กรุงเทพฯ--5 ก.พ.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันบางส่วนในวงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาทของ บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A-” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยหุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการค้ำประกันบางส่วนจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นจำนวนร้อยละ 60 ของเงินต้นและดอกเบี้ยค้างชำระของหุ้นกู้ที่เสนอขาย และรวมกันแล้วไม่เกินกว่าจำนวน 300 ล้านบาท ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทยได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ “BBB+” แนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” (International Scale) จาก Standard and Poor’s นอกเหนือจากความแข็งแกร่งที่ได้รับจากการค้ำประกันอย่างไม่มีเงื่อนไขและเพิกถอนไม่ได้จากธนาคารกสิกรไทยแล้ว อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงประวัติทางธุรกิจที่ยาวนานของบริษัทในธุรกิจการให้สินเชื่อรถจักรยานยนต์ ตลอดจนความสามารถและประสบการณ์ของคณะผู้บริหาร สถานะทางการตลาดที่ปรับตัวดีขึ้น รวมถึงความสามารถในการทำกำไรที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง และฐานทุนที่เข้มแข็งด้วยบางส่วน อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจสินเชื่อรถจักรยานยนต์รวมถึงความเสี่ยงด้านเครดิตของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่อยู่ในระดับสูงเป็นปัจจัยลดทอนความแข็งแกร่งของอันดับเครดิต นอกจากนี้ ยังมีประเด็นกังวล 2 ประการ คือ ความสามารถในการรักษาสถานะทางธุรกิจของบริษัทหลังจากที่ฟื้นตัวจากการถดถอยในปี 2554 และคุณภาพของสินเชื่อที่เพิ่งขยายตัวในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้น ผู้บริหารของบริษัทจึงยังคงต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ความสามารถในการจัดการประเด็นกังวลดังกล่าว ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดและมีผลประกอบการที่น่าพอใจอย่างต่อเนื่อง คาดว่าบริษัทจะสามารถควบคุมคุณภาพสินเชื่อให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ นอกจากนี้ การได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นใหญ่คาดว่าจะยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
บริษัทกรุ๊ปลีสก่อตั้งในปี 2529 โดยตระกูลเหลืองรังษีเพื่อประกอบธุรกิจให้สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ในปี 2533นายขรรค์ชัย บุนปานและนายอนุศักดิ์ อินทรภูวศักดิ์ได้ซื้อกิจการของบริษัทจากผู้ถือหุ้นเดิมและได้หันไปเน้นการให้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ในปี 2548 สถานะทางการตลาดของบริษัทปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่มีการเพิ่มทุนจำนวน 120 ล้านบาทโดยการออกหุ้นเพิ่มทุนผ่านการสนอขายแก่สาธารณชนเป็นครั้งแรกพร้อมทั้งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2547 บริษัทมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นในปี 2550 โดย Asia Partnership Fund (APF) ซึ่งเป็นกองทุนจากประเทศญี่ปุ่นได้ซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นใหญ่พร้อมทั้งซื้อหุ้นผ่านการทำคำเสนอซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายย่อย ส่งผลให้ APF เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 62.4% ณ วันที่ 21 พฤศจิกายน 2556 APF ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 65.2% โดยถือหุ้นผ่าน Engine Holdings Asia Ptd., Ltd. (31.7%) A.P.F. Holdings Co., Ltd. (18%) และ Six Sis Ltd. (15.5%)
หลังจากจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2547 สินเชื่อคงค้างของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 765 ล้านบาทในปี 2547 เป็น 1,083 ล้านบาทในปี 2548 สินเชื่อคงค้างรักษาระดับอยู่ที่ 1,084 ล้านบาทในปี 2549 เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงจากผู้ประกอบการรายใหม่ที่เข้าสู่ตลาดในปี 2548 และ 2549 พื้นฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งช่วยให้บริษัทสามารถอยู่รอดได้พร้อมทั้งมีผลประกอบการทางการเงินที่น่าพอใจ ในขณะที่ผู้ประกอบการรายใหม่หลายรายที่ใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเชิงรุกเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดมีผลขาดทุนค่อนข้างมากและออกจากตลาดไป หลังจากปี 2549 สินเชื่อคงค้างของบริษัทกลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง โดยเพิ่มขึ้นเป็น 1,558 ล้านบาทในปี 2550 และ 2,266 ล้านบาทในปี 2551 การชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกในปี 2551 และ 2552 ส่งผลให้สินเชื่อคงค้างลดลงมาอยู่ที่ 2,088 ล้านบาทในปี 2552 และเพิ่มขึ้นเป็น 2,638 ล้านบาทหลังจากที่ตลาดฟื้นตัวในปี 2553
ในปี 2554 คณะผู้บริหารและพนักงานจำนวนหนึ่งได้ลาออกจากบริษัทหลังจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหาร นอกจากนี้ อุทกภัยที่รุนแรงในปลายปี 2554 ได้เป็นอุปสรรคต่อการขยายสินเชื่อ ส่งผลให้สินเชื่อคงค้างของบริษัทลดลงเป็น 2,207 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2554 ผู้ถือหุ้นใหญ่และพนักงานที่เหลือได้พยายามฟื้นฟูสถานะของบริษัทด้วยการจ้างคณะผู้บริหารชุดใหม่ซึ่งมีประสบการณ์ในธุรกิจให้สินเชื่อรถจักรยานยนต์เข้ามาบริหารงาน โดยคณะผู้บริหารชุดใหม่ได้ขยายเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายและรักษาความสัมพันธ์กับตัวแทนจำหน่ายเดิมที่มีอยู่ ความพยายามดังกล่าวส่งผลให้สถานะทางการตลาดของบริษัทปรับตัวดีขึ้น โดยสินเชื่อคงค้างของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 3,306 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2555 หรือเพิ่มขึ้น 49.8% จากปี 2554 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 4,719 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 เมื่อพิจารณาจากสินเชื่อคงค้าง บริษัทมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 จากจำนวนผู้ให้บริการสินเชื่อรถจักรยานยนต์ 10 รายใหญ่ในฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง
ในปี 2555 บริษัทได้ขยายธุรกิจไปยังประเทศกัมพูชาผ่านบริษัทลูกที่บริษัทถือหุ้นทั้งหมด คือ GL Finance PLC (GLF) บริษัทได้ร่วมมือกับ Honda NCX ซึ่งเป็นผู้ผลิตและตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้าแต่เพียงผู้เดียวในประเทศกัมพูชา ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 สินเชื่อคงค้างของ GLF ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่า 1% ของสินเชื่อรวมของบริษัท ซึ่งยังคงต้องใช้เวลาในการพิสูจน์ความสำเร็จในการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศว่าจะช่วยยกระดับผลประกอบการโดยรวมของบริษัทได้หรือไม่เพียงใด
สินเชื่อของบริษัทถดถอยลงค่อนข้างมากในปี 2554 เนื่องจากผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหญ่ โดยอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อค้างชำระมากกว่า 3 เดือน) ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นจาก 7.8% ในปี 2553 เป็น 12.4% ในปี 2554 อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับลดลงเป็น 5.5% ในปี 2555 หลักจากความสามารถในการชำระคืนของลูกหนี้ปรับ
ดีขึ้น คุณภาพสินเชื่อได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปี 2556 ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายอื่นเช่นกัน อัตราส่วนดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้นเป็น 8.1% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมีความกังวลต่อคุณภาพสินเชื่อโดยรวมของบริษัทเนื่องจากบริษัทมีการขยายสินเชื่อแบบเชิงรุกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
ผลประกอบการทางการเงินของบริษัทปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2555 โดยกำไรสุทธิปรับเพิ่มขึ้นเป็น 357 ล้านบาทในปี 2555 จาก 215 ล้านบาทในปี 2554 การปรับเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นผลจากการลดลงมากของค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองเนื่องจากคุณภาพสินเชื่อที่ดีขึ้นและการเปลี่ยนแปลงนโยบายการตั้งสำรอง บริษัทได้มีการเปลี่ยนแปลงอัตราการตั้งสำรองในแต่ละชั้นลูกหนี้ ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองต่อสินเชื่อรวมเฉลี่ยปรับลดลงจาก 8.5% ในปี 2554 เป็นเพียง 1.6% ในปี 2555 อัตราส่วนสำรองสำหรับหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อรวมก็ปรับลดลงเป็น 5.3% ในปี 2555 จาก 13.2% ในปี 2554 แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการตั้งสำรอง แต่คุณภาพสินเชื่อที่ปรับดีขึ้นก็ช่วยให้บริษัทสามารถดำรงอัตราส่วนสำรองสำหรับหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ระดับ 96.8% ซึ่งใกล้เคียงกับระดับ 106.8% ในปี 2554 ผลประกอบการของบริษัทในปี 2556 ได้รับผลกระทบจากการด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อและการขาดทุนจากการขายรถจักรยานยนต์ยึดคืนที่สูงขึ้น อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองต่อสินเชื่อรวมถัวเฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นเป็น 8.1% สำหรับช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2556 (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีแล้ว) อัตราส่วนขาดทุนจากการขายรถจักรยานยนต์ยึดคืนต่อสินเชื่อรวมถัวเฉลี่ยก็ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 6.2% สำหรับช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2556 (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีแล้ว) จาก 5.1% ในปี 2555 ส่งผลให้กำไรสุทธิอยู่ที่ระดับ 227 ล้านบาทสำหรับ 3 ไตรมาสแรกของปี 2556 ลดลง 10% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2555 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมเฉลี่ยลดลงเป็น 7.0% สำหรับ 3 ไตรมาสแรกของปี 2556 (ปรับอัตราส่วนให้เป็นตัวเลขเต็มปีแล้ว) จาก 12.3% ในปี 2555 แม้ว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะลดลง แต่อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมเฉลี่ยของบริษัทก็อยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่นในธุรกิจสินเชื่อสำหรับรถจักรยานยนต์ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะเข้มงวดในนโยบายการอนุมัติสินเชื่อและการจัดเก็บหนี้ให้มากขึ้น ซึ่งนโยบายที่เข้มงวดขึ้นจะช่วยปรับเพิ่มคุณภาพสินเชื่อและผลประกอบการโดยรวมให้ดีขึ้น
ความยืดหยุ่นทางการเงินของบริษัทปรับดีขึ้นหลังจากมีการเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นในปี 2550 บริษัทสามารถขยายฐานสินเชื่อด้วยการกู้ยืมเงินจากการสนับสนุนโดยความน่าเชื่อถือของผู้ถือหุ้นใหญ่ แม้ว่าเงินกู้ยืมรวมของบริษัทจะปรับเพิ่มขึ้นจาก 954 ล้านบาทในปี 2550 เป็น 1,772 ล้านบาทในปี 2555 อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมก็ยังคงแข็งแกร่งจากการปรับโครงสร้างทุนอย่างต่อเนื่องและผลประกอบการทางการเงินที่แข็งแรง อัตราส่วนของส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมลดลงเป็น 43% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 จาก 45.6% ในปี 2555 และ 57.9% ในปี 2554 แม้ว่าอัตราส่วนดังกล่าวจะลดลง แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่แข็งแรงเพียงพอต่อการสนับสนุนธุรกิจสินเชื่อรถจักรยานยนต์ที่มีความเสี่ยงสูงของบริษัท ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะรักษาระดับฐานทุนที่มากกว่าธุรกิจให้สินเชื่อยานพาหนะทั่วไปที่เน้นรถยนต์นั่งและรถกระบะ ฐานทุนที่แข็งแกร่งของบริษัทจะเป็นเครื่องมือช่วยพยุงและดูดซับความเสี่ยงเนื่องจากฐานลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทมีความเสี่ยงด้านคุณภาพเครดิตที่สูงซึ่งมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจ
บริษัท กรุ๊ปลีส จำกัด (มหาชน) (GL)
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
หุ้นกู้มีการค้ำประกันบางส่วนมูลค่ารวมไม่เกิน 500 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2560 A-
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable