กรุงเทพฯ--15 มิ.ย.--กู๊ด เน็ตเวิร์ค
นายชาญนาวิน สุกแจ่มใส ผู้อำนวยการ สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ และประธานชมรมหน่วยรับรองในประเทศไทย ( CB Forum) กล่าวถึงสถานการณ์การค้าการลงทุนในประเทศไทย ว่า ในปี พ.ศ. 2547 การลงทุนที่ขอรับการส่งเสริมจาก BOI มีมูลค่า 656,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2546 คิดเป็น 115% หมวดการลงทุนหลักคือ การขนส่ง สาธารณูปโภค บริการ 162,900 ล้านบาท รองลงมาคือ เคมีภัณฑ์
กระดาษและพลาสติก 123,700 ล้านบาท และด้านอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องไฟฟ้า 84,000 ล้านบาท ตามลำดับ และในปี 2547 มีกิจการ SMEs ไทยขอรับการส่งเสริมการลงทุน 233 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 15,307 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในกิจการเลี้ยงสัตว์ กิจการผลิตน้ำมันจากพืชและสัตว์ และกิจการคัดคุณภาพข้าว ยุทธศาสตร์สร้างเสริมการลงทุนใหม่ของบีโอไอ (พ.ศ.2548 — พ.ศ. 2551) เน้นการปรับมาตรการ สงเสริมใหสอดคล้องกับนโยบายการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งระบบให้สมดุลและแข่งขันได้ของรัฐบาล โดยยุทธศาสตร์ของบีโอไอจะให้ความสำคัญในเรื่องคุณค่าของโครงการที่จะลงทุนมากขึ้น โดยบีโอไอจะเน้นการส่ง เสริมการลงทุนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างแท้จริง (Value Creation Economy) อุตสาหกรรมที่น่าลงทุนมากที่สุด 5 ประเภท ได้แก่ ยานยนต์ เกษตรและอาหาร แฟชั่นและอัญมณี อิเล็กทรอนิกส์และบริการ
ในยุคเสรีทางการค้า (FTA) อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดย่อม ควรปรับตัวอย่างไร นั้น นายชาญนาวิน กล่าวด้วยว่า ในการเปิดเสรีการค้า สิ่งสำคัญที่เกิดขึ้น 2 ประการ คือ การยกเลิกโควต้านำเข้า และการลดอัตราพิกัดภาษีศุลกากรจนเป็นศูนย์ ดังนั้นภาคอุตสาหกรรมทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดย่อม
ย่อมมีผลกระทบอย่างแน่นอนหากมีสินค้าประเภทเดียวกัน นำเข้ามาขายในประเทศซึ่งราคาและคุณภาพย่อมมีความแตกต่าง ขึ้นอยู่กับแหล่งผลิต เช่นถ้าเป็นสินค้าจากประเทศจีน ราคาจะถูกเนื่องจากค่าจ้างแรงงานที่ถูกกว่า แต่ถ้าเป็นสินค้าจากออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือสหภาพยุโรป สินค้าจะมีคุณภาพสูง ดังนั้นไม่ว่ากรณีใด ๆ อุตสาหกรรมทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดย่อมของไทย ต้องพร้อมรับมือในเรื่องการลดต้นทุนการผลิต และการพัฒนาคุณภาพของสินค้าและระบบการจัดการที่เป็นมาตรฐานอย่างจริงจัง ซึ่งจะเป็นมาตรฐานตัวใด ต้องพิจารณาถึงข้อบังคับของผู้ซื้อและจุดอ่อนขององค์กรที่มีอยู่
สำหรับมาตรฐานต่าง ๆ ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม มีบทบาททางการค้าในตลาดโลกนาย ชาญนาวิน กล่าวอีกว่า เป็นเวลามากกว่า 10 ปีมาแล้ว ที่ระบบมาตรฐานต่าง ๆ ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม อาทิเช่น ISO9001 ISO14001 OHSAS18001 HACCP GMP BRC SA8000 เป็นต้น ล้วนมีบทบาทต่อเวที
การค้าโลก เนื่องจากผู้ซื้อในประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ใช้ระบบ
มาตรฐานเหล่านี้มาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกผู้ขายจากกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งรู้จักกันดีว่าเป็น
trade barrier ในรูปแบบหนึ่ง และจะมีการทยอยประกาศใช้มาตรฐานตัวใหม่ออกมาเป็นระยะ ๆ เช่น ในปี
2005 จะมีการประกาศใช้ มาตรฐาน ISO22000 ซึ่งเป็น food safety management system ซึ่งจะครอบคลุมห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่ฟาร์มจนถึงขั้นตอนการประกอบอาหาร (From Farm to Fork) และในปี 2008 จะมีการประกาศใช้มาตรฐาน ISO26000 ซึ่งเป็นมาตรฐานความรับผิดชอบทางสังคม (Social Responsibility) ที่จะรวมเอาข้อกำหนดด้านแรงงาน ด้านคุณภาพ ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม การบริหาร
