กรุงเทพฯ--7 ก.พ.--โฟร์ฮันเดรท
สพฐ. เร่งพัฒนา “ห้องเรียนกลับทาง” ผนึก มศว. ประสานมิตร ดำเนินการพัฒนาระบบการเรียนการสอนให้เน้นเด็กค้นคว้าด้วยตนเองด้วยเนื้อหาดิจิตอล ที่ได้มาตรฐานเพื่อเป็นการพัฒนาความรู้ความสามารถ และเปิดโลกทัศน์ให้กับเยาวชน สำหรับใช้เป็นรูปแบบการเรียนการสอนด้วยการค้นคว้าจากเนื้อหาที่หลากหลายประกอบไปด้วยภาพวีดีโอ.บทเรียน.และบททดสอบ ที่รองรับภาษาต่างๆ รวมถึงภาษาไทย ดึงตัวแทนครู อาจารย์กว่า 200 ชีวิต จาก 100 โรงเรียนทั่วประเทศ ร่วมอบรมเพื่อพัฒนาวิธีการสอนแบบห้องเรียนกลับทาง หวังกระตุ้นให้เด็กไทยรู้จัก และเข้าใจ กระบวนการคิด และวิเคราะห์ ให้เป็นการพัฒนาการรับรู้แบบบูรณาการทั้ง ฟัง คิด พูด อ่าน และเขียน ให้เยาวชนไทยได้เข้าถึงบทเรียนที่มีคุณภาพเท่าเทียมกับเยาวชนในต่างประเทศ และเป็นการเติมเต็มนโยบายของรัฐบาลใน “โครงการแท็บเล็ตพีซีเพื่อการศึกษาไทย” ให้มีครบทั้งอุปกรณ์ และเนื้อหาที่สมบูรณ์
ดร.พิเชฎษ์ จับจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์สำนักงานวิชาการและมาตรฐานการศึกษาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (สพฐ.) เปิดเผยว่า จากนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน.ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยแนวคิด หลักการ และการดำเนินการเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้แบบห้องเรียนกลับทาง (Flipped Classroom) และการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง (Independent Study) ด้วยกระบวนการบันได 5 ขั้นของการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนมาตรฐานสากล จากการศึกษาพบว่า มีความเป็นไปได้ในการใช้ระบบการเรียนการสอนด้วยสื่อดิจิตอลตามมาตรฐานสากลเพื่อให้ผู้เรียน และผู้สอนสามารถดำเนินกิจกรรมตามแนวคิดดังกล่าวได้ แต่อุปสรรคที่สำคัญคือการผลิตสื่อที่มีคุณภาพ และมาตรฐาน ดังนั้นการช่วยเหลือที่สำคัญคือการให้โอกาสครู และผู้เรียนสามารถเข้าถึงสื่อดิจิตอลที่มีคุณภาพ และเรียนรู้ผ่านอินเตอร์เน็ตหรือแบบไม่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต โดยเน้นไปที่การมีปฏิสัมพันธ์กับสื่อผสมที่ประกอบด้วยเนื้อหา และแบบทดสอบ ทาง สพฐ. จึงได้ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ในการทำโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียน การสอนในรูปแบบ ห้องเรียนกลับทาง และการศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง และได้รับความร่วมมือจากครู อาจารย์กว่า 200 คน จาก 100 โรงเรียน มาร่วมพัฒนาหลักสูตร
โดยโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้แบบ ห้องเรียนกลับทาง และการศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง จัดขึ้นเพื่อพัฒนาวิชาชีพครูโดยการจัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ การติดตามการดำเนินงานโดยวิธีนิเทศติดตามและให้ข้อมูลย้อนกลับการดำเนินงาน โดยเริ่มจากครูชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และจะทำการวิจัยศึกษาผลการดำเนินงาน โดยเน้นการปฏิบัติงานของครู และการเรียนรู้ของผู้เรียนผ่านการดำเนินการเรียนการสอนด้วยเนื้อหาดิจิตอล โดยกิจกรรมในโครงการนี้ แบ่งออกเป็น 3 กิจกรรม หลัก ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการทำวิจัย ได้แก่
การอบรมเชิงปฏิบัติการ โดยจะอบรมเชิงปฏิบัติการในส่วนกลาง โดยคัดเลือกโรงเรียน ในสังกัด สพฐ ที่เข้าเกณฑ์ ได้แก่ เป็นโรงเรียน World Class และมี Program EP (English Program) จำนวน 100 โรงเรียน ส่งตัวแทนเข้าร่วมอบรมโรงเรียนละ 2 คน โดยจะอบรม 3 วัน วันละ 7 ชั่วโมง รวม 21 ชั่วโมงนอกจากนี้ยังมีการอบรมเชิงปฏิบัติการ ติดตามผล ระดับภูมิภาค พร้อมติดตามผลเชิญตัวแทนจากโรงเรียน 100 โรงเรียน เข้ารับการอบรมระดับภูมิภาค โดยมีระยะเวลาอบรม 1 วัน วันละ 7 ชั่วโมง หลังจากอบรมระดับภูมิภาค ผู้ที่เข้ารับการอบรมครบทั้ง 2 ครั้ง จะได้รับใบประกาศนียบัตร จาก สพฐ เพื่อรับรองการผ่านการอบรมหลักสูตรการเรียนรู้แบบ ห้องเรียนกลับทาง (Flipped Classroom) และการศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง (Independent Study) จาก discovery education และ มศว.
การประกวดแผนการสอน ซึ่งผู้ผ่านการอบรมมีสิทธิส่งแผนการสอนในรูปแบบ การเรียนรู้แบบ ห้องเรียนกลับทาง และการศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเองเข้าประกวด เพื่อชิงรางวัลถ้วย และโล่รางวัล จาก สพฐ โดยการแข่งขันแบ่งออกเป็น ระดับภูมิภาค 4 ภาค ภูมิภาคละ 3 รางวัล รวม 12 รางวัล ซึ่งการส่งผลงานเริ่มส่งได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป และปิดรับผลงานสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2557 และประกาศผลในวันปิดโครงการ เดือนมีนาคม 2557 ซึ่งสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Fan Page ของโครงการ www.facebook.com/flippedclassroomthailand
ดร.พิเชฎษ์ จับจิตต์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ยังมีการนิเทศติดตาม ผู้เข้ารับการอบรมในแต่ละภูมิภาค ภาคละ 1 โรงเรียน อีกด้วย โดยจะเริ่มจาก ภาคกลางโรงเรียนบ้านท่ากลอย, โรงเรียนอนุบาลระยอง ภาคเหนือโรงเรียนอนุบาลเชียงใหม่ และโรงเรียนพุทธิโสภณ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือโรงเรียนอนุบาลขอนแก่น และภาคใต้ โรงเรียนอนุบาลชุมพรอีกด้วย