กรุงเทพฯ--20 ก.พ.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตหุ้นกู้มีการค้ำประกันมูลค่า 1,000 ล้านบาทของ บริษัท บางกอกมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ลิส จำกัด ที่ระดับ “AA+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” ทั้งนี้ หุ้นกู้ดังกล่าวได้รับการค้ำประกันเต็มจำนวนโดยบริษัทแม่คือ Mitsubishi UFJ Lease and Finance Co., Ltd. (MUL) ในประเทศญี่ปุ่น โดย MUL ได้รับอันดับเครดิตในระดับ “A” จาก Standard & Poor’s และ “A3” จาก Moody’s Investors Service (Moody’s) ซึ่งอันดับเครดิตของหุ้นกู้ดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานความน่าเชื่อถือของผู้ค้ำประกันซึ่งค้ำประกันหุ้นกู้แบบไม่มีเงื่อนไขและไม่สามารถเพิกถอนได้ ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” ของหุ้นกู้มีการค้ำประกันของบริษัทบางกอกมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ลิส สะท้อนถึงคุณภาพเครดิตของผู้ค้ำประกันคือ MUL ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของ Mitsubishi UFJ Financial Group, Inc. (MUFG) ซึ่ง MUL ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ “A” แนวโน้ม “Stable” จาก Standard & Poor’s และ “A3” แนวโน้ม “Stable” จาก Moody’s
ภายใต้ข้อตกลงการค้ำประกันซึ่งบังคับใช้ภายใต้กฎหมายของประเทศญี่ปุ่น ผู้ค้ำประกันจะให้การค้ำประกันเต็มจำนวนแบบไม่มีเงื่อนไขและไม่สามารถเพิกถอนได้สำหรับหุ้นกู้ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตดังกล่าว โดยผู้ค้ำประกันพร้อมที่จะชำระหนี้ให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้ภายใต้ข้อตกลงการค้ำประกันในกรณีที่บริษัทบางกอกมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ลิส ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด นอกจากนี้ หากมีการควบรวมหรือการเข้าครอบงำกิจการของ MUL บริษัทใหม่ที่เกิดขึ้นหลังการควบรวมกิจการหรือบริษัทที่เข้าครอบงำกิจการของ MUL จะต้องรับข้อผูกพันในการค้ำประกันหุ้นกู้ดังกล่าวด้วย ในกรณีที่ MUL ไม่สามารถจ่ายชำระหนี้ตามกำหนดหลังจากได้รับหนังสือบอกกล่าวแล้ว ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้สามารถดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ค้ำประกัน ณ ศาลในประเทศญี่ปุ่นเพื่อฟ้องร้องเรียกเงินที่ผิดนัดชำระคืนได้ อนึ่ง ภาระการค้ำประกันนี้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขหรือเพิกถอนได้โดยปราศจากมติเอกฉันท์จากผู้ถือหุ้นกู้
อันดับเครดิตของ MUL ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหุ้นกู้ เกิดจากการมีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งในประเทศญี่ปุ่น โดย MUL มีจุดแข็ง 2 ประการ ได้แก่ 1) การเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของทั้ง MUFG และ Mitsubishi Corporation (MC) และ 2) ผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายซึ่งตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบถ้วน MUL เป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในอุตสาหกรรมลีสซิ่งของประเทศญี่ปุ่น บริษัทได้รับการสนับสนุนจากบริษัทในเครือของ MUFG และ MC ซึ่งช่วยให้บริษัทมีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
