กรุงเทพ--30 มิ.ย.--สำนักงานก.พ.
สำนักงานก.พ.ชี้แจงกรณีข้าราชการร้องเรียนเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมในการสอบคัดเลือกเพื่อเลื่อนขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น
นายศุภรัชต์ โชติกญาณ รองเลขาธิการ ก.พ.เปิดเผยว่าสำนักงานก.พ.ได้รับจดหมายร้องเรียนจากข้าราชการกรมราชทัณฑ์ผู้หนึ่ง เกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมในการบรรจุแต่งตั้ง เพื่อเลื่อนขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับที่สูงขึ้น สรุปได้ว่า กรมราชทัณฑ์เปิดรับสมัครสอบคัดเลือกเพื่อเลื่อนข้าราชการขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในระดับ 6 โดยได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการบรรจุและแต่งตั้งไว้ว่า ต้องสอบได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ต้องดำรงตำแหน่งระดับ 5 มาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี และต้องได้รับเงินเดือนไม่ต่ำกว่าขั้น 11,120 บาท แต่มีผู้สมัครสอบประมาณ 30% ขาดคุณสมบัติในเรื่องระยะเวลาดำรงตำแหน่งและเงินเดือน โดยผู้ร้องเรียนคาดเดาว่าผู้มีอำนาจแต่งตั้งอาจจะละเว้นไม่ใช้หลักเกณฑ์เรื่องระยะเวลาการดำรงตำแหน่งตามที่ก.พ. กำหนดเพื่อเลือกปฏิบัติในการช่วยเหลือให้คนสนิทได้รับการแต่งตั้ง จึงขอให้สำนักงานก.พ.ช่วยดูแลการแต่งตั้งและให้ความเป็นธรรมแก่ข้าราชการที่สมัครสอบในกรมราชทัณฑ์ด้วย ซึ่งจากการตรวจสอบของสำนักงานก.พ. ปรากฎว่าการประกาศรับสมัครสอบคัดเลือกเพื่อเลื่อนข้าราชการขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานราชทัณฑ์ 6 ของกรมราชทัณฑ์ตามประกาศรับสมัคร ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2542 นั้น กรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอนและวิธีการคัดเลือกตามหลักเกณฑ์ที่ก.พ.กำหนด และกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเลื่อนขึ้นแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานราชทัณฑ์ 6 รวมทั้งอัตราเงินเดือนที่ได้รับก่อนการเลื่อนเป็นไปตามเงื่อนไขที่ก.พ. กำหนดไว้ทุกประการ
นายศุภรัชต์ฯ ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่าในขณะนี้ กรมราชทัณฑ์ยังไม่ได้ประกาศและขึ้นบัญชีผู้สอบคัดเลือกได้แต่อย่างใด และในการแต่งตั้งข้าราชการนั้น พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 56 บัญญัติว่าจะต้องแต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติตรงตามคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนั้นตามที่ ก.พ.กำหนดไว้ในมาตรฐานกำหนดตำแหน่ง เว้นแต่มีเหตุผลความจำเป็น ก.พ.จะอนุมัติให้แต่งตั้งผู้มีคุณสมบัติต่างจากนั้นได้ ดังนั้นในกรณีของกรมราชทัณฑ์หากจะมีการแต่งตั้งข้าราชการที่มีคุณสมบัติต่างไปจากที่ก.พ.กำหนดก็จะต้องได้รับอนุมัติจากก.พ.ที่มีกระบวนการพิจารณาที่รัดกุมก่อน สำหรับกรณีที่มีการแต่งตั้งข้าราชการ โดยไม่เป็นตามหลักเกณฑ์ที่ก.พ.กำหนดของทุกกระทรวง ทบวง กรม นั้นสำนักงานก.พ. จะได้ตรวจสอบและขอให้ส่วนราชการนั้น ๆ ดำเนินการให้ถูกต้องต่อไปอย่างไรก็ตาม หากข้าราชการในกระทรวง ทบวง กรม ใด พบเห็นการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ก.พ.กำหนด ก็อาจส่งข้อมูลไปให้สำนักงานก.พ. เพื่อตรวจสอบโดยตรงก็ได้--จบ--