สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 10-14 ก.พ. 57 และแนวโน้มในสัปดาห์ที่ 17-21 ก.พ. 57

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 19, 2014 10:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--ปตท. ฝ่ายกลยุทธ์และแผนธุรกิจ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สรุปรายงานสถานการณ์น้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ราคาน้ำมันดิบ เบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 1.77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 108.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเวสท์ เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 2.46 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอยู่ที่ 100.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 2.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 105.07 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซิน 95 เพิ่มขึ้น 4.22 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 120.25 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 2.13 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 123.58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบียเปิดเผยว่ากลุ่มผู้ประท้วงได้ทำการปิดท่อขนส่งน้ำมันดิบจากแหล่ง El Sharara (340,000 บาร์เรลต่อวัน) สู่ท่าส่งออก Zawiya และปิดท่อขนส่งจากแหล่ง El Wafa (30,000 บาร์เรลต่อวัน) สู่ท่าส่งออก Mellitah ทั้งนี้การประท้วงทั่วประเทศกลับมารุนแรงอีกครั้ง ด้วยกลุ่มผู้ประท้วงต้องการกดดันให้รัฐบาลรักษาการลาออกจากตำแหน่ง ทำให้ยอดผลิตรวมทั้งประเทศลดลงมาอยู่ที่ 460,000 บาร์เรลต่อวัน จากระดับ 567,000 บาร์เรลต่อวันในช่วงต้นสัปดาห์ก่อนหน้า องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ปรับเพิ่มประมาณการอัตราการเติบโตของอุปสงค์น้ำมันโลกในปี 57 ขึ้น 50,000 บาร์เรลต่อวัน (จากการคาดการณ์ครั้งก่อนในเดือน ม.ค. 57) มาอยู่ที่เพิ่มขึ้น 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวันจากปีก่อนหน้า และปรับเพิ่มความต้องการใช้น้ำมันดิบของโลกจาก OPEC (Call-on-OPEC) ขึ้น 100,000 บาร์เรลต่อวัน จากการคาดการณ์ครั้งก่อน มาอยู่ที่ 29.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากประเทศแถบอเมริกาเหนือและยุโรปเริ่มมีอุปสงค์น้ำมันเพิ่มขึ้น เห็นได้จากปริมาณสำรองน้ำมันดิบของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (OECD) ในไตรมาสที่ 4/56 ลดลง 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวันจากไตรมาสก่อน นับเป็นการลดลงรุนแรงสุดในรอบ 14ปี ส่งผลให้ปริมาณสำรองแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปีReuters รายงานแหล่งผลิตน้ำมันดิบ Buzzard (200,000 บาร์เรลต่อวัน) หนึ่งในแหล่งผลิตน้ำมันดิบที่ใหญ่ที่สุดของอังกฤษและมีความสำคัญต่อสายการผลิตน้ำมันดิบ Brent มีแผนปิดซ่อมบำรุงในปี 57 รวมเป็นเวลา 9 สัปดาห์ (หยุดดำเนินการ 2 สัปดาห์ในเดือน พ.ค. 57; 4 สัปดาห์ในเดือน ส.ค. 57 และ 3 สัปดาห์ในเดือน ก.ย. 57) ซึ่งเวลาที่ใช้ปิดซ่อมบำรุงในปีนี้กินเวลานานกว่าที่ตลาดคาดการณ์ก่อนหน้าว่าจะปิดซ่อมบำรุงรวมทั้งปีที่ 2 สัปดาห์ กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานอัตราว่างงานของประเทศ (Unemployment Rate) เดือน ม.ค. 57 ปรับตัวลดลง 0.1% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 6.6% เหนือความคาดหมายของผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Reuters ที่คาดการณ์ว่าจะคงที่จากเดือนก่อนหน้า ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ปรับเพิ่มประมาณการการผลิตน้ำมันจากแหล่งผลิต Shale Oil ในประเทศสหรัฐฯ จากที่เคยคาดการณ์ว่าการผลิตน้ำมันจากแหล่ง Shale Oil ของสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้นสูงสุด (Peak Production) ในปี 63 ที่ระดับ 2.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับการผลิตสูงสุด (Peak Production ) ในปี 64 ที่ระดับ 4.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยในระยะสั้นคาดว่าแหล่งผลิตน้ำมัน Bakken จะผลิตในเดือน มี.ค. 57 ที่ระดับ 1.07 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เพิ่มขึ้น 30,000 บาร์เรลต่อวันจากเดือนก่อนหน้า) EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 7 ก.พ. 57 เพิ่มขึ้น 3.27 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 361.35 ล้านบาร์เรล กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานยอดขายปลีก (Retail Sales) ในเดือน ม.ค. 57 ลดลง 0.4% จากเดือนก่อนหน้า พร้อมกันนั้นได้ปรับแก้ยอดของเดือน ธ.ค. 56 จากเดิมเพิ่มขึ้น 0.2% จากเดือนก่อนหน้า เป็นลดลง 0.1% จากเดือนก่อนหน้า ขณะเดียวกันธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) รายงานผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Output) ในเดือน ม.ค. 57 ลดลง 0.8% จากเดือนก่อนหน้า นับเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบครึ่งปีและลดลงรุนแรงสุดในรอบเกือบ 5 ปี แนวโน้มราคาน้ำมัน ตลาดน้ำมันดิบในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดความผันผวน ราคาน้ำมันดิบแกว่งตัวอย่างไร้ทิศทาง เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในลิเบียทำให้เกิดความไม่แน่นอนในการผลิตและส่งออกน้ำมันดิบของประเทศ (ล่าสุดเกิดการประท้วงขึ้นอีกระลอกทางตอนใต้ ด้วยการปิดท่อขนส่งน้ำมันดิบจากแหล่ง El Sharara (340,000 บาร์เรลต่อวัน) และจากแหล่ง El Wafa (30,000 บาร์เรลต่อวัน) ทำให้ยอดผลิตรวมทั้งประเทศลดลงมาอยู่ที่ 460,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดิม 567,000 บาร์เรลต่อวันในช่วงต้นสัปดาห์ที่แล้ว) ประกอบกับบรรยากาศการลงทุนเกิดความขัดแย้งทางความรู้สึกของนักลงทุนระหว่างความเชื่อมั่นกับความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลก เพราะนอกจากปรากฏการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายออกจากประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) แล้ว ทางด้านประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วก็ยังไม่มีภาพรวมของการฟื้นตัวที่เด่นชัดและมีเอกภาพเพียงพอ โดยเฉพาะยุโรปที่แม้ว่าเหมือนเริ่มฟื้นตัวได้ แต่พื้นฐานยังไม่แข็งแกร่ง เช่นเรื่องอัตราว่างงานที่สูงเป็นประวัติการณ์ผนวกรวมกับปัญหาเงินฝืดซึ่งต้องเร่งแก้ไข นอกจากนั้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดี กลับต้องมาเผชิญอุปสรรคจากสภาพอากาศอันหนาวเหน็บที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 56 จวบจนปัจจุบัน (และมีโอกาสสูงที่จะลากยาวไปถึงเดือน มี.ค. 57) ได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการใช้จ่ายภาคครัวเรือนรวมไปถึงภาคอุตสาหกรรมและการจ้างงานในประเทศ (อย่างเดียวที่ดี คือยอดขายอุปกรณ์ทำสวน ซึ่งในเดือน ม.ค. 57 เพิ่มขึ้น 1.4% จากเดือนก่อนหน้า โดยหลักจากเครื่องกำจัดหิมะนั่นเอง) อย่างไรก็ตาม หน่วยงาน/องค์กรชั้นนำในวงการน้ำมันโลก ทั้ง EIA ทั้ง OPEC และล่าสุดคือ IEA ได้ออกมาแสดงความเชื่อมั่นต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ว่าจะสามารถผลักดันให้อุปสงค์น้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มขยายตัวขึ้น (จากการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้า) ตามไปด้วย ขณะที่คงตัวเลขอัตราการเติบโตของอุปทานน้ำมันดิบจากกลุ่มประเทศ Non-OPEC ไว้เช่นเดิม ในส่วนของทางเทคนิค สัปดาห์นี้ กรอบความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบ ICE Brent, NYMEX WTI และ Dubai อยู่ที่ 105-110 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล, 98-101 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และ 104.55-106.15 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล ตามลำดับ สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีความต้องการจากประเทศเวียดนาม ปากีสถาน และศรีลังกา ขณะที่อินเดียส่งออก Gasoline ในเดือน ธ.ค. 56 ลดลง 7% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 360,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากมีความต้องการใช้ในประเทศเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามด้าน International Enterprise of Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 ก.พ. 57 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 433,000 บาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 12.99 ล้านบาร์เรล เป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 119.53-121.13 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้น ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงมีความต้องการจากทวีปแอฟริกาที่เข้าซื้อน้ำมันดีเซลจากตลาดเอเชีย อย่างไรก็ตามญี่ปุ่นมีความต้องการน้ำมันก๊าซ ที่ใช้สำหรับทำความอบอุ่นลดลง โดยเฉลี่ยช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นบริโภคน้ำมันก๊าซเฉลี่ย 265,000 บาร์เรลต่อวัน (ลดลง 310,000 บาร์เรลต่อวันจากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนหน้า) กอปรกับ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates ที่สิงคโปร์สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 ก.พ. 57 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 410,000 บาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 12.05 ล้านบาร์เรล เป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 122.53-124.13 เหรียญสหรัฐฯ/ บาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