จัดการที่ดี (good governance) เป็นต้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมในอนาคตเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ที่ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมได้รับจากชมรมหน่วยรับรอง นั้น จากการรวมตัวของหน่วยรับรองในประเทศและการมีกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเป็นเวทีการหารือระหว่างหน่วยรับรองและตัวแทนผู้บริหาร (Management representative) ของสถานประกอบการ อันจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่ใช้ในการแจ้งเตือนภัยต่อภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม ในการเตรียมความพร้อมรับมือมาตรการต่าง ๆ ที่เป็นมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (non-tariff barriers) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยรวม
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรฐานใหม่ ISO22000 ที่จะใช้บังคับกับอุตสาหกรรมอาหาร มาตรฐานนี้มีความสำคัญ เนื่องจากว่า ISO22000 เป็นมาตรฐานระบบการจัดการความปลอดภัยของอาหารที่ครอบคลุมทุกองค์กรในห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่ฟาร์มจนถึงขั้นตอนการประกอบอาหาร หรือที่รู้จักกันในวลี “From Farm to Fork” มีจุดมุ่งหมายที่จะนำมาตรฐานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ มาทำให้เป็นหนึ่งเดียว โดยมีโครงสร้างเป็นแนวเดียวกับ ISO9001 และ ISO14001 มีเนื้อหาตามหลักการของ HACCP ของ Codex เป็นมาตรฐานที่ใช้ในการตรวจรับรองของ third party และใช้ในการทำ internal audit ได้ด้วย มาตรฐานนี้ใช้ได้กับทุกองค์กรในอุตสาหกรรมอาหารตั้งแต่ผู้ผลิตอาหารสัตว์ เจ้าของฟาร์ม ผู้แปรรูปอาหาร ผู้ให้บริการด้านขนส่งและคลังสินค้า รวมทั้งร้านค้าส่ง ค้าปลีกอาหาร ตลอดจนองค์กรที่มีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหาร เช่น ผู้ผลิตเครื่องมือเครื่องจักร บรรจุภัณฑ์ สารหล่อลื่นเครื่องจักร สารเคมีทำความสะอาด เป็นต้น ซึ่งมีความครอบคลุมแทบทุกธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมอาหารในวงกว้าง
สำหรับ วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งชมรมหน่วยรับรอง เพื่อเป็นศูนย์กลางของหน่วยรับรองในการประสานความร่วมมือ กำหนดและพัฒนาแนวทางการตรวจประเมินระบบการจัดการที่เป็นมาตรฐานสากล ประสาน
งานและอำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับบริการที่มีคุณภาพ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและความเคลื่อนไหวในวงการมาตรฐานและการรับรองระบบการจัดการให้แก่ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนพัฒนาศักยภาพและจรรยาบรรณของหน่วยรับรองและผู้ตรวจประเมิน เพื่อเป็นการเพิ่มคุณค่าแก่ผู้ประกอบการให้มีระบบการจัดการที่เข้มแข็ง อันเป็นพื้นฐานที่สำคัญในเพิ่มศักยภาพในเวทีการค้าโลก สมาชิกของชมรมหน่วยรับรอง ประกอบด้วยกลุ่มองค์กรและบุคคล 4 ประเภท ได้แก่ กลุ่มหน่วยรับรองและผู้ตรวจประเมิน กลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาและที่ปรึกษา กลุ่มผู้เชี่ยวชาญและผู้สนใจด้านมาตรฐานระบบการจัดการ
อนึ่ง สมาชิกชมรมหน่วยรับรองในประเทศไทย
(1) บริษัท แมนเนจเมนท์ เซิร์ท จำกัด
(2) บริษัท ทียูวี ไรน์แลนด์ (ประเทศไทย) จำกัด
(3) บริษัท วิทอินเตอร์เนชั่นแนล แอสเซสเมนท์ (ประเทศไทย) จำกัด
(4) สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ
(5) บริษัท เอเอฟเอคิว แอนด์ เบสท์ เซิร์ท (ประเทศไทย) จำกัด
(6) บริษัท บีวีคิวไอ (ประเทศไทย) จำกัด
(7) สำนักงานรับรองระบบคุณภาพ สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย
(8) บริษัท อินเตอร์เทค เทสติ้ง เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด
(9) สำนักรับรองระบบคุณภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
(10) บริษัท ทีคิวซีเอส เอเชีย จำกัด
(11) บริษัท เอเจเอ รีจีสตร้าส์ จำกัด
(12) บริษัท มูดี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด
(13) บริษัท อาร์ดับบลิวทูฟ (ประเทศไทย) จำกัด
(14) บริษัท ไอเอสโอคิวเออาร์ (ประเทศไทย) จำกัด
(15) บริษัท เอสจีเอส (ประเทศไทย) จำกัด
(16) บริษัท ที คิว เอ จำกัด
(17) Thai International Certified Assessment Co., Ltd. (TICA)
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
บริษัท กู๊ด เน็ตเวิร์ค จำกัด ตัวแทนที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์
คุณ ภาวินี ชนะพลชัย โทร 0-2946-8470-2
สามารถคลิกดูภาพข่าวได้ที่ www.thaipr.net--จบ--