กรุงเทพฯ--6 ก.พ.--มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สามองค์กรหลักจับมือ รักษาชีวิตสัตว์ทะเล ศึกษาปัญหามลภาวะและการปล่อยของเสียชายฝั่งทะเลไทย และช่วยภาคอุตสาหกรรม คุมต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม
สมาคมอุตสาหกรรมเพื่อป้องกันภัยพิบัติ (ANDPI) จับมือกับ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ บริษัท จีโอซินเทค จำกัด (Geosyntec) ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเล ร่วมกันศึกษาปัญหามลภาวะและการปล่อยของเสียชายฝั่งทะเลไทย เพื่อวางแผนป้องกันการรักษาสิ่งมีชีวิตในทะเลและระบบนิเวศน์วิทยา พร้อมกับวางแนวทางร่วมกับภาคอุตสาหกรรมในการควบคุมให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด ภายใต้งบประมาณที่ควบคุมได้
โครงการศึกษาปัญหาสิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเลไทย เป็นการต่อยอดการทำงานของภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ได้ทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากกรณีน้ำมันรั่วที่จังหวัดระยอง เมื่อเดือน กรกฎาคม 2556 ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าผลการศึกษาที่ได้จะชี้ให้เห็นว่า น้ำมันรั่วที่เกิดขึ้น
สร้างความเสียหายโดยรวมไม่มากนัก แต่เพื่อการป้องกันความเสียหายในอนาคต จึงควรมีการจัดทำโปรแกรมตามหลักเทคนิคในการติดตาม เฝ้าระวัง และจัดทำแผนป้องกันเชิงรุก และให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถทำธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยต้นทุนการดำเนินงานที่ไม่เพิ่มมากเกินไป นอกจากนี้ ยังเป็นจุดเริ่มสำหรับการวางกฎเกณฑ์ข้อบังคับเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเลไทย
นายปรานต์ สยามวาลา นายกสมาคมอุตสาหกรรมเพื่อป้องกันภัยพิบัติ (ANDPI) กล่าวว่า “โครงการ การศึกษาปัญหาสิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเลไทย ถือเป็นโครงการนำร่อง โดยเป็นการร่วมมือกันระหว่าง สมาคมอุตสาหกรรมเพื่อป้องกันภัยพิบัติ (ANDPI) ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ บริษัท จีโอเซ็นทิค จำกัด สมาคมอุตสาหกรรมเพื่อป้องกันภัยพิบัติเป็นหน่วยงานหลักและเป็นคนกลางประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่ทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมและพิษวิทยา โดยมี บริษัท จีโอเซ็นทิค จำกัด เป็นที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก ซึ่งจะนำประสบการณ์การการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จใน อเมริกา ออสเตรเลีย และยุโรปมาประยุกต์ใช้ในการศึกษาภูมิประเทศชายฝั่งของประเทศไทย
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดี คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ กล่าวว่า “การศึกษาสิ่งมีชีวิตและสภาพแวดล้อมชายฝั่งทะเลไทยครั้งนี้ แบ่งการทำงานเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่หนึ่ง การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับมลพิษบริเวณชายฝั่งทะเลและปริมาณการปล่อยของเสียลงสู่ทะเล ส่วนที่สอง ระบุผลกระทบต่อมนุษย์ และผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตชายฝั่งทะเล ส่วนที่สาม จะเป็นการประเมินด้านพิษวิทยา และโอกาสเสี่ยงของผู้ที่ได้รับมลพิษ เมื่อการศึกษาเสร็จสิ้นทั้งสามส่วน จะมีการนำการศึกษาในส่วนที่สอง คือการนำการประเมินผลของผู้ที่ได้รับผลกระทบ มาติดตามดูรายละเอียดต่างๆ อาทิ ชนิดของเสียที่เป็นสาระสำคัญ รวมทั้งปริมาณที่ปล่อยออกมา เพื่อจะนำมาวางกฎเกณฑ์มาตรฐานในการควบคุมมลพิษและการปล่อยของเสีย และเป็นแนวทางสำหรับการจัดสรรทรัพยากรในกรณีฉุกเฉินต่อไป”
“ การศึกษานี้จะช่วยให้การควบคุมมลพิษและการติดตามเฝ้าระวังเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นำทรัพยากรที่มีมาใช้ประโยขน์ได้อย่างสูงสุด และช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถควบคุมงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมให้ได้ประโยชน์คุ้มค่ากับการลงทุน” การศึกษาสิ่งแวดล้อมชายฝั่งทะเลทั้ง 3 ส่วนจะเริ่ม ประมาณไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ และคาดว่าจะเสร็จภายใน 1 ปี โดยจะทำการศึกษา เก็บข้อมูลในฝั่งทะเลตะวันออกด้าน อีสเทิร์นซีบอร์ด ครอบคลุมพื้นที 50 ต.ร.กิโลเมตร มีนักวิทยาศาสตร์เข้าร่วมสำรวจทั้งหมดกว่า 20 คน
นายปรานต์ สยามวาลา กล่าวว่า “เมื่อทำการศึกษาเสร็จสิ้น จะมีการทำรายงานสรุปข้อมูล เผยแพร่ให้กับสื่อมวลชน และสาธารณชนทราบอีกครั้งหนึ่ง โดยแบ่งการรายงานเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนที่หนึ่ง นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับมลพิษ และปริมาณการปล่อยของเสียที่เก็บรวบรวมได้ในช่วงที่ทำการศึกษา โดยจำแนกให้เห็นรายละเอียด ขององค์ประกอบทางเคมี สื่อหรือตัวกลาง ปริมาณ จำนวน การบันทึกช่วงเวลาการควบคุมปริมาณการปล่อยของเสีย และการติดตามโปรแกรมการเฝ้าระวังทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรในพื้นที่ที่ทำการศึกษา ส่วนที่สอง นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับประชากรและสิ่งมีชีวิตในทะเล ในเขตอีสเทิร์นซีบอร์ดที่ได้รับผลกระทบจากมลภาวะทางทะเลที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และส่วนที่สาม ชี้ลงไปถึงข้อมูล ที่เกี่ยวกับสารเคมีที่เป็นพิษต่อพืชและสัตว์ รวมทั้งระบบนิเวศรอบชายฝั่ง นอกจากนี้จะมีการชี้ไปถึงสุขภาพของประชากรที่รับประทานสัตว์น้ำที่มีสารพิษสะสม รวมถึงผู้ที่นิยมกิจกรรมสันทนาการทางทะเลด้วย”