กรุงเทพฯ--17 ก.พ.--มหาวิทยาลัยนเรศวร
ย้อนความทรงจำในวัยเด็ก ทุกเช้าวันเสาร์-อาทิตย์ เราพร้อมด้วยน้องสาว และบรรดาเพื่อน ๆ ญาติ ๆ ข้างบ้าน จะนั่งหน้าจอตู้ (จอโทรทัศน์) รอดูละครจักร ๆ วงศ์ ๆ ยังไม่รวมเหล่าพ่อ แม่ ลุง ป้า น้า อา ตา ยาย ที่ติดละครกันงอมแงม ตกสายก็จะมีลิเก บ้างก็ลำตัด เพลงฉ่อย แม้แต่หุ่นกระบอก ก็มีให้ติดตามกันแบบเต็มอิ่ม นั่นคือภาพในอดีตที่ช่างต่างจากปัจจุบันแบบลิบลับ จะหาดูลิเกแสนยากเย็น ลำตัด เพลงฉ่อย หุ่นกระบอกไม่ต้องพูดถึง แทบไม่รู้จัก
ค่ำคืนวันที่ ๕ – ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ ณ เวทีหน้าวิหารพระพุทธชินสีห์ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดพิษณุโลก ในงานสมโภชพระพุทธชินราช ประจำปี ๒๕๕๗ คือหนึ่งเวทีที่เปิดให้เยาวชนในจังหวัดพิษณุโลกได้แสดงความสามารถด้านศิลปวัฒนธรรมไทย โดยการดำเนินงานของสถานอารยธรรมศึกษา โขง-สาละวิน มหาวิทยาลัยนเรศวร ในฐานะกรรมการด้านกองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมไทย
เสียงเจื้อยแจ้วของเยาวชนตัวน้อย รอยยิ้มของนักเรียน นักศึกษา ตลอดจนความตั้งใจของชาวชุมชนต่าง ๆ ในชุดเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายหลากสีสัน ต่างวาดลวดลาย ลีลาตามสไตล์ของตัวเอง ทั้งในแบบอ่อนช้อย พลิ้วไหว กรีดกราย บ้างก็ส่ายสะโพก โยกย้าย เฮฮา เร้าใจ เคล้าเสียงปรบมือ เสียงเชียร์ เสียงหัวเราะ พร้อมแสงวูบวาบจากกล้องถ่ายรูป กล้องวีดิโอ ของผู้ชม ทั้งผู้ปกครอง ผู้มาเที่ยวงานวัด รวมถึงพ่อค้า แม่ค้า ช่วยเติมเต็มบรรยากาศแห่งความสุข สนุกสนาน
“หนูร้องเพลงจีบได้แฟนตายแล้ว ร้องไม่ยาก ฝึกไม่นาน หนูชอบร้องเพลงลูกทุ่ง เพราะร้องแล้วมีความสุข ก่อนแสดงซ้อมทุกวัน ดีใจที่ได้มาเต้นที่นี่ คุณแม่มาดูด้วย” ด.ญ.สุตาภัทร ลำคำ น้องกวางตุ้ง นักเรียนชั้นอนุบาล ๓/๑ โรงเรียนอนุบาลประชาราษฎร์
“ปกติที่โรงเรียนมีการประกวดลูกทุ่งประชาราษฎร์คอนเทสต์เป็นประจำทุกปี ทุกห้อง ทุกระดับชั้น จะแข่งขันกัน พอรู้ว่าจะมาแสดงในงานวัดใหญ่ น้อง ๆ ดีใจกันมาก ก่อนมาแสดงที่นี่ใช้เวลาซ้อม ๒ สัปดาห์ เพราะน้องมีพื้นฐานอยู่แล้ว การแสดงช่วยให้น้องมีความกล้าแสดงออกในที่ชุมชน มีความมั่นใจในตัวเอง และได้ประสบการณ์ดี ๆ ส่วนครูเองก็พลอยภูมิใจไปด้วย” นางสาวอังคณา พวงโภคา ครูโรงเรียนอนุบาลประชาราษฎร์
“สนับสนุนในสิ่งที่ลูกอยากทำ ก่อนหน้านี้ลูกมาบอกว่าอยากเรียนรำกับคุณครู ก็พาไปเรียนทุกวันเสาร์ ดีใจ ภูมิใจที่ลูกชอบ เพราะเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีการส่งเสริมด้านการรำ ส่วนใหญ่เป็นการเต้น ช่วยให้ลูกกล้าแสดงออก ฝึกสมาธิและความจำ” นางพนิดา อเนกสุข แม่น้องพราว ด.ญ.พิมพ์ขวัญ นักเรียนชั้นอนุบาล ๒ โรงเรียนอนุบาลพิษณุโลก กับการแสดงชุดรำอธิษฐาน
“ผมมาแสดงในงานวัดใหญ่ครั้งนี้เป็นครั้งแรก และเนื่องจากช่วงนี้ติดสอบ จึงเพิ่งซ้อมกันวันนี้ ตั้งแต่สิบโมงถึงบ่ายสอง จากนั้นก็แต่งหน้า ทำผม แล้วมางานเลย เป็นการแสดงชุดศรีสุวรรณภูมิ เล่าขานถึงภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรมไทย ปกติจะสนใจเรื่องศิลปวัฒนธรรมไทยมาก เพราะเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยที่ควรอนุรักษ์ไว้ มาแสดงในงานวัดใหญ่วันนี้จึงนับเป็นการอนุรักษ์และยังได้ทำบุญด้วย” นายศิรโรจน์ ศุภเวทย์เวหน นักเรียนชั้นม.๖ โรงเรียนวังพิกุลวิทยศึกษา
“การแสดงชุดศรีสุวรรณภูมิ เป็นการสะท้อนรากเหง้าวัฒนธรรมไทยอันงดงาม ผ่านท่วงท่ารำโดยใช้ดนตรีร่วมสมัยเข้ามาด้วย มีการประยุกต์เครื่องแต่งกายให้เข้ากับยุคสมัย ไม่ใช่ไทยแท้ดั้งเดิม รู้สึกภาคภูมิใจที่ทำให้เด็ก ๆ ได้ตระหนักในคุณค่าความเป็นไทย ประชาชนทั่วไปได้รู้จักโรงเรียนและชมรมนาฏศิลป์จังหวัดพิษณุโลก เพราะไม่ค่อยมีโอกาสได้แสดงมากนัก ภูมิใจที่ได้เผยแพร่วัฒนธรรมไทย” นายศุภชัย ชำนาญเสือ ครูโรงเรียนวังพิกุลวิทยศึกษาและประธานชมรมนาฏศิลป์จังหวัดพิษณุโลก
ครูศุภชัยทิ้งท้ายว่า ศิลปวัฒนธรรมไทยไม่มีวันหายไปจากสังคมไทย แต่คนไทยอาจจะลืมเลือนไปบ้าง การส่งเสริม สนับสนุน จะช่วยกระตุ้นให้คนไทยตระหนักในคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมไทย
ภาพของนักเต้น นักเล่น นักร้อง นักรำ ก้าวลงจากเวทีด้วยใบหน้าเปื้อนสุข พร้อมรางวัลเป็นตุ๊กตาและเข็มกลัดที่ระลึกงานสมโภชพระพุทธชินราช ประจำปี ๒๕๕๗ คำชมของครู อ้อมกอดของพ่อแม่ ผู้ปกครอง เสียงปรบมือของผู้ชม คือภาพแห่งความประทับใจ ไม่ใช่เพียงการสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นประสบการณ์อันล้ำค่าของเยาวชน อบอวลด้วยไออุ่นรัก สานสัมพันธ์ในครอบครัว ทั้งยังสร้างความอิ่มใจให้กับคนทำงาน เป็นพลังในการอนุรักษ์และสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทยสืบไป