเยา ทำวิจัยเรื่อง “การพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนด้านการป้องกันโรคเบาหวานด้วยอาหารตามวิถีล้านนา ตำบลแม่ใส อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา” โดย ผศ.ดร.ชณิตา ประดิษฐ์สถาพร อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ ม.พะเยา เล่าว่า “งานวิจัยเป็นการศึกษาในพื้นที่ ต.แม่ใส อ.เมือง จ.พะเยา ด้วยโจทย์วิจัยที่มาจากปัญหาสุขภาพของคนในจังหวัดที่จำนวนของประชากรผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตจำนวนสูงมาก เนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคของคนที่นี่ชอบรับประทานอาหารหวานและเครื่องเคียงที่มีส่วนเพิ่มความดันโลหิตสูงเป็นปริมาณมาก จากข้อมูลสาธารณสุขในพื้นที่พบว่า มีผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานและความดันตั้งแต่อายุ 30 ปีด้วยซ้ำ ซึ่งจากการศึกษาถึงความกินดีอยู่ดีของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุยืนยาว พบว่าเหตุผลสำคัญ คือ การบริโภคอาหารที่มีประโยชน์และเสริมสร้างพร้อมช่วยลดอาการเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานและความดัน ทำให้ได้เมนูอาหารต้นตำรับที่เหมาะสมต่อการบริโภคของคนในพื้นที่ เมนูแนะนำ อาทิ ข้าวแคบ ข้าวก่ำหรือข้าวเหนียวดำแบบล้านนา ข้าวพอง(ไม่ใส่ไข่) แกงแค แกงไม่ใส่กะทิ ชุดผักน้ำพริกตาแดง เป็นต้น โดยปัจจุบันงานวิจัยดังกล่าวอยู่ในขั้นการตรวจสอบปริมาณคุณค่าสารอาหารต่างๆ พร้อมกันนี้ มีแผนต่อยอดที่จะพัฒนางานวิจัยในประเด็นจากการบริโภคอาหารที่คนในพื้นที่มักติดในรสชาติ ซึ่งส่วนประกอบเพิ่มรสชาติ เช่น ผงชูรส ผงปรุงรส กะปิ น้ำปา เกลือ ล้วนมีผลเสี่ยงต่อความดันเบาหวาน โดยจะพัฒนา ‘ผงนัว’ ที่ทำจากผักสมุนไพรเพื่อเป็นเครื่องปรุงรส พร้อมเตรียมทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่จะนำไปขายเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชนอีกทางหนึ่ง”
อีกหนึ่งคณะคือ คณะนิติศาสตร์ ทำวิจัยเรื่อง “การคุ้มครองสิทธิชาวไทลื้อในจังหวัดพะเยา” โดย อาจารย์วิทูรย์ ตลุดกำ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัย คณะนิติศาสตร์ ม.พะเยา กล่าวว่า “ที่มาของโจทย์วิจัยเริ่มมาจากโครงการศึกษากฎหมายเชิงคลินิกของนักศึกษาที่ลงสำรวจในพื้นที่เพื่อศึกษาสถานการณ์ปัญหาการถูกละเมิดสิทธิ ทำให้ได้รับข้อมูลของกลุ่มคนที่ถูกละเมิดสิทธิ และในส่วนของคนไทลื้อยังพบว่า มีหลายกลุ่มทั้งกลุ่มที่ได้รับสัญชาติไทยแล้วและยังไม่ได้รับ ถ้าเป็นเด็กจะมีปัญหาเรื่องกองทุนการศึกษา รวมทั้งในระดับปริญญาตรีจะเรียนสาขาเฉพาะทางไม่ได้ ขณะที่คนสูงอายุจะไม่ได้สิทธิเบี้ยยังชีพ เป็นต้น ปัญหาการไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยดังกล่าว ทำให้ทีมวิจัยเกิดความคิดว่าจะช่วยให้พวกเขาเหล่านั้นได้รับสถานะบุคคลที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิบริการทางสาธารณสุข เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และสิทธิขั้นพื้นฐานอื่นๆ ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่า มีกลุ่มไทลื้อที่ยังไม่ได้รับสิทธิในพื้นที่พะเยามากกว่า 1,000 คน และเพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิชาวไทลื้ออย่างยั่งยืน ทีมวิจัยมีโครงการจะต่อยอดงานวิจัยในเรื่องการศึกษาปัจจัยที่เป็นตัวสร้างปัญหาหรือสาเหตุที่ทำให้คนไทลื้อในพื้นที่ไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมายต่อไป”
จะเห็นได้ว่า งานวิจัยที่เกิดจากการสนับสนุนทุนวิจัยร่วมกันระหว่าง ม.พะเยา และ สกว. ในโครงการ 1 คณะ 1 โมเดล มีส่วนช่วยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ โดยใช้บริบทพื้นที่เป็นตัวตั้งสำคัญในการพัฒนาโจทย์วิจัย ก่อนจะใช้ความเป็นวิชาการของคณะ/วิทยาลัยต่างๆ ของ ม.พะเยา ในการเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาและพัฒนา ทำให้งานวิจัยที่เกิดขึ้น ได้รับการนำประโยชน์ไปใช้ได้อย่างแท้จริง เนื่องจากมีส่วนร่วมของกลุ่มคนทุกภาคส่วน ทั้งจากภาควิชาการของมหาวิทยาลัย ชาวบ้านชุมขนในพื้นที่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ โดยมีมหาวิทยาลัยในพื้นที่เป็นผู้รับใช้สังคม สมดังเจตนารมณ์และปณิธานของ ม.พะเยา ในการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อรับใช้สังคม และเป็นต้นแบบ “พะเยาโมเดล” ที่มหาวิทยาลัยอื่นๆ สามารถนำไปปรับใช้กับการพัฒนาวิจัยเชิงพื้นที่ในแต่ละมหาวิทยาลัยในแต่ละจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป