กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--คอร์ แอนด์ พีค
ร.ร.สารสาสน์เอกตรา โรงเรียนเอกชนสองภาษาแห่งแรกของประเทศไทย เผย นำแนวคิดทฤษฎีพหุปัญญา (Multiple Intelligences: MI) ของศาสตราจารย์โฮเวิร์รด การ์ดเนอร์ มาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนในทุกระดับการศึกษา ตามนโยบายของผู้อำนวยการพิสุทธิ์ ยงค์กมล ที่ย้ำเสมอว่า การเรียนที่ให้เด็กเป็นศูนย์กลาง จะต้องสร้างและหาที่ยืนให้กับนักเรียนทุกคนในโรงเรียน ตามความสามารถและศักยภาพของแต่ละคน บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่านักเรียนทุกคนมีความสามารถทางปัญญาที่ต่างกัน เผยการจัดกิจกรรม Multiple Intelligences Academic Fun Fair 2014 มีเป้าหมายเพื่อยกระดับและเป็นเวทีการแสดงผลงานของนักเรียนในการค้นหาความสามารถทางปัญญาที่โดดเด่นของนักเรียนทุกคน
อาจารย์สุภาวดี โชติวรรณพร ผู้ช่วยผู้อำนวยการแผนกประถม โรงเรียนสารสาสน์เอกตรา เปิดเผยว่า การจัดกิจกรรม Multiple Intelligences Academic Fun Fair 2014 ขึ้นในโรงเรียน ในปีนี้ มีเป้าหมายเพื่อค้นหาความสามารถทางปัญญาหรือความถนัดที่เป็นจุดเด่นของนักเรียนแต่ละคน แล้วทางโรงเรียนส่งเสริมพัฒนาความสามารถทางปัญญาของเด็กให้เด่นชัดยิ่งขึ้น โดยแบ่งรูปแบบการพัฒนาเป็นบันได 4 ขั้น ประกอบด้วย ขั้นที่ 1 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 เน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้ปัญญาด้านต่างๆ ขั้นที่ 2 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ค้นหาความถนัดของตนเอง ขั้นที่ 3 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ส่งเสริมให้นักเรียนได้ค้นพบตนเอง และขั้นที่ 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ให้นักเรียนได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ
ดังนั้น กิจกรรม MI ของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จึงเป็นบันไดขั้นที่ 2 ที่นักเรียนจะได้ค้นหาความถนัดของตนเอง ตามทฤษฎีพหุปัญญา เช่นเด็กบางคน MI ด้านคณิตศาสตร์และตรรกะ อาจไม่ลึกซึ้งเท่ากับ MI ด้านอื่น เหมือนเพื่อนไม่ได้หมายความว่าเขาจะด้อยความสามารถและพัฒนาไม่ได้ มากไปกว่านั้นเขาอาจเก่งกว่าใครเรื่องอื่นๆ อาทิ ปัญญาและความถนัดด้านปฏิสัมพันธ์ต่อผู้อื่น ด้านปฏิสัมพันธ์ภายในตนเอง ด้านจินตนาการและการมองเห็น ด้านการเคลื่อนไหวทางร่างกาย ด้านถ้อยคำ-ภาษา ด้านธรรมชาติและแวดล้อม ด้านดนตรี เป็นต้น กิจกรรม MI จึงเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักเรียนทุกคนได้พัฒนาความถนัดและปลุกศักยภาพซ่อนเร้นของแต่ละคน เป็น value-added ให้กับเด็ก เด็กมีตัวตนและมีที่ยืนในโรงเรียน
ด้าน อาจารย์บุษรารัตน์ เกิดเพิ่มพูน รองผู้อำนวยการแผนกมัธยม โรงเรียนสารสาสน์เอกตรา กล่าวเสริมว่า นักเรียนที่จบมัธยม 6 ของที่นี่ ต้องมีที่ยืนของตัวเอง ไม่ใช่ว่าหาที่ยืนของตัวเองไม่ได้ เพราะ เมื่อไปอยู่ในสังคม เด็กจะมองไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง และการสร้างคนตามทฤษฎี MI จะเป็นการสอนแบบบูรณาการโดยโรงเรียนส่งเสริมกิจกรรมในสิ่งที่เด็กถนัด พรสวรรค์ซ่อนเร้นสมควรได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ อาทิ เมื่อเด็กเขารักในดนตรี เราจะมีเวทีให้เขาได้เล่นดนตรี หากเด็กคนไหน ชอบในการแสดง ดราม่า เราจะมีเวทีการแสดงให้เขา โดยการแสดงจะป็นภาษาอังกฤษล้วนๆ ไม่มีภาษาไทยเลย ซึ่งการส่งเสริมความถนัดให้เด็ก เด็กจะรู้สึกว่าไม่ถูกทอดทิ้ง รู้สึกรักและเห็นคุณค่าตัวเอง และเมื่อจบการศึกษาไปเขาจะรู้ว่าเขาถนัดในสิ่งไหน สามารถเรียนต่อในสาขาที่ตัวเองถนัด ไม่ต้องเสียเวลาค้นหาตัวเองอีก
“การที่สารสาสน์เอกตรา เป็นโรงเรียนสองภาษา จึงมีรูปแบบการสอนทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษในสัดส่วนต่างกันไปในแต่ละชั้น อาทิ ครูต่างชาติสอนเรื่องใดเป็นภาษาอังกฤษแล้วครูไทยจะทบทวนในเนื้อหาเดียวกัน เด็กได้ทักษะ 360 องศาเลย ดูเหมือนเสียเวลาแต่กลับตรงกันข้ามคือได้ทั้งคำศัพท์และกระบวนการวิธีการคิดแบบสากล สามารถคิดเป็น globalize แม้ต้องเรียนรู้ภาษาไทยด้วย จุดเด่นของนักเรียนเราคือสามารถเรียนและดำรงตนรอดในมหาวิทยาลัยได้ทุกระบบ นอกจากนี้ ที่โรงเรียนยังคงรักษาวัฒนธรรมดีๆเช่น การให้ความเคารพบิดามารดา ครู ผู้ใหญ่ เด็กไม่ควรยืนค้ำศรีษะครู เพราะเวลาคุณไปทำงานคุณจะไปยืนค้ำหัวประธานบริษัทไม่ได้ นี่คือวัฒนธรรมไทยที่เด็กต้องฝึก และเรียนรู้” อาจารย์บุษรารัตน์กล่าว
ด้าน อาจารย์ฐานวีร์ สิงห์สุรีย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการแผนกอนุบาล โรงเรียนสารสาสน์เอกตรา เปิดเผยว่า ทฤษฎีการสอนแบบ MI ไม่ได้เน้นเฉพาะเด็กประถม หรือมัธยมเท่านั้น แต่เริ่มปูพื้นฐานตั้งแต่อนุบาล หนึ่งในหลายกิจกรรม MIในแผนกอนุบาลจะมีกิจกรรมหนึ่ง คือ Cultural Day ที่เชิญผู้ปกครองมามีส่วนร่วมพร้อมๆ กับการจัดกิจกรรมสร้างMI ด้านต่างๆเช่นด้านภาษา การเรียนรู้วัฒนธรรมของแต่ละชาติ และการละเล่นพื้นบ้านจากประเทศต่างๆ อาทิ การละเล่นของเกาหลี จีน ไอร์แลนด์ และไทย เป็นต้น ซึ่งประโยชน์ที่เด็กเหล่านี้จะได้รับ นอกจากความสนุกสนาน การได้เรียนรู้ภาษาทักทายอย่างง่าย ๆ การได้รู้จักวัฒนธรรมของนานาชาติ และรับรู้คำศัพท์ที่หลากหลายแล้ว ยังทำให้เด็กมีความรัก ความสามัคคีระหว่างเพื่อนๆ ต่างชาติ ที่มาอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนด้วยกันอย่างมีความสุข