กรุงเทพฯ--18 ก.พ.--ธนาคารเกียรตินาคิน
“กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร” โดยนายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ (กลาง) กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) เผยแผนธุรกิจปี 2557 โดยในส่วนของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อให้ยืดหยุ่นสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ โดยมีสายงานใหม่รองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต ได้แก่ สายตลาดการเงิน สินเชื่อบรรษัท และสินเชื่อลูกค้าประกอบการ สำหรับธุรกิจตลาดทุน จะเน้นการสร้างความหลากหลายของธุรกิจ โดยเชื่อมโยงการให้บริการกับลูกค้าบุคคลขนาดใหญ่ของธนาคารให้เกิดกระบวนการให้คำปรึกษาการลงุทนส่วนบุคคล (Wealth Management) ในแต่ละกลุ่มอย่างครบวงจร
นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) (Mr. Aphinant Klewpatinond, President and Chairman of Commercial Banking Business) เปิดเผยว่า “ภาพรวมในปีที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจฯ ได้มีการปรับโครงสร้างธุรกิจ ตลอดจนพัฒนานวัตกรรมทางการเงินเพื่อให้ลูกค้ามีทางเลือกในการบริการที่เพิ่มขึ้น และให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทางด้านความเสี่ยงต่างๆ เนื่องจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์เป็นกลุ่มที่มีการแข่งขันสูง โดยผลประกอบการในปี 2556 ที่ผ่านมา สะท้อนถึงผลการร่วมกิจการระหว่างเกียรตินาคินภัทรอย่างชัดเจน มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 30% จากปี 2555 ในส่วนของปี 2557 นี้ จะมุ่งเน้นการทำงานใน 4 ส่วน ได้แก่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้หลากหลาย เช่น ปลายปี 2556 ที่ผ่านมาได้มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ “สินเชื่อแจ่มแจ๋วตามฤดูกาล” (เป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่ยืดหยุ่นการชำระค่างวด) ภายใต้เงื่อนไขการชำระค่างวดที่ยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งตรงกับฐานลูกค้าต่างจังหวัด โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มเกษตรกรที่สามารถเลือกรูปแบบการแบ่งจ่ายค่างวดให้ตรงตามฤดูการเก็บเกี่ยว ซึ่งจะทยอยเปิดตัวสำหรับลูกค้าแต่ละกลุ่มต่อไป ถัดมาคือเรื่องช่องทางหรือสาขา ที่จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของสาขาให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าและการให้บริการของธนาคารมากขึ้น ซึ่งปี 2557 มีแผนจะเปิดสาขาใหม่อีก 3 แห่ง (ปัจจุบันธนาคารมีสาขารวมสำนักงานใหญ่ 87 แห่ง) ส่วนที่สามคือเรื่องพันธมิตรทางธุรกิจ ที่จะมาเสริมในเรื่องผลิตภัณฑ์ที่ธนาคารไม่ได้ให้บริการตลอดจนการเป็นช่องทางการให้บริการซึ่งหากมีความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบต่อไป และสุดท้ายคือการพัฒนาธุรกิจใหม่ภายใต้สายงานที่ได้จัดตั้งเมื่อปี 2556 ที่ผ่านมาได้แก่ สายตลาดการเงิน สินเชื่อบรรษัท และสินเชื่อลูกค้าประกอบการ โดยเฉพาะในส่วนของสายสินเชื่อบรรษัทที่คาดว่าจะมีลูกค้าที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นดีลแรกในไตรมาส 1 ของปี ในส่วนของการเติบโตของสินเชื่อรวมของธนาคารเดิมได้ตั้งเป้าอยู่ที่ 21% ภายใต้สมมติฐานว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของประเทศไทยในปี 2557 จะอยู่ที่ 4.3% (ก่อนที่จะปรับลดลงเป็น 2.8%) โดยสินเชื่อรายย่อยวางแผนว่าจะเติบโตได้ในอัตราที่ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ซึ่งจะมุ่งเน้นขยายฐานลูกค้าสินเชื่อรถเพื่อเงินสด ส่วนสินเชื่อธุรกิจ ในส่วนของสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ เน้นการปล่อยกู้ลูกค้าเดิม และโครงการแนวราบ เป็นต้น อย่างไรก็ตามสภาพเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และก่อให้เกิดผลกระทบกับเป้าหมายดังกล่าวเป็นอย่างมาก ซึ่งธนาคารจะต้องมีความยืดหยุ่นในการปรับเป้าหมายทางธุรกิจให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น”