MUL ก่อตั้งในปี 2514 ในชื่อ Diamond Lease Co., Ltd. หลังจากควบรวมกิจการกับ UFJ Central Leasing Co., Ltd. ในเดือนเมษายน 2550 แล้วจึงเปลี่ยนชื่อมาเป็นชื่อในปัจจุบัน หลังการควบรวมกิจการ MUL กลายมาเป็นหนึ่งในบริษัทลีสซิ่งขนาดใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น MUL เน้นธุรกิจลีสซิ่ง การขายผ่อนชำระ (Installment Sale) และผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายเกี่ยวกับการเงิน MUL มีแหล่งรายได้ที่กระจายตัวโดยมาจากธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจลีสซิ่งแบบเช่าดำเนินงาน (Operating Lease) ธุรกิจซื้อขายเครื่องจักรมือสอง (Used Equipment Trade) ธุรกิจการบริหารจัดการสินทรัพย์โดยผ่านเว็บไซต์ (Asset Management Service หรือ e-Leasing direct) ธุรกิจให้เช่าดำเนินงานรถยนต์พร้อมบริการซ่อมบำรุง (Auto Lease) บริการสินเชื่อสำหรับกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ECO-related Service) บริการสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Finance) ธุรกิจให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate-related Lease หรือ Symphony) ธุรกิจสินเชื่อเกี่ยวกับโครงการของภาครัฐที่ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมลงทุน (Private Finance Initiative) และธุรกิจรับซื้อสินทรัพย์ลูกหนี้การค้า (Factoring) สำหรับงวดปีบัญชี 2556 (เมษายน 2555-มีนาคม 2556) MUL มีสินทรัพย์รวมเติบโตขึ้น 13.5% จากงวดเดียวกันของปีบัญชีก่อน ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2556 สินทรัพย์รวมของ MUL เติบโต 4.0% จากงวดสิ้นปีบัญชี 2556 MUL มีสินทรัพย์รวม 4.3 ล้านล้านเยน ซึ่งประกอบด้วยสินทรัพย์ให้เช่า 2.2 ล้านล้านเยน (50.7% ของสินทรัพย์รวม) เงินให้กู้ยืม 1.3 ล้านล้านเยน (30.0% ของสินทรัพย์รวม) สินทรัพย์จากสินเชื่อผ่อนชำระ 0.2 ล้านล้านเยน (5.1% ของสินทรัพย์รวม) และสินทรัพย์อื่น 0.6 ล้านล้านเยน (14.2% ของสินทรัพย์รวม) ตั้งแต่งวดปีบัญชี 2555 ปริมาณธุรกรรมใหม่ในประเทศญี่ปุ่นมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ปริมาณธุรกรรมใหม่ของ MUL ที่มีมากกว่าอุตสาหกรรมเป็นผลมาจากการที่บริษัทมีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่ง
การมีธุรกิจที่หลากหลายช่วยทำให้ MUL สามารถข้ามพ้นวิกฤติเศรษฐกิจปี 2551 มาได้ ทั้งนี้ ในงวดปีบัญชี 2552 ผลประกอบการของ MUL ปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่บริษัทยังคงมีกำไรอยู่ โดยมีกำไรสุทธิ 7.1 พันล้านเยน ลดลงจาก 30.2 พันล้านเยนในงวดปีบัญชี 2551 ผลประกอบการของ MUL ในงวดปีบัญชี 2552 ปรับลดลงค่อนข้างมากจากเงินสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญที่เพิ่มขึ้นหลังจากการด้อยค่าลงอย่างมากของสินทรัพย์ประเภทอสังหาริมทรัพย์ การลดลงของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์เป็นผลมาจากวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศญี่ปุ่น กำไรสุทธิของ MUL ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 20.7 พันล้านเยนในปีบัญชี 2553 เป็น 25.8 พันล้านเยนในปีบัญชี 2554 และ 34.6 พันล้านเยนในปีบัญชี 2555 สำหรับงวดปีบัญชี 2556 กำไรสุทธิอยู่ที่ 36 พันล้านเยน เพิ่มขึ้น 4.0% จากงวดเดียวกันของปีบัญชีก่อน สำหรับ 9 เดือนแรกของงวดปีบัญชี 2557(สิ้นสุดเดือนธันวาคม 2556) กำไรสุทธิอยู่ที่ 28.8 พันล้านเยน ลดลง 2.1% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันในปีก่อนเนื่องจากงวด 9 เดือนแรกของปีบัญชี 2556 มีกำไรพิเศษเพียงครั้งเดียวจากการขายเงินลงทุนเข้ามา
MUL มีการใช้แหล่งเงินกู้ระยะสั้นในสัดส่วนหนึ่งซึ่งไม่สอดคล้องกับระยะเวลาของสินทรัพย์ซึ่งทำให้บริษัทมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องระยะสั้นในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงดังกล่าวลดลงด้วยการบริหารจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset Liability Management) อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้ถือหุ้นที่เกี่ยวข้องคือ Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ Ltd. (BTMU)
MUL ได้กำหนดแผนธุรกิจระยะกลางซึ่งเรียกว่า “Vision 2013” โดยเป้าหมายหลักของแผนดำเนินงานคือการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ ทั้งนี้ บริษัทจะเน้นไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อม การให้บริการทางการเงินแก่ผู้ค้าขาย (Vendor Finance) และการซื้อและขายเครื่องมือเครื่องจักรที่ใช้แล้ว ความพยายามดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้ MUL กลายเป็นบริษัทที่ให้บริการทางการเงินที่ครบวงจรของเอเชีย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2556 สินทรัพย์ดำเนินงานของบริษัทที่เกี่ยวข้องที่อยู่ในต่างประเทศของ MUL มีรวมทั้งสิ้น 635 พันล้านเยน เพิ่มขึ้นถึง 136% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 สินทรัพย์ดำเนินงานของบริษัทที่เกี่ยวข้องที่อยู่ในต่างประเทศของ MUL มีรวมทั้งสิ้น 756 พันล้านเยน เพิ่มขึ้น 19% จากช่วงเดือนมีนาคม 2556 และคิดเป็น 20% ของสินทรัพย์ดำเนินงานทั้งหมดของ MUL เหตุผลที่ทำให้สินทรัพย์ดำเนินงานของ MUL เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงดังกล่าวนั้นเนื่องจากการซื้อกิจการเช่าซื้อในต่างประเทศหลายแห่งซึ่งสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ของบริษัท
จากแผนธุรกิจในปัจจุบันรวมทั้งแนวโน้มที่ดีในอุตสาหกรรมลีสซิ่งสำหรับเครื่องจักรและอุปกรณ์และการให้เช่าดำเนินงานรถยนต์ในประเทศไทย MUL ได้มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยผ่านบริษัทลูกของตนคือบริษัทบางกอกมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ลิส โดยบริษัทบางกอกมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ลิส เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจให้เช่าแบบลีสซิ่งสำหรับเครื่องจักรและอุปกรณ์ในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน บริษัทก่อตั้งในปี 2534 โดยความร่วมมือกับกลุ่มธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในประเทศไทย ปัจจุบันมีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ MUL ซึ่งถือหุ้น 44% ในขณะที่ธนาคารกรุงเทพและบริษัทที่เกี่ยวข้องถือหุ้นรวมกันในสัดส่วน 34%
บริษัทบางกอกมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ลิส ให้บริการใน 2 ธุรกิจหลัก คือ สินเชื่อลีสซิ่งสำหรับเครื่องจักรและอุปกรณ์ และการให้เช่าดำเนินงานรถยนต์พร้อมบริการซ่อมบำรุง โดยในปี 2555 บริษัทมีพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อ 9,960 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 5,322 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2554 หรือเพิ่มขึ้น 87% และ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 บริษัทมีพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อ 12,619 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 27% จากงวดเดียวกันของปีก่อน สินทรัพย์ดำเนินงานรวมของบริษัท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556 ประกอบด้วยเครื่องมือเครื่องจักร 83% ส่วนที่เหลือเป็นรถยนต์ MUL ได้แสดงความตั้งใจในการให้การสนับสนุนทั้งทางด้านธุรกิจและด้านการเงินแก่บริษัทบางกอกมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ลิส ซึ่งได้แก่การให้ความรู้ในด้านธุรกิจทั้งแนวปฏิบัติในการดำเนินงานและการบริหารความเสี่ยง รวมถึงการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ทั้งนี้ การให้การค้ำประกันหนี้ของบริษัทรวมทั้งหุ้นกู้ที่เสนอขายในครั้งนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการให้การสนับสนุนด้านการเงินที่บริษัทได้รับในฐานะเป็นบริษัทลูกของ MUL การสนับสนุนอย่างเต็มที่จากบริษัทแม่คาดว่าจะมีอย่างต่อเนื่องในอนาคตซึ่งสอดคล้องกับการให้ความสำคัญแก่กลุ่มธุรกิจต่างประเทศของ MUL โดยเฉพาะในทวีปเอเชีย
บริษัท บางกอก มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ลิส จำกัด (BMUL)
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
หุ้นกู้มีการค้ำประกันในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2559 AA+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable