กรุงเทพฯ--12 ก.พ.--มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ร่วมกับ เครือข่ายวิจัยประชาชื่น จัดประชุมวิชาการ การบริหารและการจัดการ ครั้งที่ 9 หัวข้อ การบริหารจัดการข้ามวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนงานวิจัยที่สร้างสรรค์ อีกทั้งเพื่อเป็นเวทีสาธารณะด้านการวิจัยและด้านวิชาการให้แก่นักวิชาการ คณาจารย์ และนิสิต นักศึกษา ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ อันจะนำไปสู่การสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ การพัฒนาต่อยอดงานวิจัย ตลอดจนพัฒนางานวิจัยไปสู่ชุมชนเพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนางานวิจัยที่เข้มแข็ง ยั่งยืนและตอบสนองความต้องการของสังคมอย่างแท้จริง
ศาสตราจารย์ ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า การศึกษาข้ามวัฒนธรรม มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ 3 ระยะ ระยะแรก การศึกษาเชิงการเปรียบเทียบ โดยจะเลือกศึกษากับสิ่งที่เป็นประโยชน์โดยตรง เรียนรู้จากการเข้าไปศึกษาในพื้นที่ของประเทศนั้นๆ โดยการศึกษาลักษณะนี้จะไม่มีผลประโยชน์โดยตรง ระยะที่สอง การศึกษาข้ามวัฒนธรรม โดยส่งคนในประเทศหนึ่งไปศึกษาในอีกประเทศหนึ่ง หากสนใจประเทศไหนก็จะศึกษาประเทศนั้นโดยตรง พร้อมศึกษาประเทศคู่แข่งของประเทศนั้นๆ ด้วย โดยมีจุดมุ่งหมายในเรื่องของการเมืองและผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ระยะสุดท้าย การศึกษาข้ามวัฒนธรรม โดยศึกษาว่าแต่ละประเทศได้พัฒนาตัวเองไปอย่างไรบ้าง และมีแนวคิดว่าการพัฒนาประเทศที่เหมาะสม คือต้องพัฒนาตามแบบประเทศตะวันตก โดยมีการให้ทุนนักวิชาการไปศึกษาในประเทศต้นแบบตะวันตก แล้วนำมาพัฒนาประเทศของตน
“เป้าหมายของการศึกษาข้ามวัฒนธรรม มักจะเป็นเป้าหมายที่แฝงเรื่องของผลประโยชน์ แต่เป้าหมายหลักคือ ด้านธุรกิจ คือการไปศึกษาวัฒนธรรมของประเทศที่ส่งสินค้า โดยศึกษาว่าวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ เป็นอย่างไร อีกประเด็นคือ ด้านการเมือง โดยศึกษาวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ความเชื่อ และนำไปสู่การจัดระบบความคิดความเชื่อได้อย่างมีชัดเจน และสุดท้ายเป้าหมายเชิงวัฒนธรรม โดยศึกษาผ่านนวนิยาย ภาพยนตร์ ฯลฯ
แต่สุดท้ายการศึกษาข้ามวัฒนธรรมต้องมีการวางเป้าหมายให้สูงว่าผลประโยชน์ ในแนวทางการศึกษาต้องมีเป้าหมายและช่วยกันค้นคว้าศึกษา เรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม” ศ.ดร.ไพฑูรย์ กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.สมชาย หาญหิรัญ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เผยว่า วัฒนธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ตัวธุรกิจหรือสินค้าทางวัฒนธรรมของแต่ละประเทศมีมาตรฐานที่แตกต่างกัน แต่ทุกคน ทุกประเทศต้องรักษาความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ว่าจะทำธุรกิจใดในประเทศใดก็ตามต้องศึกษาวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ รู้จัก เข้าใจ และให้เกียรติกัน และต้องปรับสินค้าของตนเองให้คล้อยตามวัฒนธรรมและเติบโตอยู่ในประเทศนั้นๆ ได้
“ต้องปรับทัศนคติในการทำธุรกิจข้ามวัฒนธรรม สินค้าทางวัฒนธรรมจะมีราคาก็ต่อเมื่อ คนในประเทศนั้นๆ รู้จักและเข้าใจสินค้า เช่น ทำกางเกงมวยไทยขายต่างประเทศ หากประเทศนั้นๆ ไม่รู้ว่ามวยไทยคืออะไร กางเกงมวยไทยก็ขายไม่ได้ เพราะคนไม่เข้าใจในตัวสินค้า ดังนั้นต้องมีการเปลี่ยนระบบในการทำธุรกิจ และเปลี่ยนมุมมองในการทำการตลาด ไม่เน้นขายสินค้า แต่ให้เน้นขายวัฒนธรรม พร้อมมีการจัดการที่มีประสิทธิภาพ และเลือกรับสิ่งที่เป็นประโยชน์เพื่อนำมาปฏิบัติต่อสินค้าและองค์กร” ผู้อำนวยการ กล่าว