กรุงเทพฯ--17 ก.พ.--คิธแอนด์คินฯ
สนพ. เร่งสำรวจข้อมูลการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง เพื่อปรับปรุงฐานข้อมูลให้มีความทันสมัย นำไปใช้ประกอบการพยากรณ์ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในภาคขนส่งอย่างแม่นยำ รองรับระบบการขนส่งในระบบรางและทางอากาศที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต
นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้การใช้พลังงาน โดยเฉพาะภาคขนส่งเพิ่มขึ้นทุกปี โดยมีการใช้พลังงานในภาคขนส่งสูงถึง ร้อยละ 36 ของการใช้พลังงานทั้งประเทศ และเป็นการขนส่งทางบกโดยเฉพาะทางบกหรือรถยนต์ร้อยละ 80 ซึ่งปัจจุบันการใช้พลังงานสำหรับการขนส่งทางถนน มีการใช้เชื้อเพลิงหลากหลายประเภท รวมถึงมีการนำพลังงานทางเลือกมาใช้เพิ่มขึ้น ทำให้ฐานข้อมูลที่มีอยู่ ไม่ทันสมัยและอาจทำให้การพยากรณ์การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในอนาคตคลาดเคลื่อน
ดังนั้น เพื่อให้การพยากรณ์ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในภาคขนส่งของประเทศมีประสิทธิภาพ สามารถกำหนดและวางนโยบายด้านพลังงานของประเทศเป็นไปอย่างเหมาะสม สนพ. จึงได้ทำการศึกษาและสำรวจการใช้พลังงานในภาคขนส่ง ประกอบด้วย การใช้พลังงานในรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถบรรทุก รถโดยสาร และยานพาหนะอื่นๆ รวมถึงการใช้พลังงานในรถไฟและเครื่องบิน ภายใต้โครงการ “ศึกษาจัดทำแบบจำลองการพยากรณ์และสำรวจการใช้พลังงานในภาคขนส่ง” ขึ้น โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการเก็บรวบรวมและประมวลผลจากแบบสอบถามจากผู้ใช้รถ และผู้ผลิตรถยนต์ทั่วประเทศ
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าว จะมีการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบโครงสร้างภาษีรถยนต์ มาตรฐานรถยนต์ที่ได้ประกาศใช้ ประสิทธิภาพของรถยนต์และโครงสร้างราคาน้ำมันเบนซิน ดีเซล และเชื้อเพลิงอื่นๆ ศึกษารวบรวมโครงสร้างการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของยานพาหนะต่างๆ อาทิ รถยนต์ส่วนบุคคล รถยนต์บรรทุกเล็ก รถจักรยานยนต์ รถโดยสาร และรถบรรทุก เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้รวบรวมโครงสร้างการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของรถไฟ รถไฟฟ้า และเครื่องบิน เพื่อเป็นข้อมูลฐานในการจัดทำการพยากรณ์การใช้น้ำมันในยานพาหนะในระบบราง และทางอากาศที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกด้วย
“การสำรวจจะมีการดำเนินการทุก 5 ปี เพื่อปรับปรุงข้อมูลให้มีความทันสมัย สามารถนำไปใช้ในการพยากรณ์ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในภาคขนส่งได้อย่างแม่นยำ ส่งผลให้การกำหนดนโยบายด้านพลังงานของประเทศเป็นได้อย่างเหมาะสม ทันต่อเหตุการณ์ และช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และยังสามารถใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายการใช้เชื้อเพลิงอย่างประหยัด มีประสิทธิภาพ และรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย” ผอ.สนพ. กล่าว