พระราชบัญญัติยาฉบับใหม่

ข่าวทั่วไป Tuesday July 13, 1999 15:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--13 ก.ค.--อย.
พระราชบัญญัติยาฉบับใหม่ โดยนายกร ทัพพระรังสี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้เสนอร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ.... ให้ ครม. พิจารณาแล้ว อย. เผยสาระสำคัญในกฎหมายใหม่ คือการปรับปรุงแก้ไขให้มีความทันสมัย สอดรับกับระบบสากลส่งเสริมการพัฒนา วิจัยยาจากสมุนไพรและยาแผนไทย ปรับปรุงการควบคุมยาอย่างเหมาะสมกับภาวะการณ์ปัจจุบันเพิ่มเติมปรับปรุงมาตรการให้ความคุ้มครองความปลอดภัยแก้ผู้ใช้ยา รวมทั้งเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับความรับผิดในผลิตภัณฑ์ ทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากการชดเชยค่าเสียหายอันเกิดจากการใช้ยาที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน
น.พ.มงคล ณ สงขลา เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานานแล้ว แม้ว่าจะได้แก้ไขถึง 4 ครั้งก็ยังคงมีความล้าสมัยไม่เหมาะสมกับพัฒนาการทางเทคโนโลยีและการค้าของโลก และประการสำคัญคือมีบทบัญญัติที่เป็นปัญหาอุปสรรคไม่เอื้ออำนวยต่อการส่งเสริม พัฒนายาจากสมุทรไพรและยาแผนไทย ซึ่งประเทศไทยมีทรัพยากรและภูมิปัญญาไทยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวให้มีความทันสมัย สอดรับกับระบบสากล เอื้ออำนวยต่อการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งเสริมพัฒนายาจากสมุนไพรและยาแผนไทย โดยการยกร่างกฎหมายดังกล่าวได้มีการรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องกับการผลิตยา การขายยา การนำหรือสั่งยาเข้ามาในราชอาณาจักร การประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมด้วยแล้ว
ร่าง พ.ร.บ. ยาที่เสนอนี้จะยกเลิกบทนิยามคำว่า “ยาแผนปัจจุบัน” “ยาแผนโบราณ” “ยาอันตราย” “ยาควบคุมพิเศษ” กำหนดประเภทยาเป็น 3 ประเภท คือ ประเภท 1 ยาที่ต้องจ่ายตามใบสั่งแพทย์ ประเภท 2 ยาที่ต้องจ่ายโดยผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม และประเภท 3 ยาสามัญประจำบ้าน ให้มีใบอนุญาติขายยาเพียงประเภทเดียว โดยยกเลิกใบอนุญาติขายยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตราย หรือยาควบคุมพิเศษ ซึ่งจะมีบทเฉพาะกาลให้ผู้รับอนุญาติเดิมต่ออายุได้อีก 5 ปี โดยให้พัฒนาเป็นร้านขายยาที่ต้องมีเภสัชกรอยู่ประจำไม่มีบทบัญญัติแบ่งแยกใบอนุญาตเกี่ยวกับยาออกเป็นแผนปัจจุบันและแผนโบราณ เพิ่มมาตรการให้ความคุ้มครองความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ยาโดยมีการใช้หลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตยาและหลักเกณฑ์ที่ดีในการขายยา การรายงานอาการอันไม่ พึงประสงค์จากการใช้ยาและการติดตามความปลอดภัยของยา
สำหรับทะเบียนตำรับยาให้มีกำหนดอายุ 5 ปี นับแต่วันออกใบสำคัญ และให้ยื่นคำขอต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนทุก 5 ปี กำหนดให้วัตถุดิบด้านยาต้องขึ้นทะเบียน แก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการสั่งเพิกถอนทะเบียน แก้ไขทะเบียน และแก้ไขรายการทะเบียนตำรับยา ให้มีความเหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น เพิ่มข้อกำหนดเรื่อง ความรับผิดในผลิตภัณฑ์ โดยให้ประชาชนผู้ได้รับความเสียหายจากการใช้ยามีสิทธิ์จะได้รับค่าชดเชยจากเจ้าของผลิตภัณฑ์ สำหรับโทษปรับโดยให้กำหนดวงเงินค่าปรับสูงขึ้นตามค่าของเงินบาท
การปรับปรุงกฎหมายยาโดยออกพรราชบัญญัติยาฉบับใหม่นี้ จะเอื้ออำนวยต่อการพัฒนาและวิจัยเกี่ยวกับยาจากสมุทรไพรและยาแผนไทยซึ่งใช้ทรัพยากรภายในประเทศและเป็นภูมิปัญญาไทย ทำให้สามารถลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ทั้งยังส่งออกเป็นรายได้เข้าประเทศอีกด้วย มีผลให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นอีกทางหนึ่ง ทั้งให้ความคุ้มครองความปลดภัยแก่ผู้ใช้ยาและผู้ใช้ยามีสิทธิ์เรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ผลิต ผู้จำหน่ายหากได้รับอันตรายจากยาดังกล่าว โดยร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ส่งถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้วกำลังอยู่ระหว่างนำเข้าคณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลัการและเสนอรัฐสภาพิจารณาอนุมัติเป็นกฎหมายต่อไป คาดว่าในเวลาอีกไม่นานจะสามารถมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ เลขาธิการฯ กล่าวในที่สุด--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