กรุงเทพฯ--20 ก.พ.--ฮิลล์ แอนด์ นอลตัน สแตรทิจีส์
แนะการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเอง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา ลดอัตราเสี่ยงพิการจากโรคแทรกซ้อนและลดภาระค่าใช้จ่ายในระยะยาวได้
บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งในบริษัทชั้นนำด้านเวชภัณฑ์ของโลก จัดงาน “ค้นพบระดับความหวานเฉพาะตัว เพื่อการรักษาเบาหวานแต่ละบุคคลอย่างตรงจุด”โดยมี ศาสตราจารย์นายแพทย์ชัชลิต รัตรสาร จากหน่วยต่อมไร้ท่อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นผู้บรรยายให้ข้อมูลสถานการณ์เบาหวานในประเทศไทย และการดูแลตนเองของผู้เป็นโรคเบาหวานที่ถูกวิธี เพื่อชี้ให้เห็นว่าสภาวะร่างกายและการใช้ชีวิตประจำวันที่ต่างกันของผู้เป็นเบาหวานแต่ละรายนั้นทำให้การรักษาแตกต่างกัน รวมถึงความสำคัญในการเลือกเครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดที่ให้ค่าแม่นยำ เพื่อช่วยให้แพทย์จ่ายยาและรักษาโรคได้อย่างเหมาะสม ลดอัตราเสี่ยงพิการจากโรคแทรกซ้อน และลดภาระค่าใช้จ่ายในระยะยาว
ศาสตราจารย์นายแพทย์ชัชลิต รัตรสาร จากหน่วยต่อมไร้ท่อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า “เบาหวานเป็นโรคของคนยุคใหม่ที่มีอุบัติการณ์เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีจากข้อมูลที่รวบรวมโดยสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation – IDF) ในปีพ.ศ. 2554 ประเทศไทยมีผู้เป็นโรคเบาหวาน4,014,000ราย และคาดการณ์ว่าจะสูงถึง 5,454,000 รายภายในปีพ.ศ.2573 โดยมีแนวโน้มจะเกิดกับประชากรที่มีอายุน้อยลงโดยกว่าร้อยละ 70 ของผู้เป็นโรคเบาหวานไม่สามารถคุมน้ำตาลในเลือดได้ เนื่องจากเบาหวานเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมและการใช้ชีวิต รวมถึงการรับประทานอาหาร หากรับประทานแป้งมากเกินควร เป็นเหตุให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้ แต่ถ้างดอาหารหรือรับประทานทานอาหารไม่ตรงเวลา รับประทานคาร์โบไฮเดรตไม่เพียงพอ ออกกำลังกายหักโหมเกินไป และดื่มแอลกอฮอล์จะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำได้”
นายศิริมิตร ส่งไพศาล หัวหน้ากลุ่มธุรกิจเบาหวานประเทศไทยและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) กล่าวเพิ่มเติมว่า “บุคคลทั่วไปกับผู้เป็นโรคเบาหวานจะมีระดับน้ำตาลที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ผู้เป็นโรคเบาหวานบางรายเข้าใจว่าน้ำตาลในเลือดมีระดับคงที่ จริงๆ แล้ว ค่าน้ำตาลในเลือดมีการเปลี่ยนแปลงตลอดทั้งวัน ทั้งก่อนและหลังประทานอาหาร การเลือกเครื่องวัดระดับน้ำตาลควรคำนึงถึงความแม่นยำของเครื่องมือที่ใช้มากที่สุดเพราะการให้ค่าที่ผิดพลาดจะส่งผลถึงการรักษาที่ไม่ถูกต้องปัจจุบัน การตรวจวัดน้ำตาลในเลือดนั้นง่ายกว่าเดิมมีเครื่องตรวจวัดแบบพกพา ขนาดกะทัดรัด และง่ายต่อการใช้งานจำหน่ายอยู่ทั่วไป เราจึงต้องเลือกเครื่องมือที่ได้รับการยอมรับในเรื่องความถูกต้อง แม่นยำ และผ่านการผลิตที่ได้มาตรฐานสากล อย่าง แอคคิว-เช็ค แอคทีฟของโรช เราผลิตและวิจัยค้นคว้าเทคโนโลยีตรวจวัดน้ำตาลมาตลอด 12 ปีที่ผ่านมาได้รับความไว้วางใจจากตลาดทั่วโลกด้วยISO 15197 ที่เน้นเรื่องความถูกต้องแม่นยำของค่าที่วัดได้โดยมีผู้ใช้มากกว่า 20 ล้านราย และมีจำหน่ายในกว่า 100 ประเทศ”
แม้เบาหวานไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ผู้เป็นโรคเบาหวานควรทำการตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองควบคู่ไปกับการเลือกรับประทานอาหาร การออกกำลังกายที่เหมาะสม และการใช้ยาหรืออินซูลินตามแผนการรักษาขณะที่ความถูกต้องและแม่นยำของเครื่องจะให้ข้อมูลที่ถูกต้องสะท้อนกับสภาวะจริง ซึ่งนำไปสู่การเรียนรู้และปรับพฤติกรรม เพื่อให้ควบคุมระดับน้ำตาลได้ตามเป้าหมาย
“การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดสำหรับเบาหวาน มี 2 ประเภท ประเภทแรกคือ ตรวจน้ำตาลสะสมเฉลี่ยในช่วง 1-3 เดือน (HbA1c) ที่ต้องตรวจในโรงพยาบาลเท่านั้น ให้ข้อมูลในแง่การควบคุมน้ำตาลในระยะยาวว่าผู้เป็นโรคเบาหวานสามารถคุมน้ำตาลได้ดีหรือไม่ พบว่าผู้เป็นโรคเบาหวานที่รักษาระดับน้ำตาลสะสมเฉลี่ยในช่วง 1-3 เดือน ให้ใกล้เคียง 7 % นั้น อัตราความเสี่ยงในการพัฒนาของโรคแทรกซ้อนจากเบาหวานลดลงและการตรวจประเภทที่สองคือ การตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเอง (Blood glucose self-monitoring)เพื่อวัดระดับน้ำตาลในเลือด ณ เวลาที่ตรวจ ซึ่งสามารถตรวจได้เองเป็นประจำ ทำให้ผู้เป็นโรคเบาหวานปรับการดูแลตนเองได้ทันทีและสามารถนำไปสู่การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ เราพบความเชื่อมโยงระหว่างการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดทั้ง 2 ประเภทด้วย ยิ่งตรวจวัดน้ำตาลในเลือดด้วยตัวเองเป็นประจำ ยิ่งช่วยให้ผู้เป็นโรคเบาหวานรักษาระดับน้ำตาลสะสมเฉลี่ยในช่วง 1-3 เดือน ให้ลดลงใกล้เคียง 7 % ได้ดียิ่งขึ้น เป็นผลให้ความพิการจากโรคแทรกซ้อนของเบาหวานและอัตราการตายน้อยกว่าผู้เป็นโรคเบาหวานที่ไม่ได้ตรวจการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองอย่างง่ายๆ ผู้เป็นโรคเบาหวานควรควบคุมให้ค่าน้ำตาลก่อนและหลังอาหารอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม”ศาสตราจารย์นายแพทย์ชัชลิต รัตรสาร กล่าวทิ้งท้าย
อย่างไรก็ตาม เบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่มีค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง ผู้เป็นโรคเบาหวานหนึ่งรายเสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่3,000 - 30,000 บาท ต่อปี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ยิ่งมีโรคแทรกซ้อนค่าใช้จ่ายยิ่งเพิ่มสูงขึ้น อาทิ โรคไตวายเรื้อรัง ผู้ป่วยจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 360,000 บาท ต่อปี แต่หากผู้เป็นโรคเบาหวานรู้จักดูแลตัวเองพร้อมกับใส่ใจตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำจะช่วยให้แพทย์จ่ายยาและรักษาโรคได้อย่างเหมาะสมเป็นการช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคแทรกซ้อนจึงลดภาระค่าใช้จ่ายได้ในระยะยาวทั้งยังช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและใช้ชีวิตอยู่กับเบาหวานอย่างมีความสุข
จากซ้ายไปขวา นายศิริมิตร ส่งไพศาล หัวหน้ากลุ่มธุรกิจเบาหวานประเทศไทยและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) ศาสตราจารย์นายแพทย์ชัชลิต รัตรสาร จากหน่วยต่อมไร้ท่อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และหนุ่ม-กรรชัย กำเนิดพลอย