กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ
สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ จัดโปรแกรมศึกษาดูงานเชิงปฏิบัติการด้านอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิม สู่เชิงพาณิชย์ ณ ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ 27 – 31 มกราคม 2557 โดยนำผู้ประกอบการในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) สำรวจตลาดและเข้าเยี่ยมชมโรงงานที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศอินโดนีเซีย อาทิ โรงงานบาติก Winotosastro ในเมืองยอร์คจาการ์ตา และโรงงานบาติกกริส โรงงานผลิตผ้าบาติกที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งกลุ่มผู้ประกอบการจะได้ร่วมเรียนรู้และปฏิบัติจริงในโรงงาน เพื่อเป็นการเปิดมุมมองให้กับผู้ประกอบการได้ศึกษาองค์ความรู้ ในกระบวนการผลิต ทั้งการออกแบบ และเทคนิคต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการนำมาใช้พัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายมุสลิมในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สามารถรุกเข้าสู่ตลาดAEC
นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยว่า โครงสร้างเศรษฐกิจและการค้าของภูมิภาคอาเซียนทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับภูมิภาคอาเซียนผ่านความตกลงทางการค้าหลายฉบับ ในส่วนของผู้ประกอบการเครื่องแต่งกายมุสลิม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการมองว่าขนาดตลาดไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่เฉพาะประเทศไทย และสามารถแสวงหาการใช้ประโยชน์จากอาเซียนที่มีประชากรกว่า 600 ล้านคน อีกทั้งตลาดโลกยังมีประชากรมุสลิมกว่า 2 พันล้านคน ในส่วนของผู้ประกอบการเครื่องแต่งกายมุสลิม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีความพร้อมจะต้องก้าวออกไปมีบทบาทในการทำธุรกิจในอาเซียนมากขึ้น สามารถใช้ประโยชน์สูงสุดจากภูมิภาคอาเซียนที่มีศักยภาพและกำลังเติบโตได้อย่างบูรณาการ นอกจากนั้นผู้ประกอบการจะต้องศึกษาถึงโอกาสในภูมิภาคเหล่านี้เพื่อเข้าไปเป็นผู้เล่นในภูมิภาคดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
นางสุทธินีย์ กล่าวต่อว่า แกนหลักของการขับเคลื่อนการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันในทุกมิติ ด้วยการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเครื่องแต่งกายมุสลิม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีความพร้อมเข้าเป็นผู้เล่นในระดับภูมิภาคอาเซียน ด้วยการสร้างความเข้มแข็ง นับตั้งแต่บ่มเพาะความรู้และนวัตกรรมให้กับผู้ประกอบการ เพิ่มช่องทางการประกอบธุรกิจ และการเติมเต็มศักยภาพ ในการเชื่อมต่อกับภูมิภาคอาเซียนด้วยการศึกษาดูงานในประเทศที่เป็นแหล่งผลิตสำคัญโดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซียซึ่งถือเป็นเจ้าตลาดอุตสาหกรรมสิ่งทอมุสลิมในภูมิภาค โดยผู้ประกอบการเครื่องแต่งกายมุสลิม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยการนำโจทย์หรือความต้องการทางสังคมมาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจผ่านการพัฒนานวัตกรรมรูปแบบใหม่ๆ ให้สอดคล้องและทันต่อกระแสความต้องการของตลาดอาเซียนที่มีแนวโน้มเติบโตมากยิ่งขึ้น อีกทั้งการศึกษาดูงานครั้งนี้ผู้ประกอบการจะได้เรียนรู้เทคนิคด้านการตลาดและการสนับสนุนช่องทางการจัดจำหน่ายรูปแบบใหม่ๆ เพื่อผลักดันให้ผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายมุสลิม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นที่รู้จักในตลาดอาเซียนต่อไป
ทั้งนี้สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอคาดหวังว่าการดำเนินงานส่งเสริม และพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในหลายด้าน โดยเฉพาะการต่อยอดสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมสู่เชิงพาณิชย์ จะส่งผลให้ผู้ประกอบการเครื่องแต่งกายมุสลิม 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถสร้างสรรค์ผลงานตอบโจทย์ผู้บริโภคในระดับสากล และมีความพร้อมในการแข่งขันในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และก้าวเข้าสู่การเป็นการศูนย์กลางและฐานผลิตผลิตภัณฑ์แฟชั่นมุสลิมของภูมิภาคในอนาคต นางสุทธินีย์ กล่าวสรุป
สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเครื่องแต่งกายมุสลิมฯ ได้ที่ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซอยตรีมิตร ถนนพระราม 4 พระโขนง คลองเตย กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2713 5492 – 9 ต่อ 224 หรือเข้าไปที่ www.muslim-thti.org , www.thaitextile.org/muslim