กรุงเทพฯ--18 ก.พ.--โฟร์ พี แอดส์
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าการกวาดล้างโรคมาลาเรียให้หมดไปจากประเทศไทย เป็นนโยบายสำคัญที่กรมควบคุมโรคต้องเร่งดำเนินการ เนื่องจากโรคนี้ยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ ทั้งนี้ข้อมูลทางระบาดวิทยาชี้ว่าแหล่งของเชื้อมาลาเรียจะอยู่บริเวณป่าเขาชายแดนของประเทศ โดยเฉพาะบริเวณชายแดนไทย-พม่า ที่ จ.ตาก ซึ่งพบโรคนี้มากเป็นอันดับ 1 ในประเทศ เห็นได้จากในปี 2556 จ.ตาก พบผู้ป่วยโรคมาลาเรียมากถึง 12,904 ราย แยกเป็นคนไทย 4,977 รายหรือร้อยละ 38.57 และเป็นชาวต่างชาติ 7,927 รายหรือร้อยละ 61.43 และที่ อ.ท่าสองยางพบผู้ป่วยมาลาเรียมากเป็นอันดับหนึ่งคือ จำนวน 7,217 ราย
ในปีนี้กรมควบคุมโรคได้จัดทำโครงการกวาดล้างโรคมาลาเรียในพื้นที่สูงขึ้น โดยเริ่มที่ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เป็นแห่งแรก ตั้งเป้าดำเนินการรวมทั้งหมด 60 หมู่บ้าน 6,000 หลังคาเรือน เพื่อตรวจเจาะเลือดค้นหาประชาชนที่ติดเชื้อโรคมาลาเรียให้ได้อย่างน้อย 15,000 คน
นพ.โสภณ กล่าวต่ออีกว่า เมื่อปลายเดือนมกราคม 57 ที่ผ่านมาได้มีการลงพื้นที่ที่บ้านทีโน๊ะโค๊ะ ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ตั้งอยู่ที่ ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ห่างจากพม่าแค่ประมาณ 3 กิโลเมตรเท่านั้น หมู่บ้านนี้เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่พบผู้ป่วยมาลาเรียจำนวนมากและมีการป่วยซ้ำซากตลอดทั้งปี เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้เป็นหุบเขา มีป่าจำนวนมากและตั้งอยู่บริเวณป่าเขาชายแดนของประเทศ ชาวบ้านที่นี่เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นชาวไทยภูเขา ซึ่งถือบัตรที่เรียกว่าบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย และเป็นอีกหนึ่งแห่งที่ถูกนับเป็นพื้นที่แพร่เชื้อและมีกลุ่มชนที่เสี่ยงต่อการได้รับเชื้อมาลาเรีย การกวาดล้างโรคมาลาเรียในพื้นที่บ้านทีโน๊ะโค๊ะ จะใช้วิธีเกณฑ์ชาวบ้านมาเจาะเลือดตรวจหาเชื้อมาลาเรียพร้อมกันทั้งหมู่บ้าน เพื่อค้นหาผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อมาลาเรียให้เข้าสู่การรักษาให้มากที่สุด โดยจะดำเนินการควบคู่ไปกับมาตรการสำคัญ 4 ข้อ ได้แก่ 1.การเจาะเลือดเพื่อค้นหาผู้ป่วยที่ติดเชื้อมาลาเรีย หากพบจะทำการรักษาฟรีทันที เพื่อกำจัดการควบคุมโรค 2.เจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านมาลาเรียของกรมควบคุมโรค ลงพื้นที่ฉีดพ่นยาฆ่ายุง ซึ่งยาที่ใช้จะไม่เป็นอันตรายต่อประชาชน แต่จะเป็นอันตรายต่อยุงหากยุงมาเกาะตามฝาผนังบ้านก็จะร่วงหล่นลงพื้น 3.การใช้มุ้งชุบสารเคมีที่ได้นำมาแจกให้ประชาชนใช้นอนกางเพื่อไม่ให้ยุงกัด และ 4.ยาทากันยุง พยายามให้ผู้ป่วยต้องสงสัยว่าป่วยเป็นไข้มาลาเรียทายากันยุง เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงกัดและนำเชื้อไปแพร่สู่คนอื่น
นอกจากนี้ยังได้มีการเน้นย้ำให้ทุกฝ่าย ทั้งชาวบ้าน อาสาสมัคร ชุมชน และผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ให้ร่วมกันเฝ้าระวังบุคคลที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่ใหม่ในหมู่บ้าน ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุที่นำโรคมาลาเรียมาสู่หมู่บ้านได้ โดยให้แจ้งเจ้าหน้าที่เข้าไปเจาะเลือด เพื่อตรวจหาเชื้อมาลาเรีย หากพบผู้ป่วยติดเชื้อมาลาเรีย ต้องได้รับการรักษาทันที เพื่อเป็นการควบคุมโรคมาลาเรียได้อย่างยั่งยืน
“ทั้งนี้คาดหวังว่าบ้านทีโน๊ะโค๊ะ จะเป็นแหล่งที่ดีในการเก็บข้อมูล ซึ่งกรมควบคุมโรคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดตั้งหน่วยทำการตรวจหาเชื้อมาลาเรียเป็นเวลา 3 วัน เพื่อบริการตรวจหาเชื้อในชาวบ้านอย่างครอบคลุม หากผลการดำเนินงานในขั้นต้นได้ผลดี บ้านทีโน๊ะโค๊ะจะได้รับการพัฒนาเป็นต้นแบบในการตรวจหาเชื้อมาลาเรียและขยายผลไปในพื้นที่อื่นๆต่อไป และจากการเก็บข้อมูลในการดำเนินตรวจหาเชื้อมาลาเรียพื้นที่ อ.ท่าสองยางในปีที่ผ่านมาจากจำนวนประชาชนประมาณ 4,000 คนที่เข้ามาตรวจพบเชื้อประมาณ 16 ราย เป็นต่างชาติ 9 ราย และคนไทย 7 ราย ” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว