กรุงเทพฯ--6 ก.พ.--สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ พระราชทานคัดเลือก ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) เป็นหนี่งในนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ ที่เข้าร่วมการประชุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Global Young Scientist Summit : GYSS) ครั้งที่ 2 ณ สาธารณรัฐสิงค์โปร์ ซึ่งเป็นการประชุมที่จัดเพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ที่ประสบความสำเร็จทางด้านวิทยาศาสตร์ (ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาต่างๆ , ผู้ได้รับเหรียญรางวัล Fields, ผู้ได้รับรางวัล IEEE และรางวัล Millennium Technology) กับเยาวชนและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ หวังเปิดโลกทัศน์ทางวิชาการ และเรียนรู้ความก้าวหน้าทางวิทยาการใหม่ๆ จากประสบการณ์จริงของนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำระดับโลก
เนื้อข่าว
การประชุมสุดยอดนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Global Young Scientist Summit : GYSS) เป็นการประชุมที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการประชุมผู้ได้รับรางวัลโนเบล ณ เมืองลินเดา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี เพื่อสร้างเครือข่ายระหว่าง ผู้ที่ประสบความสำเร็จทางด้านวิทยาศาสตร์ (ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาต่างๆ , ผู้ได้รับเหรียญรางวัล Fields, ผู้ได้รับรางวัล IEEE และรางวัล Millennium Technology) กับเยาวชนและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รับสนองพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีพระประสงค์ให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ของไทย มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมการประชุม GYSS ซึ่งนับว่าเป็นการจัดครั้งที่ 2 ณ Nanyang Technological University สาธารณรัฐสิงค์โปร์ สำหรับรางวัลสุดยอดนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ เป็นการคัดเลือก นิสิต นักศึกษา นักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์ของไทยที่มีศักยภาพและคุณสมบัติที่เหมาะสมจากทั่วประเทศ และนำรายชื่อผู้ผ่านการสัมภาษณ์จำนวน 20 คน ขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงคัดเลือกในขั้นตอนสุดท้าย จำนวน 5 คน ที่เป็นตัวแทนประเทศไทยในการเข้าร่วมการประชุม
ในปีนี้ ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ นักวิทยาศาสตร์ระบบลำเลียงแสง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งในตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุม GYSS ประจำปี 2557 ซึ่งจัดขึ้นไปเมื่อวันที่ 19 – 24 มกราคม 2557 ณ Nanyang Technological University สาธารณรัฐสิงค์โปร์ โดยการประชุมดังกล่าว หวังเปิดโลกทัศน์ทางวิชาการ และเรียนรู้ความก้าวหน้าทางวิทยาการใหม่ๆ จากประสบการณ์จริงของนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำระดับโลก อีกทั้งเยี่ยมชมสถาบันวิจัยชั้นนำทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศสิงค์โปร์อีกด้วย