นายกฤติยา วีรบุรุษ ประธานธุรกิจตลาดทุน กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร และกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทุนภัทร จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) (Mr. Krittiya Veeraburus, Chairman of Capital Market Business, President of Phatra Capital Public Company Limited and Phatra Securities Public Company Limited) เปิดเผยว่า “ปี 2556 ถือว่าเป็นปีที่ธุรกิจตัวกลาง (Agency Business) ประสบความสำเร็จอย่างมาก โดยปีที่ผ่านมามูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน (SET และ mai) สูงกว่า 5 หมื่นล้านบาทต่อวัน โดย บล.ภัทร และ บล.เคเคเทรด มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันเท่ากับ 5.69% เป็นอับดับ 4 จากจำนวนบริษัทหลักทรัพย์ทั้งหมด 33 แห่ง ทำให้มีรายได้จากธุรกิจการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ในส่วนธุรกิจวานิชธนกิจยังสามารถทำรายได้อย่างมากในปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นที่ปรึกษาในธุรกรรมขนาดใหญ่หลายรายการ สำหรับในปี 2557 บริษัทตั้งเป้าที่จะพัฒนาบริการเพื่อเพิ่มความเชื่อมโยงระหว่างผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคารและตลาดทุน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดของลูกค้าในกลุ่มการเงิน เช่น ธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล (Private Wealth Management) จะสามารถขยายฐานลูกค้าไปยังลูกค้าเงินฝากของธนาคารเกียรตินาคิน โดยในช่วงปลายปี 2556 ภัทรได้เริ่มให้บริการ Phatra Edge ซึ่งเป็นบริการวางแผนการเงินที่อาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญของทีมงานภัทรให้บริการแก่ลูกค้าของธนาคารที่มีเงินลงทุนตั้งแต่ 2-30 ล้านบาท นอกจากนี้ธุรกิจวานิชธนกิจจะทำงานร่วมกับสินเชื่อบรรษัทของธนาคารในการสนับสนุนทางด้านเงินกู้ให้กับลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ เป็นต้น”
สำหรับผลการดำเนินงานปี 2556 เทียบกับปี 2555 นั้น นายชวลิต จินดาวณิค ประธานสายการเงินและงบประมาณ ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) (Mr. Chavalit Chindavanig, Head of Finance and Budgeting, Kiatnakin Bank Plc.) เปิดเผยว่า “กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร มีกำไรสุทธิรวม 4,418 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.3% ในจำนวนนี้ เป็นกำไรสุทธิของ บมจ. ทุนภัทรและ บล. ภัทรจำนวน 1,800 ล้านบาท ในส่วนของรายได้รวมอยู่ที่ 15,346 ล้านบาท แบ่งเป็น รายได้จากดอกเบี้ยสุทธิ 8,347 ล้านบาทหรือคิดเป็น 54% ของรายได้รวม ที่เหลือคือรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ จำนวน 6,999 ล้านบาท (46%) ซึ่งมาจากทั้งธุรกิจธนาคารพาณิชย์ และธุรกิจตลาดทุน”
ในส่วนของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ สินเชื่อมีการขยายตัวต่อเนื่อง มียอดสินเชื่อรวมของปี 2556 อยู่ที่ 190,803 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.9% โดยพอร์ตสินเชื่อรวมประกอบด้วยสินเชื่อรายย่อย 73.2% สินเชื่อธุรกิจ 25.9% ซึ่งประกอบด้วยสินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 15% และสินเชื่อเอสเอ็มอี 11% สำหรับหนี้สินรวม (เงินฝาก หุ้นกู้ ตั๋วบีอี และหนี้สินอื่นๆ) มีจำนวน 213,965 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.1% จากสิ้นปี 2555 ในส่วนของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อ (Loan Spread) อยู่ที่ 4% ทั้งนี้ ธนาคารยังให้ความสำคัญในการควบคุมและรักษาคุณภาพสินทรัพย์ โดยมีอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ที่ 3.8% และมีอัตราการตั้งสำรองต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ 100% สำหรับเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 13.66% (เป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 จำนวน 13.10%)
สำหรับธุรกิจตลาดทุน ประกอบไปด้วย ธุรกิจนายหน้า ธุรกิจวานิชธนกิจ ธุรกิจการลงทุน และธุรกิจจัดการกองทุน ในส่วนของธุรกิจวานิชธนกิจ บล.ภัทร ได้ทำธุรกรรมด้านวานิชธนกิจใหญ่ๆ หลายรายการ เช่น การเสนอขายกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางรางบีทีเอสโกรท (BTSGIF) และหุ้นเพิ่มทุนบริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) แก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก โดย บล.เคเคเทรด ได้เป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นดังกล่าวด้วย นอกจากนี้ บล.ภัทร ยังเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้กับ The Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ, Ltd. ในการทำคำเสนอขายซื้อหุ้นสามัญทั้งหมดของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ในส่วนของธุรกิจการลงทุน แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 3 ส่วน คือ ธุรกิจค้าหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Equity and Derivative Trading) การลงทุน (Direct Investment) และเฮดจ์ฟันด์ (Hedge Fund) โดยผลประกอบการโดยรวมเป็นที่น่าพอใจ และในส่วนของธุรกิจจัดการกองทุน ภายใต้ บลจ.ภัทร มีทรัพย์สินภายใต้การจัดการ 24,725 ล้านบาท ซึ่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี