กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--PwC ประเทศไทย
บริษัท PwC ประเทศไทย (ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส) เผยผลสำรวจซีอีโอกลุ่มอุตสาหกรรมไอที-สื่อสาร-เทคโนโลยีทั่วโลกล่าสุด พบว่ามีผู้บริหารชั้นนำที่ทำการสำรวจมากถึงร้อยละ 90 ที่แสดงความมั่นใจมากต่อการเติบโตของรายได้ทางธุรกิจ (Revenue growth) ในระยะ 12 เดือนข้างหน้า หลังได้รับอานิสงส์จากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ-ยุโรปช่วยกระตุ้นกำลังซื้อและดีมานต์ผู้บริโภค แต่ความกังวลเรื่องของการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะ การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ค่าแรงเพิ่มสูงและภัยคุกคามข้อมูลสารสนเทศ หรือ ‘ไซเบอร์คราม’ จะยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของผู้ประกอบการในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า
นางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย) กล่าวถึงผลสำรวจ Fit for the future 17th Annual Global CEO Survey – Key findings in the technology industry ว่าความเชื่อมั่นในหมู่ซีอีโอกลุ่มอุตสาหกรรมไอที-สื่อสาร-เทคโนโลยีทั่วโลกเริ่มฟื้นคืนกลับมาในปีนี้ หลังเห็นสัญญาณบวกจากแรงผลักดันเศรษฐกิจโลกฝั่งตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกาและยุโรป เปรียบเทียบกับภาพรวมที่อ่อนแอในปีที่ผ่านมา
เมื่อมองภาพรวมในระยะ 3 ปีข้างหน้า ผลสำรวจยังระบุว่า มีซีอีโอถึงร้อยละ 91 ที่เชื่อมั่นว่ารายได้ทางธุรกิจของตนจะมีแนวโน้มเติบโตไปจนถึงปี2560 จากผู้ถูกสำรวจจำนวนทั้งสิ้น 117 รายใน 42 ประเทศ
“ต้องยอมรับว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมไอที-สื่อสาร-เทคโนโลยีในปีนี้ดูดีขึ้นมาก เราเห็นได้จากความมั่นใจของผู้บริหารและบรรดาซีอีโอที่มีต่อแนวโน้มผลประกอบการมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าการบริโภคในบางประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่จะมีการชะลอตัวอยู่บ้าง” นางสาว วิไลพร กล่าว
นางสาว วิไลพร กล่าวต่อว่าปัจจัยที่สนับสนุนการฟื้นตัวของตลาดพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯในช่วงที่ผ่านมา มีสาเหตุมาจากภาคการบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับสัญญาณบวกของการใช้จ่ายของภาคเอกชน ดีมานต์การซื้อบ้าน ตลาดหุ้นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งปริมาณการให้กู้ยืมจากธนาคารและระบบสถาบันการเงินที่มีมากขึ้น ในขณะเดียวกันที่การลดค่าใช้จ่ายของภาครัฐฯและนโยบายการเก็บภาษีที่ผ่อนคลายลงก็มีส่วนช่วยปรับสมดุลเศรษฐกิจในกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ให้กลับมามีทิศทางที่เป็นบวกมากขึ้น
ในส่วนของความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของสถานะทางเศรษฐกิจโลก (Global economy) ผลสำรวจยังระบุว่า มีซีอีโอถึงร้อยละ 93 ในปีนี้ที่มองว่าเศรษฐกิจโลกจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เปรียบเทียบกับปีก่อนที่ร้อยละ 74 และมีซีอีโอเพียงร้อยละ 7 เท่านั้นที่เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะมีการปรับตัวลดลง เปรียบเทียบกับปีก่อนที่ร้อยละ 23
“แต่ถึงแม้ว่าภาพรวมจะดูสดใสขึ้น เรายังคงมองว่าเทรนด์ของอุตฯในปีนี้จะยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากทั้งภายในและภายนอก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการขาดแคลนลูกจ้างพนักงานที่มีทักษะ ปัญหาการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ค่าแรงเพิ่มสูง รวมทั้งภัยมืดจากการจารกรรมข้อมูลองค์กรต่างๆ นอกเหนือไปจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่” นางสาว วิไลพร กล่าว
ถึงแม้ทิศทางการขยายตัวของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging economies) จะเผชิญกับความอ่อนแอในปีนี้ ประเทศที่ซีอีโอไอที-สื่อสาร-เทคโนโลยีทั่วโลกยังคงมองเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูง (High growth markets) นอกเหนือไปจากกลุ่มประเทศ BRIC (บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน) ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ได้แก่ แอฟริกาใต้, เม็กซิโก และอินโดนีเซีย
“ในส่วนของประเทศไทย แม้พายุเศรษฐกิจ-การเมือง และอัตราการชะลอตัวในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา จะทำให้ธุรกิจไอที-เทคโนโลยี-สื่อสารประสบกับความซบเซาอยู่บ้าง แต่เรายังเชื่อว่าการขยายตัวของสมาร์ทโฟนและแทบเล็ต รวมไปถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงจะยังทำให้ตลาดนี้เติบโตได้ในระยะยาว ในส่วนของภาคธุรกิจที่ต้องการลงทุนในระบบเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมใหม่ๆ อาจจะยังชะลอแผนไปก่อนในช่วงนี้” นางสาววิไลพร กล่าว
ทั้งนี้ ผลสำรวจ Fit for the future 17th Annual Global CEO Survey – Key findings in the technology industry ถูกจัดทำขึ้นระหว่าง เดือน กันยายน ถึง ธันวาคม 2556 โดยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้บริหารระดับสูง หรือ ซีอีโอในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทั่วโลกในหลากหลายทวีป ประกอบด้วยแอฟริกา เอเชีย ตะวันออกกลาง และออสเตรเลีย (39%), ยุโรป (33%), อเมริกา (27%) ครอบคลุม 5 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ ซอฟแวร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ, อิเล็กทรอนิกส์และจัดจำหน่าย, คอมพิวเตอร์และเครือข่าย, อินเตอร์เน็ต, ชิ้นส่วนและเซมิคอนดักเตอร์ ผ่านการทำแบบสอบถามออนไลน์ การสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์และแบบตัวต่อตัว ทั้งนี้ บริษัทที่ร่วมทำการสำรวจส่วนใหญ่ในปีนี้ (ร้อยละ 37) มีรายได้รวมอยู่ระหว่าง 101-999 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สำหรับกลยุทธ์ในการมองหาโอกาสและขยายธุรกิจใหม่ๆในตลาดเทคโนโลยีปี 2557 นางสาววิไลพรกล่าวว่า ซีอีโอไอที-สื่อสาร-เทคโนโลยีทั่วโลกเกือบครึ่ง (ร้อยละ 47) มุ่งเป้าไปที่การพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ (Product and service development) รองลงมาคือ การเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดที่ตนกำลังดำเนินธุรกิจอยู่ (Increased share in existing markets) ที่ร้อยละ 26 และร้อยละ 11 มองการขยายธุรกิจไปยังตลาดใหม่ๆ (New geographic markets) นอกจากนี้ผู้บริหารร้อยละ 7 มีแผนที่จะขยายกิจการผ่านการควบรวมฯ (Mergers & acquisitions) และหาธุรกิจร่วมทุนและพันธมิตรทางการค้า (New joint ventures and/or strategic alliances)
หากดูเฉพาะในส่วนของเทรนด์การทำ M&A ผลสำรวจยังระบุว่า ภูมิภาคที่ซีอีโอต่างมองว่าจะเป็นแหล่งเป้าหมายหลักของการควบรวมฯมากที่สุด 5 อันดับแรกในปีนี้ ได้แก่ อเมริกาเหนือ (ร้อยละ 31), ยุโรปตะวันตก (ร้อยละ 29), เอเชียใต้ (ร้อยละ 18), ละตินอเมริกา (ร้อยละ 12) และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ร้อยละ 10)
‘ภาวะขาดแคลนมนุษย์ไอที’
นางสาววิไลพรกล่าวว่า ในขณะที่กระแสของการนำกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ 4 ประเภท ได้แก่ Social, Mobility, Analytics และ Cloud Computing (SMAC) เข้ามามีบทบาทในการดำเนินธุรกิจและขับเคลื่อนองค์กรทั่วโลก ภาคธุรกิจไทยจำเป็นที่จะต้องปรับตัวและเสริมองค์ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคและการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่ช้า
ผลสำรวจ PwC ระบุว่า ซีอีโอมากถึงร้อยละ 90 ต่างมองว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี (Technological advances) จะเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจมากที่สุดในอีก 5 ปีข้างหน้า นำหน้าการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร (Demographic shifts) และการเปลี่ยนถ่ายขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ (Shift in global economic power) ทำให้ผู้บริหารฯ ต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทั้งในเรื่องของการหาบุคลากร, การลงทุนในเทคโนโลยี และการขยายฐานลูกค้า
นางสาว วิไลพรกล่าวว่า การขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะ (Limited availability of key skills) เป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดที่พบจากผลสำรวจ โดยซีอีโอในกลุ่มไอที-สื่อสาร-เทคโนโลยีถึงร้อยละ 68 เห็นตรงกันว่า การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะถือเป็นภัยคุกคามที่มีผลต่อการเติบโตทางธุรกิจ (Business threats to growth) มากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง นำหน้าปัญหาอื่นๆ เช่น ค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้นในตลาดที่มีการเติบโตสูง (ร้อยละ 62) การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา (ร้อยละ 57) และการขาดแคลนระบบรักษาความปลอดภัยข้อมูลองค์กรหรือไซเบอร์คราม (ร้อยละ 56)
“ปัญหาช่องว่างทักษะทางไอทีจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้นใน 5-10 ปีข้างหน้า ส่งผลต่อความสามารถด้านการแข่งขันทางเศรษฐกิจ หากไม่มีการลงทุนพัฒนาทักษะทางด้านไอทีอย่างจริงจัง” นางสาว วิไลพรกล่าว
ปัจจุบันความต้องการแรงงานไอทีมีสูงกว่าจำนวนที่สถาบันการศึกษาผลิตได้ เนื่องจากธุรกิจต่างๆกำลังขยายการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องโดยมีการเพิ่มและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานไอที อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงของนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมทั้งระบบสื่อสารแบบครบวงจรและการบริการด้านคลาวด์ จะช่วยผลักดันความสำคัญของเทคโนโลยีสำหรับองค์กรให้มีมากขึ้นในอนาคต
ผลสำรวจยังระบุว่า จำนวนอุปกรณ์สื่อสารและเครือข่าย (Networked device) ในโลกคาดจะเพิ่มเป็น 5 หมื่นล้านเครื่องในปี 2563 จากจำนวน 1.25 หมื่นล้านเครื่องในปี 2558 ในขณะที่ประชากรโลกจะเพิ่มเป็น 7.6 พันล้านคนในปีเดียวกัน จากคาดการณ์ที่ 7.2 พันล้านคนในปีหน้า
“นั่นหมายความว่า อุปกรณ์เครื่องมือสื่อสารจะมีมากกว่าจำนวนคนในโลกถึง 7 เท่าในปี63 เพราะฉะนั้นปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานทักษะจะไม่ใช่ปัญหาขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง หรือประเทศใดประเทศหนึ่งอีกต่อไป แต่กำลังพัฒนากลายเป็นปัญหาสำคัญในระดับโลก หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ สถาบันการศึกษา และ ภาคเอกชน” นางสาววิไลพร กล่าว
ปัญหาความต้องการแรงงานไอทียังส่งผลให้แนวโน้มการจ้างงานของซีอีโอที่ทำการสำรวจในปีนี้ปรับตัวสูงขึ้น โดยผู้บริหารกว่าร้อยละ 62 กล่าวว่าตนมีแผนที่จะจ้างพนักงานเพิ่มในปีนี้